เรื่อง “ตอบทุกคำถาม การบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต.”
แม้ว่า ก.ล.ต. อาจไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้อย่างชัดเจนตามความคาดหวังของหลายท่านได้ แต่ขอให้มั่นใจว่า ก.ล.ต. จะดำเนินการการอย่างเต็มที่และแม้จะกล่าวโทษผู้กระทำผิดไปแล้วก็จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีและจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่เช่นกัน
ในครั้งที่แล้ว ผมได้ตอบไป 2 คำถาม เรื่อง “ก.ล.ต. ทำอะไรบ้าง ในการบังคับใช้กฎหมาย” และ “เงินค่าปรับไปไหน” ซึ่งน่าจะทำให้เห็นขอบเขตอำนาจและช่องทางในการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. รวมทั้งทราบด้วยว่า เงินค่าปรับเป็น “รายได้แผ่นดิน” ซึ่ง ก.ล.ต. จะนำส่งให้กระทรวงการคลัง ซึ่งตามที่สัญญากันไว้ว่าในครั้งนี้จะมาตอบให้ครบทุกคำถามที่ได้เกริ่นไว้ครับ
- ก.ล.ต. ทำอะไร ทำไมไม่บอก ไม่แจ้งความคืบหน้า ?
ต้องยอมรับครับว่า ก.ล.ต. มีความระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายค่อนข้างมากครับ เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิบุคคลเกินจำเป็นและไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
ดังนั้น หลายครั้งที่มีคำถามต่อเนื่องจากกรณีที่ ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส หรือเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการจึงไม่สามารถให้ข้อมูลในรายละเอียดได้ เช่น ก.ล.ต. กำลังตรวจสอบบริษัท ก. จริงหรือไม่ หรือในกรณีที่กล่าวโทษผู้กระทำผิดไปแล้ว อาจมีคำถามว่าจะมีดำเนินการเพิ่มเติมใดอีกหรือไม่ ซึ่งคำถามเหล่านี้ตอบได้ยากจริง ๆ ครับ เพราะในการตรวจสอบต้องรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน เพื่อพิจารณาว่ามีการกระทำผิดหรือไม่ ในทางกลับกันหากเปิดเผยและต่อมา ไม่พบการกระทำผิดก็อาจมีปัญหาได้ และอาจกระทบสิทธิบุคคล และอาจกระทบต่อประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
อย่างไรก็ดี แม้ว่า ก.ล.ต. อาจไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้อย่างชัดเจนตามความคาดหวังของหลายท่านได้ แต่ขอให้มั่นใจว่า ก.ล.ต. จะดำเนินการการอย่างเต็มที่และแม้จะกล่าวโทษผู้กระทำผิดไปแล้วก็จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีและจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่เช่นกันครับ
- ทำไมโทษน้อย ?
ผมขอพาย้อนกลับไปที่คำตอบในครั้งที่แล้วว่า ก.ล.ต. มีช่องทางในการบังคับใช้กฎหมาย 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ การดำเนินการทางปกครอง การดำเนินการทางอาญา และการดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง ซึ่งแต่ละช่องทางจะมี “บทลงโทษ” ที่แตกต่างกัน เช่น ปรับ จำกัด/พักการประกอบการ หรือเพิกถอนใบอนุญาต กรณีเป็นผู้ประกอบธุรกิจ และพัก เพิกถอน หรือห้ามเป็นบุคลากรในตลาดทุน กรณีเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน รวมทั้งมีโทษจำคุกในกรณีความผิดอาญาด้วย
ส่วนมาตรการลงโทษทางแพ่ง มี 5 มาตรการ ได้แก่ (1) ปรับทางแพ่ง (2) ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ (3) ห้ามเข้าซื้อขายหลักทรัพย์/สินทรัพย์จิทัล (4) ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์/ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และ (5) ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด
บทลงโทษแต่ละมาตรการมีระดับความหนักที่ใกล้เคียงกับนานาประเทศส่วนใหญ่ครับ และไม่ว่าบทลงโทษในด้านใด ก.ล.ต. ได้เปิดเผยข้อมูลไว้บนหน้าเว็บไซต์ ก.ล.ต. ที่หัวข้อ “ข่าว/ข้อมูลตลาดทุน” จากนั้นคลิกที่ “การบังคับใช้กฎหมาย” แล้วเลือก “การบังคับใช้กฎหมายรายกรณี” ซึ่งสามารถค้นหาได้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจรายใดถูกดำเนินการใดบ้าง บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนคนไหนที่ถูกพักเพิกถอนใบอนุญาต และใครบ้างที่ถูกกล่าวโทษ ถูกดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งและตกลงยินยอมปฏิบัติตาม หรือจะเลือกดูเป็น “สถิตรายปี” เพื่อให้เห็นภาพรวมการดำเนินการของ ก.ล.ต. ก็ได้ครับ
- ทำไมใช้เวลานานกว่าจะลงโทษ ?
ระยะเวลาในการบังคับใช้กฎหมายแต่ละกรณีมีความแตกต่างกันขึ้นกับหลายปัจจัยครับ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการในการหาพยานหลักฐาน แหล่งที่มาของพยานหลักฐาน ปริมาณข้อมูลที่ต้องพิจารณา และความซับซ้อนของการกระทำความผิด รวมทั้งได้ดำเนินการตามกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงแสดงพยานหลักฐานตามสิทธิอันพึงมีก่อนพิจารณาดำเนินการ (Due Process of Law) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. มีความรอบคอบ รัดกุม และเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ในกรณีที่มีความซับซ้อนและมีข้อมูลที่ต้องพิจารณาจำนวนมาก รวมทั้งให้เวลาและโอกาสผู้ต้องสงสัยชี้แจงอย่างเต็มที่เพื่อความเป็นธรรม จึงทำให้ใช้เวลาในการดำเนินการ และขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การปรับโครงสร้างองค์กร การนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้ในการกำกับดูแล ให้สามารถคาดการณ์การกระทำผิด หรือตรวจจับความผิดปกติที่เกิดขึ้นรวมทั้งเพิ่มการประสานงานและการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
รวมทั้ง ยังได้ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้ดำเนินการในหลายด้านเพื่อลดโอกาสในการกระทำผิดหรือทุจริตให้น้อยลง เช่น การเน้นย้ำการทำหน้าที่ของผู้บริหาร ตลอดจนยกระดับบทบาทของกรรมการ และกรรมการอิสระ ในการดูแลป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำทุจริตในองค์กรของตน (lines of defense) การยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน (gate keeper) ให้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างมืออาชีพ เป็นไปตามหลักสากล
กรณีมีการกระทำผิด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นใครก็ตาม ขอให้มั่นใจในการทำหน้าที่ของ ก.ล.ต. ซึ่งถือมั่นในหลักการและเอาจริงกับการบังคับใช้กฎหมายทุกกรณีอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ด้วยจุดมุ่งหมายให้ตลาดทุนไทยเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศก้าวหน้าอย่างยั่งยืน