ปัจจัยบวกเริ่มเข้ามา ถึงเวลาของตลาดหุ้นไทยหรือยัง?
ตลาดหุ้นไทย ปัจจุบัน น่าจะสามารถปรับตัวขึ้นได้อีก โดยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเติบโตได้สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว การช่วยเหลือจากภาครัฐ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงความคาดหวังต่อการกลับเข้ามาของกองทุน LTF ที่จะทำให้เม็ดเงินไหลกลับเข้ามาตลาดหุ้นไทยได้ไม่มากก็น้อย
ในช่วงนี้ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นไทยจะเริ่มมีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุนบ้าง หลังผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1 ออกมาดูดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เห็นได้ถึงความคาดหวังต่อการปรับตัวขึ้นของหุ้นไทย นอกจากนี้ ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่เพิ่งประกาศออกมาก็ถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เช่นกัน รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อเองที่แม้จะเป็นบวก แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ และยังมีความคาดหวังต่อการกลับมาของกองทุน LTF ซึ่งจะช่วยสนับสนุนปริมาณการซื้อขายของหุ้นไทยได้ระดับหนึ่ง จากสัญญาณบวกดังกล่าว น่าจะช่วยสนับสนุนให้ SET Index สามารถยืนที่ระดับสูงขึ้นได้
ในด้านของตัวเลข GDP ของไทยที่ออกมาดีกว่าที่คาด โดยในไตรมาสนี้ GDP ไทยเติบโต 1.5% จากที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเติบโตราว 0.7-0.8% ปัจจัยบวกสนับสนุนมาจากการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการท่องเที่ยว ในขณะที่การบริโภคภาครัฐยังคงหดตัว เนื่องจากการเบิกจ่ายที่ล่าช้า อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นว่า GDP มีการเติบโตมากกว่าที่คาด แต่หากพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะเห็นว่า ปริมาณการส่งออกยังคงฟื้นตัวได้ต่ำกว่าคาด และการลงทุนภาครัฐที่ยังคงหดตัว ทำให้การคาดการณ์แนวโน้ม GDP ไทยในไตรมาส 2 ยังถูกปรับลดการคาดการณ์เหลือเพียงกรอบ 2.0-3.0% จากกรอบเดิมที่เคยให้ไว้ 2.2-3.2% แต่การปรับเป้าหมายดังกล่าวก็เพื่อสะท้อนความเสี่ยงจากภายนอกประเทศที่อาจมีผลทำให้ GDP ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ในด้านตัวเลขเงินเฟ้อของไทยล่าสุด สำหรับเดือนเมษายน ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยก็สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในรอบ 7 เดือน แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของเดือนพฤษภาคมอาจมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ทั้งสินค้าพืชผลทางการเกษตร ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาน้ำมันดิบที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงการปรับลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทอ่อนค่า ที่ยังทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น แต่ก็น่าจะยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1 - 3% อยู่ดี
ดังนั้น มุมมองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็น่าจะยังคงเหมือนเดิมคือคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.5% ไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้จากแนวโน้ม GDP ที่แม้จะยังเติบโตได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก แต่ก็ยังไม่ถึงภาวะที่เศรษฐกิจจะหดตัว สิ่งที่ ธปท. เป็นกังวล น่าจะให้ความสำคัญกับการควบคุมระดับของเงินเฟ้อ และปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศอย่างปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมากกว่า
มองต่อเนื่องมายังตลาดหุ้นไทยในสภาวะที่ GDP โตต่ำ และอัตราดอกเบี้ยที่ไม่มีการปรับลดลง ถามว่าสำหรับตลาดหุ้นไทยแล้วแนวโน้มควรเป็นอย่างไร ส่วนตัวมองว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ระดับอัตราดอกเบี้ย 2.5% ยังพอมีช่องว่างให้ ธปท. สามารถปรับลดได้อีก 0.25-0.5% อย่างไรก็ตาม หากมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมของรายย่อยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ส่วนนึงก็ได้รับประโยชน์จากการที่ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปบ้างแล้ว
ดังนั้น หาก ธปท. มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก การส่งผ่านนโยบายไปยังธนาคารพาณิชย์คงไม่มีผลกระทบสักเท่าไหร่นัก การเติบโตของเศรษฐกิจที่เห็นล่าสุดโดยภาพรวมก็ยังสามารถเติบโตได้ และมองว่าครึ่งปีหลัง มาตรการของภาครัฐน่าจะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจได้อีกระดับหนึ่ง
ในขณะที่ ธปท. ก็ดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างควบคู่กันไป ส่วนตลาดหุ้นไทยน่าจะได้รับอานิสงส์ส่วนใหญ่มาจากการบริโภคภายในประเทศ มาตรการจากภาครัฐ ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ และนโยบายดิจิทัลวอลเล็ท ที่น่าจะได้ใช้ตามกำหนดการในไตรมาส 4 นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาสนับสนุนตลาดหุ้นไทย ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนในระยะกลางถึงระยะยาว คือการกลับมาของกองทุน LTF ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลกลับเข้าตลาดหุ้นพอสมควร
โดยสรุป ตลาดหุ้นไทย ณ ระดับปัจจุบัน น่าจะสามารถปรับตัวขึ้นได้อีก หากมีปัจจัยสนับสนุนอย่างที่กล่าวมาข้างต้น โดยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนน่าจะเติบโตได้สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว การช่วยเหลือจากภาครัฐ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงความคาดหวังต่อการกลับเข้ามาของกองทุน LTF ที่จะทำให้เม็ดเงินไหลกลับเข้ามาตลาดหุ้นไทยได้ไม่มากก็น้อย