หุ้นเริ่มฟื้นตัว ... มองเอเชียยังปลอดภัย
ขอเปิดเรื่องด้วยเรื่องระดับโลกก่อน โดยในช่วงต้นเดือนพ.ย.ได้มีการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ผลการประชุมออกมาตามคาดการณ์ คือ ยังคงเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบเต็มเหนี่ยวเหมือนเดิม คือ ปรับเพิ่ม 0.75%
แต่ก็ถือว่าเป็นไปตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ โดยมาอยู่ที่ระดับ 3.75-4.00% ส่วนเรื่องระดับประเทศก็คือ ผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯนั้นสุดท้ายไม่พลิกโผ โดยเป็นทางฝั่งพรรครีพับลิกันที่จะกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาล่างได้อีกครั้ง อันนี้ก็ถือได้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์อยู่แล้ว ดังนั้นผลกระทบต่อภาพการลงเลยยังไม่ค่อยมีมากนัก
ในด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ผมมองว่าเริ่มมีนัยสำคัญ จะเห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อในประเทศต่างๆทั่วโลก ที่ประกาศออกมาในเดือนนี้ ค่อนข้างจะไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีสัญญาณการชะลอตัว พิจารณาได้จาก ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ที่ไม่รวมพวกอาหารและพลังงาน(Core CPI) สำหรับตัวเลขของไทย เดือนต.ค.ขยายตัวเพียงเล็กน้อย 0.05% เทียบกับเดือนที่แล้ว ถือเป็นการขยายตัวน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.ของปีที่ผ่านมา
และรายงานตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือนต.ค. ก็ออกมาขยายตัวน้อยกว่าที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝั่ง Headline หรือ Core CPI ทั้งในแง่ของปีที่ผ่านมา หรือ เดือนที่ผ่านมา จากตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง ทำให้การออกมาแสดงความเห็นของกรรมการ Fed ส่วนใหญ่ต่างก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า Fed สามารถที่จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ โดยน่าจะเริ่มได้ตั้งแต่การประชุมในเดือนธันวาคมนี้ ถือได้ว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกฟื้นตัวขึ้นดูได้จากตลาดหุ้นทั่วโลกที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นมาได้
มาที่เดือนธ.ค. ปัจจัยหลักๆ ก็คงเป็นเรื่องของ Fed rate และ นโยบายกระตุ้นการลงทุนของไทย แต่ยังไงก็ตามภาวะการลงทุนก็น่าจะยังคงแกว่งตัวไปมา ถึงแม้ว่าจะมีข่าวดีจาก Fed ที่อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับครั้งก่อน แต่ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของยุโรป สำหรับประเทศไทยเองภาพการลงทุนอาจจะได้แรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นการบริโภคของภาค รัฐบาล ซึ่งน่าจะออกมาในช่วงต้น หรือกลางเดือน ธันวาคม ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยบวกระยะสั้นสำหรับประเทศไทย
จากภาพการลงทุนทั้งหมดจะพบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะเริ่มเข้าสู่จุดสูงสุดแต่อาจจะยังไม่คลายตัวลง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศจะยังคงเดินหน้าต่อไป แต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง ความกังวลเรื่องการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในมุมมองที่จะค่อยๆชะลอตัวลงมากกว่าปรับตัวลงอย่างรุนแรง สำหรับภูมิภาคที่ดูว่าจะปลอดภัยคือ เอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง
ทั้งนี้ ผมมองว่า ปัจจัยเรื่องการท่องเที่ยวจะเป็นตัวช่วยการผ่อนคลายนโยบาย Zero Covid ของจีน เพราะเหมือนการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริโภคโดยเอเชียจะได้รับประโยชน์โดยตรง ดังนั้น การปรับพอร์ตการลงทุนในรอบนี้ อาจจะมีการปรับน้ำหนักเล็กน้อย คือ เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยจากประมาณ 20% เป็น 25% และ จีน จาก 10% เป็น 12% สหรัฐฯ และ ญี่ปุ่น รวมกันไม่เกิน 18% อีก 25% เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น REIT ทอง และน้ำมัน รวมกันประมาณ 15%
ส่วน อีก 5% ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศที่มี การจัดระดับความน่าเชื่อถือในระดับ “A” เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง เพิ่มเติมสำหรับผู้ที่รัก ชอบ ในหุ้นไทย กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศจะได้รับประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล ในขณะที่กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน และกลุ่มโรงพยาบาลถือว่าเป็นกลุ่ม ปลอดภัย
อย่างไรก็ตามที่ต้องเน้นมาก คือการบริโภคภายในประเทศนั้นไม่ใช่เพราะมีนโยบายกระตุ้นการบริโภคเพียงอย่างเดียว แต่มาจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดการว่าจบปีนี้ ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะสูงถึง 10 ล้านคน และมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน ในปี 2566