ณ จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์

ในช่วงสั้น ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัว Sideway Up จากคาดหวังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ส่งผลต่อความชัดเจนของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/2024 ขณะที่ประเด็นกระแสเงินทุนไหลเข้ามอง ยังมีทิศทางไหลเข้าตลาดหุ้นไทยแต่ไม่แรง ภาพการเติบโตเศรษฐกิจไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค

ในบทความเสริมกลยุทธ์เพิ่มอาวุธการลงทุนตอนที่แล้วเมื่อเดือนก่อน เราได้เตือนว่า แม้ในภาพรวมเศรษฐกิจจะยังไปได้ และธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กำลังจะปรับลดดอกเบี้ย แต่นักลงทุนต้องเตรียมตัวรับความผันผวนจากความเสี่ยงหลายประการ แต่เราก็หารู้ได้ว่า หลังจากบทความตีพิมพ์ประมาณ 2 สัปดาห์ เหตุการณ์ Black Monday ที่นำไปสู่ความผันผวนทางการเงินโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นญี่ปุ่น สหรัฐ รวมถึงค่าเงินต่าง ๆ ก็เกิดขึ้น แต่หลังจากนั้น ดัชนีหุ้น รวมถึงสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ ก็ฟื้นตัวขึ้นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

สาเหตุเป็นเพราะตลาดมองว่า สิ่งที่ตลาดและนักลงทุนกังวลไม่เป็นความจริง โดยอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นอาจไม่สามารถวัดความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยได้ ซึ่งในส่วนของเรา มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาคการบริโภค ลงทุน ภาคการผลิต หรือแม้แต่ตลาดแรงงานนั้น จะพบว่าเศรษฐกิจโลกยังห่างไกลกับภาวะถดถอย โดยเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วกำลังเป็นทิศทาง Soft landing หรือ “ลงจอดอย่างนุ่มนวล” ทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ สามารถลดอัตราเงินเฟ้อลงสู่เป้าหมายโดยไม่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากนัก 

นอกจากนั้น ในส่วนของภาคการเงิน ในปัจจุบัน ยังไม่มีการเก็งกำไรที่ใช้สถานะกู้ยืมสูง (highly leverage) ที่จะนำไปสู่การปรับสถานะรุนแรง แต่อาจมีนักลงทุนบางส่วนทำธุรกรรม Yen carry trade ทำให้ต้องปรับสถานะ ขณะที่ไม่มีความเสี่ยงสภาพคล่อง (Liquidity risk) รวมถึงมีความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic risk) มากเท่าวิกฤตก่อน ๆ อย่างไรก็ตาม อาจต้องจับตามูลค่าของหุ้นกลุ่ม AI ที่ขึ้นมามาก และการที่ดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูงมายาวนานโดยเฉพาะในสหรัฐอาจนำไปสู่ภาวะผันผวนได้บ้าง ซึ่งการลดดอกเบี้ยของ Fed จะช่วยปรับสมดุลให้กับการลงทุนได้ในระยะต่อไป สอดคล้องกับที่ประธาน Fed ส่งสัญญาณในการสัมมนาวิชาการเมือง Jackson Hole เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “ถึงเวลาแล้ว (The time has come)” ที่จะลดอัตราดอกเบี้ย โดยมองว่าความเสี่ยงขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อลดลงในขณะที่ความเสี่ยงด้านลบต่อการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่ง Fed ใส่ใจกับความเสี่ยงทั้งสอง และถึงเวลาแล้วที่นโยบายจะต้องปรับตัว โดยระยะเวลาของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เข้ามา 

เรามองว่า สัญญาณที่ออกมาครั้งนี้บ่งชี้ว่าการลดดอกเบี้ยกำลังจะเกิดขึ้น ขณะที่ ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ การลดดอกเบี้ยจะเป็นการรีบลด (Front-loading) หรือจะเป็นการลดอย่างค่อยเป็นค่อยไป (gradual) โดยเรามองว่าการลดดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และลด 2 ครั้งในปีนี้ และ 4 ครั้งในปี 2025 อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป การส่งสัญญาณนโยบายการเงินในระยะต่อไปท้าทายยิ่ง เนื่องจาก (1) เป็นการเปลี่ยน Stance ในเชิงนโยบายการเงิน จากการขึ้นและคงดอกเบี้ย เป็นการลด ซึ่งหากทำไม่ดี อาจเกิดเหตุการณ์เหมือน Black Mondayในต้นเดือนที่ผ่านมา โดยหากลดเร็วเกินไป อาจเกิด Self-fulfilling หรือการที่ประชาชนมองว่า Fed มีข้อมูลอะไรที่นักลงทุนไม่เห็น จึงกังวลและชะลอการใช้จ่าย และทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง แต่หากลดช้า ก็อาจทำให้ตลาดแรงงานทรุดตัวรุนแรง และทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นกัน 

ในส่วนของเศรษฐกิจไทย แนวโน้มชะลอลงมากขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัว 2.3% จากการส่งออกที่ดีขึ้นแต่นำเข้าหดตัว โดยเฉพาะน้ำมันดิบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องมือเครื่องจักร บ่งชี้ภาคการผลิต และเศรษฐกิจในประเทศที่ยังชะลอตัว ภาพนี้สะท้อนไปถึงการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวแรง (-6.8%) บ่งชี้ถึงปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่มีปัญหา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายการเงินที่ตึงตัว ทำให้นักธุรกิจลดการลงทุนลง ซึ่งภาพดังกล่าว ประกอบกับความผันผวนไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทำให้เราปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจาก 2.5% เป็น 2.3% ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม เรามองว่า อาจเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรีระบุว่า ในส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลจะนำงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 1.45 แสนล้านบาท แจกให้กับประชาชน โดยแจกเป็นเงินสดให้กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้พิการ 14.5 ล้านคนในเดือน ก.ย. ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ธปท.มองเห็นการตึงตัว ของภาวะการเงิน จากภาคธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อลดลง จนเริ่มมีผลกระทบเชื่อมโยงต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และมองว่า หากสถานการณ์มีกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ มีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยนโยบายได้ เรามองว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่า ธปท. จะลดดอกเบี้ยในการประชุม วันที่ 16 ต.ค. และ 18 ธ.ค. พร้อม ๆ กับมีการแจกเงิน 1.45 แสนล้านบาท ซึ่งภาพดังกล่าว จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ 2.5% ในปีนี้ แต่ถ้าไม่มีมาตรการ Digital Wallet และไม่มีการลดดอกเบี้ย เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 2.3% ในปีนี้ ซึ่งยังเป็นกรณีฐานของเรา

ในส่วนของคำแนะนำการลงทุน เรามองว่า ในช่วงสั้น ตลาดหุ้นไทยจะแกว่งตัว Sideway Up จากคาดหวังความคืบหน้า ของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อความชัดเจนของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/2024 ขณะที่ประเด็นกระแสเงินทุนไหลเข้านั้น เรามองว่ายังมีทิศทางไหลเข้าตลาดหุ้นไทยแต่ไม่แรง เนื่องจากภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ดี เรามองเม็ดเงินลงทุนจะมีแนวโน้มไหลออกจากกลุ่มพลังงาน สื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ เข้าสู่กลุ่มธนาคาร ค้าปลีก และการแพทย์ โดยหุ้นที่เราแนะนำได้แก่ SCGP BCH KCE PTTGC OSP CPALL CPAXT TNP OSP CBG DELTA GULF BDMS และ BEM

ขอให้นักลงทุนโชคดี

 - รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก : https://linktr.ee/InnovestX

 - เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน

โหลดเลย คลิก https://innovestx.onelink.me/23if/ek1n76zm

- ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก : https://bit.ly/respublisher

#InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ

*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้