ย้อนดูตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงความไม่แน่นอนทางการเมืองและสงครามในตะวันออกกลาง
ปัญหาความข้ดแย้งทางการเมืองจนนำซึ่งการใช้ความรุนแรงนั้นย่อมไม่ส่งผลดีต่อฝ่ายใด และหลายครั้งมักจะส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อฝ่ายอื่นๆ ที่อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับข้อขัดแย้งดังกล่าวโดยตรงด้วย
โดยล่าสุดปัญหาในฉนวนกาซาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและเริ่มมีการใช้กำลังทางบกเข้าโจมตี ทำให้หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ดูเหมือนว่าไม่น่าจะจบลงง่ายๆ ในขณะที่ดูเหมือนว่าการเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงินนั้นยังจำกัดและไม่ได้สะท้อนความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นและโอกาสที่สงครามจะบานปลายมากนัก
โดยการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์หลักๆ นับจากวันที่ 7 ต.ค. 65 ที่กลุ่มฮามาสเริ่มโจมตีอิสราเอล เป็นต้นมา ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลง 3.7% (MSCI World Index ข้อมูล ณ วันที่ 30 ต.ค. 65) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าการปรับตัวลดลง ไม่ได้เกิดจากสงครามเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ เข้ามามีส่วนด้วย ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (West Texas Intermediate) เพิ่มขึ้น 3.3% ซึ่งเป็นขนาดของการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในเกณฑ์ปรกติ และอาจพิจารณาได้ว่าสะท้อนผลกระทบของสงครามที่คาดว่าจะจำกัด ในขณะที่สินทรัพย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น 9.5%
ในกรณีที่เกิดสงครามผลกระทบต่อตลาดการเงินนั้นจะมีทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนและเอกชนต่างๆ อันส่งผลโดยตรงต่อการบริโภคและการลงทุน รวมถึงผลกระทบทางอ้อมเช่นเรื่องของมาตรการคว่ำบาตร การกีดกันทางการค้า และเรื่องของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งในแต่ละครั้งก็จำเป็นจะต้องพิจารณาบริบทต่างๆ ประกอบด้วย โดยวันนี้ลองหันกลับมาพิจารณาผลกระทบย้อนหลังต่อตลาดหุ้น โดยเฉพาะดัชนี S&P500 ซึ่งเป็นดัชนีที่มีผลกระทบต่อตลาดทั่วโลก
หลังจากเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งต่างๆ ในตะวันออกกลางช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อเป็นตัวสะท้อนการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี (1) เหตุการณ์สหรัฐฯ บุกอิรักในปี 2003 โดยสหรัฐฯ เป็นแกนนำประเทศพันธมิตร เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และโปแลนด์ ยกทัพเข้ารุกรานอิรักเพื่อโค่นรัฐบาลเผด็จการ และสามารถปิดฉากได้ในเวลาไม่นาน โดยในช่วง 1 ปีหลังจากนั้นดัชนี S&P500 ปรับตัวสูงขึ้น 34.9% ส่วนหนึ่งอาจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากภาวะฟองสบู่ Dot.com
2) เหตุการณ์ 911 ในเดือน ก.ย. 2001 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นและน่าจะเป็นครั้งที่ดูเหมือนจะรุนแรงมากที่สุด โดยดัชนีปรับลดลง 20.4% แต่ก็เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ด้วย จากความกังวลดังกล่าว (3) สงครามอ่าวเปอร์เซีย (Persian Gulf War) ครั้งที่ 1 ปี 1991 ที่เกิดจากพันธมิตรทั้ง 37 ชาติภายใต้การนำของสหรัฐฯ ที่เข้าบุกอิรัก หลังจากอิรักเปิดฉากโจมตีคูเวต และการต่อสู้ยืดเยื้อยาวนาน โดนในช่วงเวลา 1 ปีหลังจากสงครามเริ่มต้นขึ้น ตลาดหุ้นปรับสูงขึ้น 22.6% หรือแม้แต่ในช่วงที่อิรักโจมตีคูเวตในช่วงปี 1990 ตลาดหุ้นก็ปรับตัวสูงขึ้น 26.9%
