จังหวะเก็บหุ้นเข้าพอร์ตเดือนก.ย. ในภาวะ Healthy correction
เดือน ก.ย. ปีนี้ อาจเป็นช่วงเวลาการปรับฐานเพื่อไปต่อ หรือ Healthy correction ได้เช่นกันเพราะจะมีปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้นช่วงปลายปี คือ การประชุมธนาคารกลางของ 2 ประเทศหลักได้แก่ สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเป็นไปได้ว่าทิศทางของนโยบายน่าจะผ่อนคลายและเป็นผลบวกต่อทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้น
ตลาดหุ้นเดือนกันยายนเริ่มต้นด้วยแรงขายทำกำไรจากหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นดัชนีของตลาดหุ้นโลกที่สูงขึ้นจากคลายความกังวลเศรษฐกิจถดถอย และเหล่าผู้จัดการกองทุนปรับสัดส่วนการลงทุนภายหลังบริษัทจดทะเบียนประกาศงบการเงินไตรมาส 2 ปีนี้ไปเกินกว่า 90% แล้ว นอกจากนี้ตลาดยังมีความไม่แน่นอนในด้านการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาที่ต้องติดตาม อย่างไรก็ดีความผันผวนในตลาดหุ้นเดือน ก.ย. มักจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งไปจนถึงสิ้นปี
ดังนั้นเดือน ก.ย. ปีนี้ อาจเป็นช่วงเวลาการปรับฐานเพื่อไปต่อ หรือ Healthy correction ได้เช่นกันเพราะจะมีปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้นช่วงปลายปี คือ การประชุมธนาคารกลางของ 2 ประเทศหลักได้แก่ สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเป็นไปได้ว่าทิศทางของนโยบายน่าจะผ่อนคลายและเป็นผลบวกต่อทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นด้วย
เริ่มจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำหนดวันประชุมลงมตินโยบายการเงินวันที่ 12 ก.ย. นี้ จากแบบสำรวจเหล่านักวิเคราะห์ที่จัดทำโดย ECB คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยนโยบาย (Main Refinancing Operations) ครั้งที่สองอีก 0.25% เป็น 4% และจะมีการลดอีกครั้งในช่วงเดือน ธ.ค. เพราะข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดบ่งชี้ว่า ECB ยังสามารถลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้โดยไม่มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาเร่งตัวขึ้น โดยเงินเฟ้อ CPI เบื้องต้นเดือน ส.ค. ชะลอลงแรงจาก 2.6% YoY เป็น 2.2% YoY แม้จะมีการลดดอกเบี้ยมาแล้ว 1 ครั้งเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา
ตามมาด้วยการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะเป็นไฮไลท์ของการลงทุนเดือนนี้ เพราะตลาดคาดว่าจะเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่จะกลับมาลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% หลังจากคุณ Jerome Powell ประธาน Fed กล่าวในงานสัมมนา Jackson Hole ว่าถึงเวลาในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินแล้ว เนื่องจากตลาดแรงงานที่เริ่มอ่อนตัวจากอัตราว่างงานที่เริ่มเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้ไม่มีแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ อย่างไรก็ดีแม้ว่าก่อนหน้านี้นักลงทุนในตลาดหุ้นจะกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเนื่องจากอัตราว่างงานสูงขึ้นจนเข้ากฎ Sahm rule
แต่หากพิจารณาข้อมูลอื่น ๆ ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับตลาดแรงงาน เช่น การจ้างงานนอกภาคเกษตร หรือ จำนวนการขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ยังแข็งแกร่งกว่าค่าเฉลี่ยก่อนที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยในอดีต ขณะเดียวกัน Claudia Sahm ผู้คิดค้นกฎ Sahm ยังมีความเห็นว่าอัตราว่างงานในปัจจุบันคนละบริบทกับในอดีตเนื่องจากมีแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบมากขึ้นและอาจทำให้ Sahm Rule คลาดเคลื่อนได้ ส่วนในด้านเงินเฟ้อเป้าหมายของ Fed หรือ Core PCE เดือน ก.ค. ทรงตัวจากเดือนก่อนที่ +2.6% YoY ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เป็นครั้งแรกในปีนี้และชะลอลงมาตลอดตั้งแต่ต้นปีเข้าใกล้กับเป้าหมายของ Fed มากขึ้น ดังนั้นตลาดหุ้นในภาพรวมยังมีความเสี่ยงการลงทุนจากเศรษฐกิจถดถอยไม่มากนัก
โดยช่วงเวลาที่ดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มลดลงจะช่วยให้ผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นโดดเด่น เพราะส่วนต่างของผลตอบแทนระหว่างหุ้นและตราสารหนี้จะสูงขึ้นและจูงใจนักลงทุนที่กำลังแสวงผลตอบแทนที่สูงสุดภายใต้ความเสี่ยงที่ตนเองรับได้เพิ่มการลงทุนหุ้นมากขึ้น โดย 6 เดือนหลังจากที่ Fed ลดดอกเบี้ยและไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอยหรือปี 1989, 1995, 1998 และ 2019 ผลตอบแทนของตลาดหุ้นโลก MSCI ACWI World เฉลี่ยผลตอบแทน 10.4% นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยของ Fed อาจทำให้ค่าเงินดอลล่าร์อ่อนลงและจูงใจให้นักลงทุนต้องแสวงหาโอกาสการลงทุนนอกประเทศที่อาจมีผลตอบแทนสูงกว่าทั้งการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน และกำไรจากค่าเงินต่างประเทศที่จะแข็งค่ากว่าดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยเปรียบเทียบ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันหลังจากที่ Fed ลดดอกเบี้ย 6 เดือน ผลตอบแทนของตลาดหุ้นฝั่งเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นสามารถสร้างผลตอบแทนได้เฉลี่ยถึง 14.4%
ดังนั้น นักลงทุนอาจใช้ช่วงเวลาจากความเคลื่อนไหวของตลาดตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. ที่อ่อนตัวลงจากความระมัดระวังการลงทุนในเดือนนี้ การลดดอกเบี้ยจาก Fed และ ECB อาจเป็นจุดเปลี่ยนให้สภาวะการลงทุนหุ้นกลับมาดีขึ้น ทยอยสะสมหุ้นเมื่อตลาดปรับฐานเพราะได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย และเพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นเพราะมี Valuation ที่เหมาะสมและได้ประโยชน์จากแนวโน้มอ่อนค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ภายหลังจากการลดดอกเบี้ยด้วย
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager