16 ปีกับกฎหมายควบคุม "น้ำเมา" แก้ไม่ตรงจุด

16 ปีกับกฎหมายควบคุม "น้ำเมา" แก้ไม่ตรงจุด

16 ปีแห่งความหลัง กับการประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่มีเป้าประสงค์ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคม

แต่ทว่าผลลัพธ์ของการบังคับใช้ที่ผ่านมา พบว่าการกำกับดูแล “ยังแก้ไม่ตรงจุด” สะท้อนผ่านสัดส่วนการดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเด็กอายุ 15-19 ปี โดยเฉลี่ยไม่ลดลง

ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ข้อบังคับว่าด้วยการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และฉลากไม่ชัดเจน ต้องอาศัยดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตีความ ซึ่งอาจนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายในทางที่ผิด

ขณะที่ต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของการดื่ม “น้ำเมา” พบว่าสูงถึง 1.7 แสนล้านบาท เป็นต้นทุนผลกระทบต่อสุขภาพกว่า 9.4 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือผลกระทบจากปัญหาอุบัติเหตุทางถนน 5.4 หมื่นล้านบาท และต้นทุนผลกระทบที่เกิดการบาดเจ็บและปัญหาอาชญากรรม 2.4 หมื่นล้านบาท

ภาครัฐควรต้อง “ทบทวน” กฎหมายและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่เพื่อแก้ไขให้ตรงจุด ใน 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.ปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน
1.1 ปรับบทลงโทษ เพิ่มยาแรง “ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี” ด้วยการสั่งระงับกิจการร้านค้าที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็ก ซึ่งจำนวนวันที่ถูกระงับอาจให้ศาลพิจารณาตามระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น และหากมีการกระทำผิดซ้ำ ควรพิจารณายกเลิกใบอนุญาตการประกอบกิจการ

1.2 เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เช่นในสหรัฐและฟินแลนด์ มีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในชุมชนและท้องถิ่น ร่วมกันตรวจสอบ เฝ้าระวัง และแจ้งหน่วยงานในท้องที่ให้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้เยาว์

ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรเพิ่มช่องทางเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบและเฝ้าระวังการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีผ่านแพลตฟอร์ม คล้ายแอปพลิเคชัน “Traffy Fondue” ของ กทม.

2.การลดผลกระทบเชิงลบทางสังคม
    2.1 ให้กองทุน สสส.พิจารณาช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเชิงลบทางสังคม ทั้งการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยที่ติดสุราเรื้อรัง การช่วยเหลือและเยียวยาผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิตและครอบครัวจากอุบัติเหตุดื่มขับ และสนับสนุนการเพิ่มจุดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์

2.2 ปรับแนวทางการกำหนดค่าเสียหาย เพื่อชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการ “ดื่มขับ” ตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 เพื่อให้ศาลสามารถกำหนดค่าชดเชยอย่างเป็นธรรมและสะท้อนมูลค่าทางเศรษฐกิจของผู้เสียหายอย่างแท้จริง เพราะในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน ทำให้การชดเชยไม่สะท้อนต่อความเสียหาย โดยเฉพาะในกรณีอุบัติเหตุเมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต

2.3 ปรับเกณฑ์การตัดแต้มใบขับขี่ เพื่อคัดกรองผู้ที่ดื่มแล้วขับ “ออกจากถนน” เร็วขึ้น โดยตัดคะแนนเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดตามระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด ดังนี้

    - แอลกอฮอล์ในเลือด 50-79 มก.% ตัด 4 คะแนนจากทั้งหมด 12 คะแนน
    - แอลกอฮอล์ในเลือด 80-99 มก.% ตัด 8 คะแนน
    - แต่ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 100 มก.% ตัด 12 คะแนน และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ 90 วัน

2.4 ปรับแนวทางการตั้งด่าน “จุดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์” โดยวางกลยุทธ์การตั้งจุดตรวจให้ผู้ขับขี่รู้ว่ามีโอกาสถูกตรวจมากกว่าปัจจุบัน และถูกดำเนินคดีจริงหากดื่มขับ

2.5 ทบทวน “มาตรการเปิดผับถึงตี 4” จากฐานข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่าอุบัติเหตุจากการดื่มขับมักเกิดในช่วงหลัง 6 โมงเย็น-6 โมงเช้า และหลังอนุญาตให้เปิดผับถึงตี 4 (ม.ค.-ก.พ.2567) สัดส่วนผู้ขับขี่ที่ดื่มขับแล้วเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นในช่วงตี 2-ก่อน 8 โมงเช้า ร้อยละ 0.23-12.72

นอกจากนี้ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน คาดว่าการขยายเวลาโดยไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดพอ มีโอกาสที่จะมีคนเมาขับ และทำให้เกิดความสูญเสีย (ตาย-เจ็บ) สูงถึง 27 % หรือ 10-20 คน/วัน

โดยหากมีจำนวนผู้เสียชีวิต 10 คน/วัน จะเกิดความสูญเสียอย่างน้อยวันละ 67 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าความสูญเสียดังกล่าวนี้น่าจะไม่คุ้มกับผลประโยชน์ทางการค้าที่เกิดขึ้น

3.ลดผลกระทบจากความไม่ชัดเจนของกฎหมาย
    3.1 แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการควบคุมโฆษณาให้ชัดเจน ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ที่อาจเกินขอบเขต การแก้ไขควรอยู่บนหลักการสำคัญของการสร้างสมดุลระหว่างการกำกับดูแลที่ดีและสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเน้นปกป้องคุ้มครองเด็กเยาวชน การบังคับใช้กฎหมายที่โปร่งใส ลดการใช้ดุลยพินิจ มีความเป็นธรรม รวมทั้งจำกัดเฉพาะเรื่องที่จำเป็น

การแก้ไขควรระบุให้ชัดว่าโฆษณาประเภทใดผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยกตัวอย่างเช่น Alcohol Act ของฟินแลนด์ กำหนดชัดว่าการทำตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลักษณะใดที่ผิดกฎหมาย

ขณะที่เกาหลีใต้ใช้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ กำกับการโฆษณาและส่งเสริมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคู่ไปกับกฎหมายว่าด้วยภาษีสุรา และมาตรฐานการโฆษณา โดยห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดจนมีผลต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ ประเทศไทยควรเพิ่มกฎหมายควบคุมการโฆษณาบนสื่อออนไลน์ โดยควรมีกฎหมายกำกับดูแลเนื้อหาโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ซึ่งอาจศึกษาแนวทางจาก Digital Services Act ของสหภาพยุโรปได้

3.2 แก้ไขมาตรา 26 (1) และประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2558 กำหนดมาตรการควบคุมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค มีข้อความชัดเจน ลดดุลยพินิจในการตีความ โดยการยกตัวอย่างฉลากและผลิตภัณฑ์เช่น ตัวอย่างฉลากของกรมสรรพสามิต และ อย.

3.3 แก้ไขกฎหมายเพื่อลดการแสวงหาประโยชน์จากสินบนรางวัลของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเพื่อลดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในทางที่ผิด

เหล่านี้เป็นข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีประสิทธิผล ลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคม และสร้างสมดุลทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

บทความชิ้นนี้เนื้อหาส่วนหนึ่งมาจากผลการศึกษา : ทบทวนนโยบายและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการส่งเสริมสมดุลด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน เผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์ที่เว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