สุดท้ายหากจะเทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบัน (4) จะพิจารณาของกรณีอิสราเอล อียิปต์ ปาเลสไตน์ และซีเรียโดยตรงก็ต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 1967 กับสงคราม 6 วัน (Six-Day War) ที่อิสราเอลเปิดฉากโจมตีอียิปต์ หรือการตอบโต้ของอียิปต์ในปี 1973 กับ Yom Kippur War โดยดัชนี S&P500 ปรับสูงขึ้น 12.9% และ ลดลง 28.8% ตามลำดับ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสงครามกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้นอาจจะสามารถเป็นไปได้ทั้งสองทาง ซึ่งคงต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบทบาทของสหรัฐฯ ในสงครามครั้งต่างๆ แนวโน้มเศรษฐกิจอันเกิดจากสงคราม เป็นต้น
รูปแบบและผลลัพธ์ต่อตลาดหุ้นสะท้อนจากข้อมูลในอดีตอาจจะไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด โดยอาจต้องทำความเข้าใจเนื่องจากประเด็นเรื่องของสงครามอาจจะเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน ควบคู่ไปกับปัจจัยอื่นๆ ด้านเศรษฐกิจ นโยบายการเงินและการคลัง แต่ก็มีหลายครั้งที่ปัญหาเรื่องของข้อขัดแย้งและความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์มีผลกระทบต่อตลาดอย่างรุนแรงเช่นกัน ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาเป็นครั้งๆ ไป สำหรับครั้งนี้ในเบื้องต้น นักวิเคราะห์ของ Bloomberg ประเมินว่าผลกระทบต่อตลาดเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกจะแบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่
(1) สงครามแบบจำกัด (Confined War) ได้แก่ ในกรณีที่อิสราเอลใช้กำลังทางทหารบุกเข้าไปในฉนวนกาซา และไม่มีข้อขัดแย้งอื่นๆ ตามแนวชายแดนเพิ่มเติม รวมถึงระหว่างประเทศพันธมิตรอื่นๆ โดยอาจส่งผลกระทบให้อิหร่านแสดงท่าทีด้วยการลดกำลังการผลิตน้ำมันลงบ้าง แต่เนื่องจากมีปริมาณไม่มากอาจทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลง 0.1% และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.1% ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีผลกระทบต่อทั้งทิศทางการขยายตัวและเงินเฟ้อไม่มากนัก
(2) สงครามตัวแทน (Proxy War) คือ กรณีทีการปะทะกันรุกล้ำเข้าไปในเวสต์แบงก์ (West Bank) และมีการต่อสู้กันระหว่างอิสราเอล ปาเลสไตน์ รวมถึงซีเรียด้วย ทำให้เกิดความไม่สงบในตะวันออกกลาง และข้อขัดแย้งกับกลุ่มประเทศตะวันตกรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ ยังคงท่าทีสนับสนุนอิสราเอล โดยในกรณีนี้เศรษฐกิจโลกอาจลดลง 0.3% และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.2%
และ (3) สงครามลุกลาม (Direct War) คือ กรณีที่อิหร่านเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อสงครามมากขึ้น และทำให้ความไม่สงบทวีความรุนแรงมากขึ้นในตะวันออกกลาง และปัญหาข้อขัดแย้งยาวนานต่อเนื่อง โดยในกรณีที่เศรษฐกิจโลกอาจหดตัวมากขึ้น 1.0% และเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น 1.2% ซึ่งเป็นระดับที่มีนัยสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF ประมาณไว้ในเดือนที่แล้วว่าปี 2024 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 1.4% และเงินเฟ้ออยู่ที่ 5.8% โดยเราคงต้องคอยจับตาดูสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินผลกระทบต่อไปครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด