ภาพรวมเศรษฐกิจและโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ

นักลงทุนควรรับความเสี่ยงของความผันผวนของตลาดหุ้นได้ และควรยอมรับการขาดทุนได้หากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาด รวมถึงต้องพิจารณาผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนในภาวะที่ทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง

ตัวเลขภาคแรงงานของสหรัฐที่ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว ส่งผลให้ตลาดยังคงกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย และมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.50% ในการประชุมวันที่ 17-18 กันยายนนี้

อย่างไรก็ดี ข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆของสหรัฐส่วนใหญ่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยจีดีพีไตรมาส 2/67 ของสหรัฐขยายตัว 3.0% ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาด โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค และการลงทุนของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ รายได้ส่วนบุคคลและการใช้จ่ายส่วนบุคคลของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณว่า ผู้บริโภคสหรัฐมีความสามารถในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และพร้อมที่จะใช้จ่าย ดังนั้น การใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของ GDPสหรัฐ จะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะถัดไป

นอกจากนี้ ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยรายชั่วโมงที่เร่งตัวขึ้น บ่งชี้ว่ารายได้ของผู้บริโภคสหรัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอุปสงค์ในตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง จึงมีการจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงขึ้น ในขณะที่ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครที่ลดลงต่อเนื่อง อาจเป็นเพียงการปรับเข้าสู่สมดุล หลังจากที่พุ่งขึ้นทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังวิกฤติโควิดสิ้นสุดลง โดยตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครอยู่ที่ 7.673 ล้านตำแหน่งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งยังคงสูงกว่าสถิติสูงสุดในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดที่ 7.59 ล้านตำแหน่ง สำหรับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่ชะลอตัวลง ยังไม่ถือว่าบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้นมากกว่า 100,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับที่บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง โดยค่าเฉลี่ยการจ้างงานในรอบ 12 เดือนล่าสุดอยู่ที่ 202,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ นางเจเน็ต เยลเล็น รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ตลาด โดยกล่าวว่า ไม่เห็นสัญญาณอันตรายในตลาดแรงงาน เนื่องจากไม่มีการปลดคนงานที่ผิดปกติ

จะเห็นได้ว่า พื้นฐานทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง และมีแนวโน้มเติบโตดี โดยการเพิ่มขึ้นของการลงทุนของภาคธุรกิจ และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มดีขึ้น น่าจะส่งผลให้ภาคการผลิตกลับมาขยายตัว และผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐเร่งตัวขึ้น ดังนั้น ความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยจึงน่าจะเป็นความกังวลถึงสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก

ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด และสูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต รวมถึงการให้มุมมองถึงทิศทางของบริษัทในอนาคตที่ยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี เป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าที่คาด เป็นสัญญาณว่าความมั่งคั่งของชาวอเมริกันจะยังคงเพิ่มขึ้นจากการลงทุน รวมถึงบริษัทต่างๆจะมีการจ้างงานต่อเนื่อง และรายได้ของชาวอเมริกันก็จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในด้านเงินเฟ้อ ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้ตลาดกังวลว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลต่อการตัดสินใจลดดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี การลดลงของราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา น่าจะเป็นปัจจัยที่ฉุดให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง

จากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ยังคงแข็งแกร่งและมีแนวโน้มเติบโตดี ในขณะที่ตลาดแรงงานไม่ได้อ่อนแออย่างที่ตลาดคิด ดังนั้น จึงมีโอกาสสูงที่เฟดอาจประกาศลดดอกเบี้ยลงเพียง 0.25% ในการประชุมในเดือนนี้ เพื่อสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้อ่อนแออย่างที่หลายฝ่ายกังวล ในขณะที่หากเฟดปรับลดดอกเบี้ย 0.50% อาจส่งผลให้ตลาดมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะอ่อนแอมาก และอาจส่งผลให้ผู้บริโภคและบริษัทต่างๆในสหรัฐกลับมามีความระมัดระวังในการใช้จ่ายและการลงทุน และฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอลง ในอีกด้านหนึ่ง หากตลาดมองว่าการลดดอกเบี้ย 0.50% เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้บริโภคและบริษัทต่างๆอาจมีการใช้จ่ายและการลงทุนในอัตราที่สูงกว่าปกติ ก็อาจส่งผลให้เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวขึ้น รวมถึงอาจส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงเกินไป

โดยสรุป ภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง และมีแนวโน้มเติบโตดี โดยตัวเลขภาคแรงงานของสหรัฐที่ชะลอลงอาจเป็นเพียงการปรับตัวลงจากระดับที่สูงผิดปกติอันเนื่องมาจากการสิ้นสุดของวิกฤติโควิด อย่างไรก็ดี มุมมองด้านการลดดอกเบี้ยของเฟดในที่นี้ พิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวม ในขณะที่เฟดมีการพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆในเชิงลึก และนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไปจะมีส่วนสำคัญในการบ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในระยะถัดไป

ในส่วนของการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ การปรับตัวลงของตลาดหุ้นน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน เนื่องจากมีปัจจัยบวกอยู่มาก ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯที่เติบโตต่อเนื่อง และนโยบายการเงินมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น นอกจากนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักระบุตรงกันว่า เดือนกันยายนมักเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวแย่ที่สุด จึงอาจเป็นโอกาสดีที่นักลงทุนจะเข้าลงทุนได้ในจุดที่ตลาดปรับตัวลงผิดปกติ 

อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรรับความเสี่ยงของความผันผวนของตลาดหุ้นได้ และควรยอมรับการขาดทุนได้หากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาด รวมถึงต้องพิจารณาผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนในภาวะที่ทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง