ปรับคุม "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" เปิดให้โฆษณา-ค่าชดเชยดื่มขับ ทีดีอาร์ไอชง
ผลการศึกษาทีดีอาร์ไอ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2565 มูลค่า 6 แสนล้านบาท รัฐเก็บภาษีสรรพสามิตได้ราว 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่มีต้นทุนทางสังคมอย่างน้อย 1.7 แสนล้านบาท ชงข้อเสนอปรับ 3 เรื่องสร้างสมดุล เปิดโฆษณาแต่ห้ามมุ่งเป้าเด็กเยาวชน-ปรับค่าชดเชยกรณีดื่มขับ
KEY
POINTS
- เป็นประเด็นที่สังคมยังต้องร่วมกันหาแนวทางสำหรับเรื่อง “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ซึ่งส่วนหนึ่งมองว่าจะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อีกส่วนหนึ่งมองว่าไม่ใช่สินค้าธรรมดาและสร้างผลกระทบต่อสังคม
- อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2565 มูลค่า 6 แสนล้านบาท รัฐเก็บภาษีสรรพสามิตได้ราว 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่มีต้นทุนทางสังคมอย่างน้อย 1.7 แสนล้านบาท
- ทีดีอาร์ไอเสนอ 3 ข้อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมาะสมและพอดี เปิดให้โฆษณาแต่ต้องไม่มุ่งเป้าเด็กเยาวชน ไม่โอ้อวดสรรพคุณ พร้อมปรับค่าชดเชยกรณีผู้เสียหายดื่มขับ
เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2567 ที่โรงแรมดิเอ็มเมอรัล รัชดา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดสัมนาสาธารณะ “จุดสมดุลการกำกับดูแลตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาตลาด จะอยู่ตรงไหน ?” ซึ่งมีการนำเสนอผลการศึกษา “การทบทวนนโยบายและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการส่งเสริมสมดุลด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ”
0รัฐต้องส่งเสริมอย่างจริงจัง
ดร.เจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท สร้างรายได้ภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่รัฐไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท
ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ อาทิ เกษตร อาหารเครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์ ค้าปลีก การท่องเที่ยวและบริการ รวมถึง ส่งเสริมการจ้างงานและกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน
“สภาอุตสาหกรรมฯต้องการให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ระดับชุมชนให้ได้รับการพัฒนา สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศ รัฐบาลจึงต้องให้การสนับสนุนส่งเสริมอย่างจริงจัง ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน กฎหมายสามารถบังคับใช้ได้จริงมีประสิทธิภาพประสิทธิผลและผลักดันการขายการดื่มเป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม”ดร.เจริญกล่าว
ได้ภาษี 1.5-ต้นทุนสังคม 1.7 แสนลบ.
ขณะที่ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI กล่าวว่า ปี 2565 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างรายได้จากการขาย 6 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมนี้มีผลต่อการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำแต่ไม่มากเท่าไหร่ หากเทียบกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮล์ รายได้จากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1.5 แสนล้านบาท
แต่ปัจจุบันมีความกังวลว่าจะภาษีสุราไม่ใช่รายได้หลักของกรมสรรพสามิตและรัฐบาล เพราะภาษีสุราไม่เข้าเป้าแล้ว มีแนวโน้มยอดขายสุราเริ่มลดลง การจ้างงานลดลงมากจากปี 2548 เฉพาะการผลิต 38,000 คน เหลือ 15,000 คน
อย่างไรก็ตาม สร้างต้นทุนทางสังคม(Social Cost) ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อคนดื่มและสังคม เช่น อุบัติเหตุ รักษาพยาบาล ประมาณการไม่ต่ำกว่า 1.7 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลมีมาตรการควบคุมกำกับทั้งด้านราคาและไม่ใช่ราคา แต่ความเห็นของทีมวิจัยมองว่ายังแก้ไม่ตรงจุด เนื่องจาก 1.สัดส่วนการดื่มของกลุ่มเด็กเยาวชนอายุ 15-15 ปี ไม่ลดลงยกเว้นช่วงโควิก และ2.จำนวนผู้เสียขีวิตจากอุบัติเหตุเมาขับยังมีแนวโน้มสูง ยกเว้นช่วงโควิด
คุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ผลต่ำสุด
ดร.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า ควรมีการปรับปรุงกฎหมายและการกำกับควบคุมให้มีประสิทธิผลและเกิดธรรมาภิบาล ซึ่งงานวิจัยในต่างประเทศและในประเทศไทยให้ข้อสรุปตรงกันในเรื่องการลำดับความสำคัญของการควบคุมการเข้าถึงสุราของเด็กเยาวชนและการลดความเสี่ยง สูญเสีย เสียหายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา โดยมาตรการแทรกแซงที่มีประสิทธิผลสูงสุดในการลดการบริโภคและความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs)ที่เกี่ยวข้องกับสุรา คือ ภาษี มาตรการจิตวิทยา การควบคุมการเข้าถึงสุรา ส่วนการคุมการโฆษณาได้ผลต่ำสุด
ข้อเสนอหลักของทีมวิจัยมี 3 ข้อ ได้แก่ 1 มุ่งเน้นการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2. เพิ่มมาตรการการลดผลกระทบเชิงลบทางสังคม (negative externalities) และ 3. กรณีไทย ต้องลด/เลี่ยงการใช้ดุลยพินิจเกินขอบเขตในการบังคับกฎหมายจนกระทบหลักธรรมาภิบาล
แก้กฎหมายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยอาวุโส TDRI เพิ่มเติมว่า ไทยควรควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมาะสมและพอดี มี3 ข้อเสนอ ประกอบด้วย 1.มุ่งเน้นปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยการลดความคลุมเครือของกฎหมายส่วนการควบคุมโฆษณา โดยแก้กฎหมายโฆษณา ให้การโฆษณาต้องไม่มุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องไม่อวดอ้างสรรพคุณหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด
รวมถึงปรับบทลงโทษการขายให้เด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เพิ่มบทลงโทษกำหนดจำนวนวันระงับกิจการชั่วคราว หากกระทำผิดซ้ำ ยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการ และเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังการขายให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปี ข้อเสนอที่2 ลดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในทางที่ผิด ควรยกเลิกการให้สินบนรางวัล
ปรับค่าชดเชยผู้เสียหายดื่มขับ
ด้านณิชมน ทองพัฒน์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ข้อเสนอที่3 ลดผลกระทบเชิงลบทางสังคม โดยเพิ่มภารกิจให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในการบำบัด ฟื้นฟูผู้ป่วยที่ติดสุราเรื้อรัง ช่วยเหลือเยียวยาผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิตและครอบครวัจากอุบัติเหตุดื่มขับ สนับสนุนการดำเนินงานตั้งด่านตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ต่อเนื่องตลอดปี รวมถึง ปรับแนวทางการกำหนดค่าเสียหาย เพื่อชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการดื่มขับ
ปรับเกณฑ์การลงโทษเมาขับใหม่ ด้วยการปรับแนวทางกำหนดค่าเสียหายในทางแพ่งแก่ผู้เสียหาย อย่างเป็นธรรมและสะท้อนมูลค่าทางเศรษฐกิจของผู้เสียหายอย่างแท้จริง, ปรับเกณฑ์การลงโทษเมาขับใหม่ ตัดแต้มใบขับขี่เป็นขั้นบันไดตามปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ตัดติมเพิ่มขึ้นหากทำผิดซ้ำ ,ปรับแนวทางการตั้งด่านจุดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม และทบทวนมาตรการเปิดผับถึงตี 4เพื่อลดผลกระทบจากอุบัติเหตุดื่มขับ
สูญเสียความสามารถในการผลิต 76 %
ธารทิพย์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจเกือบ 6 แสนล้านบาท มาจากมูลค่าการขาย ปี 2565 สูงถึง 5 แสนล้านบาท มูลค่าการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 6,550 ล้านบาท เป็นเบียร์ 3,900 ล้านบาท ไวน์องุ่น 2,400 ล้านบาท
นอกจากนี้ ส่งผลต่อการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต้นน้ำ โดยเฉพาะการผลิตเบียร์ 2.15 เท่า แต่น้อยกว่าอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์และน้ำอัดลมที่อยู่ที่ 2.99 เท่า และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 2.77 เท่า ส่วนอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น การท่องเที่ยว การผลิตเบียร์อยู่ที่ 1.39 เท่า เครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ 1.35 เท่า
แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างต้นทุนแก่สังคมไทย ประมาณการเบื้องต้น 1.7 แสนล้านบาท แยกเป็น 9.4 หมื่นล้านบาท (55 %) ผลกระทบต่อสุขภาพ ,5.3 หมื่นล้านบาท(31%) ผลกระทบจากปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ,1.7 หมื่นล้านบาท(10%)ผลกระทบจากปัญหาการบาดเจ็บต่างๆและ0.7 หมื่นล้านบาท(4%)ผลกระทบจากปัญหาอาชญากรรม
สูญเสียการผลิตมูลค่า1.3 แสนลบ.
“ต้นทุนทางสังคมส่วนใหญ่มาจาก 76 % เกิดจากการสูญเสียความสามารถในการผลิต เช่น เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้ขาดรายได้ 14 % เป็นความสูญเสียต่อคุณภาพชีวิตจิตใจ และทรัพย์สิน ต้นทุนในการฟ้องร้องดำเนินคดีจากการเกิดอุบัติเหตุดื่มขับ และ11 %เป็นค่ารักษาพยาบาลแต่ละระดับความรุนแรง”ธารทิพย์กล่าว
ด้านณิชมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้นทุนทางสังคม 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งภาระต่อสังคมที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา โดยการบริโภคแอลกอฮอล์ทำให้เกิดในรูปแบบ ดังนี้
1.เกิดความสูญเสียความสามารถในการผลิต ที่ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบต้องขาดรายได้ คิดเป็นมูลค่าถึง 1.3 แสนล้านบาท
2.เกิดภาระค่ารักษาพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาระโรคที่เกิดจากการดื่มสุราและการประสบอุบัติเหตุทางถนน สูงถึง 1.8 หมื่นล้านบาท
3. เกิดความสูญเสียคุณภาพชีวิตและจิตใจของผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนและครอบครัวสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท
4.เกิดความสูญเสียของทรัพย์สินจากอุบัติเหตุดื่มขับประมาณ 6.2 พันล้านบาท
และ5.เกิดภาระต้นทุนในการด้าเนินคดีประมาณ 1.8 พันล้านบาท