Post Election Rally ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาล ของ Trump 2.0 จะไปได้ไกลแค่ไหน?

Post Election Rally ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาล ของ Trump 2.0 จะไปได้ไกลแค่ไหน?

ในปี 2024-2025 นักลงทุนควรลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ไม่น้อยกว่า 20-30%  เพื่อสร้างผลตอบแทนตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะรักษาความเป็นตลาดกระทิง ได้ต่อเนื่อง เป้าหมายดัชนี S&P500 ช่วง 12 เดือนข้างหน้า ณ วันที่ 7 พ.ย. 2024 อยู่ที่ 6411 จุด มี Upside จากราคาปิดวันที่ 6 พ.ย. 2024 ราว 8.1%

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ พลิกโพลของสำนักข่าวทั่วโลกโดยส่วนใหญ่ สำหรับผลอย่างไม่เป็นทางการ ณ วันที่ 7 พ.ย. 2024 อิงสำนักข่าว Associated Press (AP) โดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับบลิกันชนะคะแนน Electoral College ณ เวลา 15.00 ตามเวลาในไทยที่ 295 ต่อ 226 ซึ่งเกินระดับ 270 ที่เป็นขึ้นต่ำ และชนะการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ที่ 52 ต่อ 44 ดังนั้นนักลงทุนทั่วโลกจึงจับตานโยบายต่างๆ ของพรรครีพับบลิกัน บนจุดยืน “American First” ซึ่งเราประเมินว่านโยบายการปรับลดภาษีนิติบุคคลเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่เป็นบวกต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ และคาดว่าจะทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ ขณะเดียวกันการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าต่อประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยเฉพาะจีน อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยลบที่กดดันเศรษฐกิจโลก และตลาดหุ้นโลกในระยะถัดมา

Post Election Rally ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาล ของ Trump 2.0 จะไปได้ไกลแค่ไหน?

ในวาระที่ 2 ของโดนัลด์ ทรัมป์ (Trump 2.0) หากวิเคราะห์จากนโยบายสำคัญ เราคาดว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะยังคงเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจต่อเนื่องในปี 2024-2025 จากนโยบายรัฐที่เน้นการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศและบริษัทจดทะเบียนซึ่งเป็นบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ สำหรับอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายของทรัมป์และพรรครีพับบลิกัน

อาทิ 1. กลุ่มสถาบันการเงินสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์จากการปรับลดกฏระเบียบ (Deregulation) โดยก่อนหน้านี้ นักลงทุนมีความกังวลว่า หากมีการปรับใช้หลักเกณฑ์ จากBasel III สู่ Basel IV อาจทำให้สถาบันการเงินมีความจำเป็นที่จะต้องมีการขยายฐานทุน เพิ่มระดับการตั้งสำรองและอาจเป็นลบต่อผลประกอบการกลุ่มการเงินในระยะสั้น-กลาง ดังนั้น หากรัฐมีการผ่อนคลายกฏระเบียบหรือยังไม่เร่งรีบที่จะปรับใช้หลักเกณฑ์ Basel IV จะเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มการเงินสหรัฐฯ 

2. กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและกลุ่มเทคโนโลยี นอกจากนโยบายการปรับลดภาษีนิติบุคคล เรามองว่าภาคการผลิตสหรัฐฯ มีโอกาสได้รับการเครดิตภาษีหรือได้รับเงินสนับสนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตลอดจนนโยบายอื่นๆ ที่ทรัมป์และพรรครีพับบลิกันมองว่าจะเป็นบวกต่อการจ้างงานของชาวอเมริกัน 

3. กลุ่มพลังงาน (ก๊าซธรรมชาติ, ปิโตรเลียม) จะได้อานิสงส์เชิงบวกจากการยกเลิกข้อจำกัดในการพัฒนาแหล่งพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งทรัมป์มองว่าเป็นการเสริมความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศ และทำให้ค่าครองชีพลดลง 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในสมัยที่ 2 ของทรัมป์และพรรครีพับบลิกัน คือ ประเด็นสงครามการค้าระลอกใหม่ ผ่านการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากกลุ่มประเทศต่างๆ ในอัตรา 10-20% และการขึ้นภาษีต่อสินค้าจีนราว 60% ตามลำดับ การปรับขึ้นภาษีนอกจากจะกดดันปริมาณการค้าระหว่างประเทศแล้ว ยังทำให้ระดับราคาสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลก และเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนปัจจัยด้านภูมิรัฐศาตร์โลก และระเบียบโลกใหม่อาจเปลี่ยนไป หากสหรัฐฯ ลดงบประมาณด้านการทหารลงจาก NATO และลดบทบาทในสงครามที่รัสเซีย - ยูเครน รวมถึงสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเราประเมินว่าการลดบทบาทลงของสหรัฐฯ ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นผู้ป้องปรามความขัดแย้ง อาจนำมาสู่การยกระดับของสงครามและส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสปรับตัวขึ้นหรือมีความผันผวนสูง ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม หากมองในด้านแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐนอกจากประเด็นด้านการเมืองที่กำลังอยู่ในกระแส หนึ่งในจุดแข็งของหุ้นสหรัฐฯ คือความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและแนวโน้มการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2024-2025 ในมุมมองของ IMF จากการประเมินในเดือน ต.ค. ในบทวิเคราะห์ “World Economic Outlook: Policy Pivot, Rising Threats” ณ วันที่ 22 ต.ค. 2024 ได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ขึ้นสู่ระดับ 2.2% และ 2.8% ในปี 2024 และ 2025 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการประเมินครั้งก่อน +0.2% และ +0.3% ตามลำดับ และประเมินความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง (Hard Recession) น้อยลง

สำหรับสถิติผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากการศึกษาของ Carson group อิงดัชนี S&P500 หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 1952 – 2020 จำนวน 18 ครั้ง พบว่า หลังการเลือกตั้ง 3 เดือนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนเป็นบวก 13 ครั้ง เป็นลบ 5 ครั้ง มีผลตอบแทนโดยเฉลี่ย +4.0% และหลังการเลือกตั้ง 6 เดือนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนเป็นบวก 14 ครั้ง เป็นลบ 4 ครั้ง มีผลตอบแทนเฉลี่ย 5.3% ตามลำดับ 

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีเสถียรภาพ กำไรบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตสูง ประกอบกับดอกเบี้ยนโบบายที่เป็นขาลง และการปรับลดภาษีของบริษัทจดทะเบียนเราคาดว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ ดังนั้นเรามองว่าในปี 2024-2025 นักลงทุนควรลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ไม่น้อยกว่า 20-30% ของพอร์ตการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะรักษาความเป็นตลาดกระทิง (Bull Market) ได้ต่อเนื่อง สำหรับเป้าหมายของดัชนี S&P500 ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า อิง Bloomberg Consensus ณ วันที่ 7 พ.ย. 2024 อยู่ที่ 6411 จุด มี Upside จากราคาปิดวันที่ 6 พ.ย. 2024 ราว 8.1%