SMEs จะไปต่ออย่างไร เมื่อเศรษฐกิจไทยโตช้าลง?

SMEs จะไปต่ออย่างไร เมื่อเศรษฐกิจไทยโตช้าลง?

ความท้าทาย SMEs ต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ชัดเจนกับสินค้าและบริการ นำเทคโนโลยีและข้อมูลเชิงลึกมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมและสามารถยืดหยุ่นได้ในทุกสถานการณ์ จะส่งผลดีต่อการดำเนินงานกิจการให้โตได้อย่างยั่งยืน

นับตั้งแต่ทั่วโลกฝ่าฟันวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ไปได้ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยก็ดูเหมือนจะเติบโตช้าลง สะท้อนได้จากตัวเลขเศรษฐกิจปี 2566 ที่ขยายตัวได้เพียง 1.9% ซึ่งต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตในระดับ 3-4% เหล่านี้มีส่วนทำให้โมเมนตัมที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจไทยแผ่วลงตามไปด้วย ทั้งนี้ แม้โครงสร้างธุรกิจไทยไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดย SMEs ยังคงเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจ ซึ่งมีมากถึง 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งหมด ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานครอบคลุม 12.8 ล้านคนทั่วประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า รายได้ของ SMEs รวมกันยังไม่ถึง 20% ของรายได้ของธุรกิจทั้งประเทศ ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงบริษัทข้ามชาติกลับครองความมั่งคั่งกว่า 80% ของทั้งประเทศ 

ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์ของ SMEs ไทยในปี 2567 ยังคงน่าเป็นห่วง จากกำลังซื้อประชาชนที่ชะลอตัวลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้าและปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ท่ามกลางอุปสรรคและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังชัดเจนและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญข้อจำกัดหลายด้านที่ยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ไม่ว่าจะเป็น

ประการแรก : SMEs เปราะบางสะสมมาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของธุรกิจอย่างรวดเร็ว อุปสรรคจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ของธุรกิจขนาดเล็ก อีกทั้งปรากฏการณ์ “กินรวบ” หรือ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ของผู้เล่นหลักในตลาดเพียงไม่กี่ราย ขณะเดียวกันยังมีแรงกระเพื่อมจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในประเทศ ทั้งนี้ ข้อมูลคุณภาพสินเชื่อ SMEs ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยสะท้อนให้เห็นปัญหาในหลายอุตสาหกรรม โดยคุณภาพสินเชื่อของ SMEs ย่ำแย่ลงตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยสัดส่วนหนี้เสียของ SMEs หรือ NPL Ratio สูงถึง 4-5% ของสินเชื่อ SMEs เมื่อเทียบกับ NPL Ratio ของธุรกิจขนาดใหญ่ 1-2% ขณะที่หนี้เสียของ SMEs ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่อุตสาหกรรมการผลิตและค้าปลีกค้าส่งมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันสูงถึง 1.47 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 60.3% ของหนี้เสีย SMEs ทั้งหมดในระบบธนาคารพาณิชย์ 

ประการที่สอง : SMEs เสียเปรียบตั้งแต่ก้าวแรกของการทำธุรกิจ เนื่องจากภาพรวมการดำเนินธุรกิจของ SMEs ยังขาดการวางแผนรูปแบบธุรกิจอย่างรอบคอบและรัดกุม รวมถึงขาดการจัดทำรายงานงบการเงินที่เป็นระบบและน่าเชื่อถือ ทำให้ 80% ของผู้ประกอบการ SMEs ที่เกิดใหม่ (Early Stage) ต้องปิดกิจการไปตั้งแต่ 3 ปีแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงินของ SMEs ค่อนข้างสูงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่ SMEs ไทยยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ จากสัดส่วนยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อ SMEs เมื่อเทียบกับสินเชื่อทั้งระบบของไทยค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน อีกทั้งยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อ SMEs ทั้งหมด (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 อยู่ที่ราว 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 23.1% ของสินเชื่อธุรกิจทั้งระบบ จากที่เคยมีสัดส่วนสูงถึง 41.2% ในปี 2558 ส่งผลให้ 1 ใน 3 ของแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs มักพึ่งพาแหล่งเงินทุนส่วนตัว การระดมทุนจากหุ้นส่วน รวมไปถึงสินเชื่อนอกระบบ 

ประการที่สาม : สายป่านของ SMEs ในการทำธุรกิจสั้น โดย SMEs ส่วนใหญ่มีฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ที่มีข้อจำกัดเป็นทุนเดิม ขณะที่ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ เงินทุนเพื่อหมุนเวียนเมื่อเทียบยอดขายของ SMEs ขนาดเล็ก (รายได้น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อปี) เมื่อเทียบกับ SMEs ขนาดกลางขึ้นไป (รายได้มากกว่า 30 ล้านบาทต่อปี) สูงกว่าเกือบ 2 เท่า ส่งผลให้ SMEs ขนาดเล็กมีกำไรจากการดำเนินงานค่อนข้างน้อย ความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจต่ำ สะท้อนจากข้อมูลงบการเงินของ SMEs ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลซึ่งบ่งชี้ว่าธุรกิจ SMEs ขนาดเล็กมีกำไรเฉลี่ยจากการดำเนินธุรกิจ (EBIT) เพียง 0.15% ของรายได้ ขณะที่กลุ่ม SMEs ขนาดกลางขึ้นไปมีกำไรเฉลี่ยจากการดำเนินธุรกิจ (EBIT) 3.1% ของรายได้ นอกจากนี้ ธุรกิจ SMEs ขนาดเล็กยังมีการเติบโตของรายได้ที่ค่อนข้างต่ำด้วยค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีที่ 2.8% เมื่อเทียบกับกลุ่ม SMEs ขนาดกลางขึ้นไปที่เติบโต 3.7% บนฐานของรายได้สุทธิที่สูงกว่า

โดยสรุปแล้ว ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่นับวันจะเติบโตช้าลง ขณะที่ความเปราะบางของธุรกิจ SMEs ยังคงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข ฉะนั้นแล้ว การเผชิญอยู่บนความไม่แน่นอนของกระแสธุรกิจที่มีมากขึ้น จึงเป็นความท้าทายที่ SMEs ต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ชัดเจนกับสินค้าและบริการ รวมถึงการนำเทคโนโลยีและข้อมูลเชิงลึกมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมและสามารถยืดหยุ่นได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินงานของกิจการให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีส่วนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กอย่างรอบด้าน ทั้งในรูปแบบของการเอื้อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนในการลงทุนต่ำ การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันระยะยาวในเชิงวิจัยและพัฒนามากขึ้น ตลอดจนการสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้ SMEs สามารถฝ่ากระแสธุรกิจที่ไม่หยุดนิ่งได้