โลกว้าวุ่น รัฐช่วยบรรเทา (ได้หรือไม่)
ความเสี่ยงต่าง ๆ ทำให้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2024 ลง โดยเราแบ่งภาพเศรษฐกิจเป็น 2 สถานการณ์ ขึ้นอยู่กับมาตรการ digital wallet เป็นหลักหากผ่าน เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.7% (ชะลอลงจากที่เคยคาด 4.1%) แต่หากไม่ผ่าน เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.8% (ชะลอลงจากที่เคยคาด 3.2%) ขณะธปท. อาจสามารถปรับลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง
เศรษฐกิจการลงทุนในช่วงต้นปี 2024 ดูเหมือนจะมีทิศทางที่ยังคล้ายกับในช่วงปี 2023 ในปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นที่เติบโตดีได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรป รวมถึงอินเดีย ที่ขยายตัวในระดับ 3-17% นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขณะที่ตลาดในประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น ไทย ฮ่องกง และจีน ทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อย ภาพเหล่านี้สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่ออกมา โดยเฉพาะดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น หรืออังกฤษ ที่ยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญบางตัว เช่น GDP ยอดค้าปลีก รวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลงในบางประเทศ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ลดลงหลังจากธนาคารกลางต่าง ๆ ต่างขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ
อย่างไรก็ตาม ด้วยตัวเลขเงินเฟ้อ (โดยเฉพาะในสหรัฐ) ที่ลดลงช้ากว่าที่หลายฝ่ายคาด ทำให้สัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) คือไม่รีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อสหรัฐในภาพใหญ่ยังอยู่ในทิศทางชะลอตัวลง โดยตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภคเดือน ม.ค. ที่ขยายตัว 3.1% ต่อปี สูงกว่าตลาดคาดที่ 2.9% ต่อปี แต่ก็เป็นทิศทางที่ชะลอลง โดยหากพิจารณาองค์ประกอบเงินเฟ้อ (Contribution to inflation) พบว่าองค์ประกอบหลักอย่าง (1) อาหารและการขนส่ง และ (2) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้าน ลดลงต่อเนื่อง มีเพียง (3) ค่าจ้างที่ปรับขึ้นบ้าง เนื่องจากตลาดแรงงานยังคงร้อนแรง แต่ในระยะต่อไปตัวเลขค่าจ้างมีสัญญาณลดลงหลังจากอำนาจการต่อรองของนายจ้างที่มีมากขึ้น เราจึงมองว่าตลาด Over-react เกินไปกับตัวเลขดังกล่าว
นอกจากนั้น ความเสี่ยงอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์มีมากขึ้น โดยราคาของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ในเมืองใหญ่ ๆ ในสหรัฐ เช่น นิวยอร์ค ซานฟรานซิสโก และ ซีแอทเทิล หรือแม้แต่ในยุโรป ลดลงในระดับ 40-60% ซึ่งภาพดังกล่าวเริ่มกระทบต่อภาคธนาคาร โดยล่าสุด ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐ 6 แห่ง มีสัดส่วนเงินกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญสำหรับสินเชื่อภาคอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ (CRE)ไม่เพียงพอแล้ว โดยมีเพียง 90 เซนต์ ต่อหนี้เสีย 1 ดอลลาร์ เนื่องจากลูกหนี้ CRE ขาดส่งมากขึ้น
ด้านเศรษฐกิจจีน ที่ยังชะลอตัวและเผชิญกับ 3 วิกฤต อันได้แก่ วิกฤตอสังหาฯ วิกฤตเงินฝืด และวิกฤตการว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาว ทำให้ตลาดกังวลและมีการเทขายหุ้นจีนอย่างต่อเนื่องในช่วงแรกของปี ส่งผลให้ทางการจีนทำมาตรการต่าง ๆ เพื่อพยุงตลาดหุ้น เช่น การปรับลดอัตราการกันสำรองธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio: RRR) การปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย 5 ปี (LPR) รวมถึงการอัดฉีดสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ผ่านมาตรการ white list จำนวน 1.236 แสนล้านหยวน (หรือ 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)
เราวิเคราะห์ว่า มาตรการต่าง ๆ เป็นการแก้ปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม วิกฤตด้านอสังหาฯ จีนยังคงท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้าง 3 ประการ คือ (1) กำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง (2) จำนวนที่อยู่อาศัยที่มีมากกว่าความต้องการโดยเฉพาะเมืองอันดับสองและสาม (Tier 2-3) และ (3) ระบบสำมะโนประชากรจีน (hukou) ที่จำกัดการย้ายถิ่นฐานของประชากรผ่านระบบสวัสดิการรัฐ ซึ่งจำกัดความต้องการที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ (Tier 1) ซึ่งหากปัญหาทั้ง 3 ไม่ได้รับการแก้ไข ก็ยากที่ภาคอสังหาฯ จีนจะฟื้นตัวอย่างถาวรได้
ในส่วนของเศรษฐกิจไทยใน ไตรมาส 4 ขยายตัวต่ำกว่าตลาดคาด (ที่ 2.5% ต่อปี) มาก โดยขยายตัวที่ 1.7% ใกล้เคียงกับที่เราคาดที่ 1.8% (ทำให้ทั้งปี 2023 ขยายตัว 1.9%) โดยภาคที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการผลักดันเศรษฐกิจ ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว แต่ภาคที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจมาจากภาครัฐเป็นหลัก ทั้งการบริโภคและลงทุน ที่เป็นส่วนทำให้เศรษฐกิจหดตัวถึงกว่า -1.4% (Contribution to GDP growth) ขณะที่ภาคการผลิตสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคการก่อสร้างหดตัวลงต่อเนื่อง บ่งชี้ถึงภาวะวิกฤตภาคการผลิตที่ลากยาว
ด้วยความเสี่ยงต่าง ๆ ทำให้เราปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2024 ลง โดยเราแบ่งภาพเศรษฐกิจเป็น 2 สถานการณ์ ขึ้นอยู่กับมาตรการ digital wallet เป็นหลัก โดยหากมาตรการผ่าน เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.7% (ชะลอลงจากที่เคยคาดไว้ที่ 4.1%) แต่หากมาตรการไม่ผ่าน เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.8% (ชะลอลงจากที่เคยคาดไว้ที่ 3.2%) ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจสามารถปรับลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ที่ปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า และส่วนหนึ่งเป็นผลจากความผิดปกติในการซื้อขายนั้น ทางคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นชอบมาตรการยกระดับความเชื่อมั่นเรื่อง short selling และ program trading รวมถึงมาตรการเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน โดยมีรายละเอียด เช่น (1) มาตรการกำกับดูแลการขายช็อต โดยทบทวนคุณสมบัติของหลักทรัพย์ที่สามารถขายช็อตได้ และเพิ่มขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดขั้นต่ำ (2) มาตรการการกำกับดูแล program trading เพื่อป้องกันราคาผันผวนผิดปกติ โดยเฉพาะที่เกิดจาก High frequency trading และ (3) การปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงกรณีการถือในรูปแบบ NVDR ด้วย ซึ่งมาตรการทั้งหมด น่าจะยกระดับความเชื่อมั่นผู้ลงทุนจากการซื้อขายหุ้นที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าไม่ปกติในช่วงที่ผ่านมาได้ในระดับหนึ่ง
ในส่วนกลยุทธการลงทุน เนื่องจากตลาดเงินตลาดทุนยังคงผันผวน เราจึงคงเน้น “Selective Buy” ใน 2 ธีมหลัก ดังนี้ 1) หุ้นที่คาดได้อานิสงส์บวกจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาในไทยฟื้นตัว ได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่ราคาหุ้นยังไม่ตอบสนองมากนัก เลือก AOT MINT และ 2) นักลงทุนระยะยาวแนะนำลงทุนสะสมแบบ DCA โดยเลือก BBL BDMS BEM CPALL PTT และ SCC
ขอให้นักลงทุนโชคดี
- รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก : https://linktr.ee/InnovestX
- เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน
โหลดเลย คลิก https://innovestx.onelink.me/23if/ek1n76zm
- ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก : https://bit.ly/respublisher
#InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ
*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้