ปรับพอร์ตรับดอกเบี้ยขาลง

หัวใจสำคัญของการลงทุนในครึ่งปีหลัง ยังคงเป็นการกระจายความเสี่ยง โดยสัดส่วนใหญ่ของเงินลงทุนหรือราว 50-70% แนะนำลงทุนในกองทุนผสมแบบ Risk-based

ผ่านครึ่งแรกของปี 2024 กันมาแล้ว ปีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ดีมากๆ สำหรับการลงทุนในหุ้น ตลาดหุ้นโลก (ดัชนี MSCI All Country World Index) ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 11% ในช่วง 6 เดือนแรก นำโดยตลาดหุ้นญี่ปุ่น หนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่า และนโยบายการเงินที่ยังผ่อนคลาย สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐ โดยเฉพาะดัชนี NASDAQ ก็สร้างสถิติทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้านตลาดหุ้นจีนที่เคยตกลงแรงในช่วงปี 2021-2023 ปีนี้ก็ให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ หนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สินทรัพย์ที่ราคายังไม่ขึ้นในปีนี้คือ กลุ่มตราสารหนี้ที่กดดันจากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะลดดอกเบี้ยช้า และน้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้เมื่อช่วงต้นปี 

ในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งตลาดหุ้น และตราสารหนี้มีโอกาสจะสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐ จะยังคงขยายตัวได้ต่อ แต่ในอัตราที่ชะลอลง หรือ Soft landing สังเกตจากตัวเลขในตลาดแรงงานล่าสุดที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นไปที่ 4.1% นอกจากนั้น ดัชนี ISM ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการเดือนมิถุนายนก็อยู่ในโซนหดตัว โดยภาคบริการอยู่ในระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ปี 2020 สะท้อนว่าภาคครัวเรือนลดค่าใช้จ่ายในสินค้าที่ไม่จำเป็นลง จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงประกอบกับเงินเฟ้อที่ทยอยปรับลดลง จึงเพิ่มโอกาสที่ FED จะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ ด้านยุโรปก็น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) เริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรกไปแล้วในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา และตลาดคาดว่าจะลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง 

อย่างก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังมีเหตุการณ์สำคัญที่ต้องจับตาคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จากการโต้วาที (Debate) ครั้งแรก ผลสำรวจหลายสำนักพบว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับคะแนนนิยมนำ นายโจ ไบเดน ทำให้มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์จะชนะ และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ทั้งนโยบายในประเทศ ซึ่งรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา การเคลื่อนย้ายแรงงาน และที่ตลาดให้ความสำคัญ คือ นโยบายด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศจีน ที่คาดว่าจะมีการเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้า และอาจออกข้อบังคับเข้มงวดขึ้นเพื่อกีดกันการค้าจากจีน

ด้วยเศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลง และดอกเบี้ยมีทิศทางปรับลง จึงแนะนำลงทุนในหุ้นสหรัฐ โดยเน้นไปที่หุ้นเติบโตสูง (Growth stocks) โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีที่ทั้งรายได้ และกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากกระแสปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) ที่มาแรงในปีนี้ แต่ด้วยระดับราคา (Valuation) ที่ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต จึงแนะนำกระจายลงทุนนอกสหรัฐ ด้วย เช่น หุ้นยุโรป โดยเน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากดอกเบี้ยที่ปรับลดลง รวมถึงหุ้นเอเชียที่ภาพรวมเศรษฐกิจแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่ภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะหุ้นเวียดนามที่ปัจจัยพื้นฐานโดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทั้งในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ กำไรบริษัทจดทะเบียน และระดับ Valuation ยังถูกกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต

อีกหนึ่งสินทรัพย์อย่างตราสารหนี้ก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในครึ่งปีหลัง หลังจากปรับตัวลงในครึ่งปีแรก โดยจะได้ทั้งผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และมีโอกาสได้ผลตอบแทนจากราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น หนุนจากการลดดอกเบี้ยของ FED ที่จะชัดเจนมากขึ้น โดยนักวิเคราะห์คาดว่าจะลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนกันยายน นี้ (อ้างอิงจาก FED Fund Futures) 

แม้ว่าภาวะโดยรวมจะเอื้อต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง แต่ก็ยังคงมีความไม่แน่นอนทางการเมือง และประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจปะทุขึ้นมาอีกได้ ดังนั้นหัวใจสำคัญของการลงทุนในครึ่งปีหลังยังคงเป็นการกระจายความเสี่ยง โดยสัดส่วนใหญ่ของเงินลงทุนหรือราว 50-70% แนะนำลงทุนในกองทุนผสมแบบ Risk-based ที่แบ่งลงทุนทั้งในหุ้น ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ และค่าความผันผวน (VIX Index) โดยมีผู้จัดการกองทุนคอยจัดสรรเงินลงทุนโดยพิจารณาจากความเสี่ยงของแต่ละสินทรัพย์ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้าน เพื่อที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นได้เมื่อตลาดเป็นขาขึ้น และที่สำคัญคือ สามารถลดผลขาดทุนได้เมื่อตลาดเป็นขาลงอีกด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์