ประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลคู่สัญญา

ประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลคู่สัญญา

ปัจจุบันผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวมากขึ้น พร้อมทั้งตระหนักถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นในทุกปี ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดภาระจากการเจ็บป่วยแล้วต้องเข้ารับการรักษา หลายๆ ท่านจึงมีการวางแผนซื้อความคุ้มครองสุขภาพติดตัวไว้ก่อนที่จะเกิดโรคร้าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรคยอดฮิตติดอันดับที่คร่าชีวิตคนไทย เช่น มะเร็ง หลอดเลือดสมอง หัวใจขาดเลือด เบาหวาน วัณโรค โรคปอดเรื้อรัง และโรคไต ซึ่งโรคเหล่านี้นับเป็นความโชคร้ายที่กินเงินเก็บมหาศาล ต้องใช้ทั้งกำลังทรัพย์ และกำลังใจ ตลอดจนกำลังภายในเลือกเฟ้นสถานพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรคนั้นๆ

สำหรับผู้ที่มีประกันสุขภาพอาจจะเบาใจได้ส่วนหนึ่งว่า ถึงเจ็บป่วยก็ยังกล้าที่จะเข้ารับการรักษา ไม่ต้องกังวลค่าใช้จ่ายหรือเครือข่ายโรงพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพราะธุรกิจประกันชีวิต ประกันสุขภาพมีเครือข่ายโรงพยาบาลคู่สัญญาอยู่หลายแห่งให้เลือกใช้บริการ

 

ซึ่งการที่บริษัทประกันชีวิตมีการทำสัญญาเป็นพันธมิตรในการให้บริการกับลูกค้าหรือผู้เอาประกันภัยนั้น ย่อมเป็นการอำนวยความสะดวก ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ การเบิกจ่าย ก่อนทำหัตถการ หรือการส่งตรวจที่มีราคาสูง เช่น MRI,CT อีกทั้งประเมินค่าใช้จ่ายด้านการรักษา และให้บริการด้วยความรวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน ที่สำคัญลูกค้าหรือผู้เอาประกันภัยไม่ต้องกังวลในการเตรียมหาเงินก้อนใหญ่มาสำรองค่ารักษาพยาบาล

ทั้งในกรณีรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยใน ซึ่งการเข้ารับบริการกับโรงพยาบาลคู่สัญญานั้น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะช่วยตรวจสอบสิทธิและส่งเบิกสิทธิค่ารักษา ตามสิทธิประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย โดยประสานงานกับฝ่ายพิจารณาสินไหม (Fax claim) ของบริษัทรับประกันภัยในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามวงเงินความคุ้มครอง ทั้งแบบแยกค่าใช้จ่ายตามตารางซึ่งจะผันแปรไปตามค่าห้อง หรือแบบวงเงินเหมาจ่าย ขึ้นอยู่กับแบบประกันภัยและเงื่อนไขกรมธรรม์ที่ผู้เอาประกันภัยได้ตกลงทำไว้ แต่ต้องไม่เกินวงเงินความคุ้มครองตามสิทธิและเงื่อนไขกรมธรรม์

สำหรับการใช้บริการกับโรงพยาบาลคู่สัญญานั้น ไม่มีอะไรยุ่งยากเพียงแค่ยื่นบัตรประจำตัวผู้เอาประกันภัย หรือข้อมูลของผู้เอาประกันภัยบนแอปพลิเคชั่นของบริษัทประกันบนมือถือ พร้อมบัตรประชาชนหรือบัตรที่ราชการออกให้ ส่วนผู้เอาประกันภัยที่มีประกันสุขภาพมากกว่า 1 บริษัท ผู้เอาประกันภัยควรแจ้งลำดับการใช้สิทธิด้วยว่าจะใช้ของที่ใดก่อนหลัง เพื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็จะยื่นเรื่องไปที่บริษัทประกันตามลำดับ เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิจารณาสินไหมตรวจสอบสิทธิ์แล้วจะแจ้งผลประโยชน์ และความคุ้มครองตามกรมธรรม์ให้ทราบ รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนเกินสิทธิที่โรงพยาบาลจะเรียกเก็บ

ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเกิดเหตุให้ต้องไปพักรักษาอาการเจ็บป่วยกับโรงพยาบาลนอกคู่สัญญา ก็ยังมั่นใจได้ว่าจะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลกับบริษัทผู้รับประกันภัยได้ เพียงแต่ผู้เอาประกันภัยต้องสำรองจ่ายไปก่อน หลังจากนั้นก็นำเอกสารมาเบิกเคลมค่ารักษาพยาบาลกับบริษัทผู้รับประกันภัยในภายหลัง

ซึ่งมีช่องทางการให้บริการที่หลากหลาย อาทิ ผ่านตัวแทน สาขา Mobile Application หรือส่งไปรษณีย์ (Reimbursement claim) แต่ควรส่งเอกสารทั้งหมดภายใน 30 วัน หลังจากที่ออกจากโรงพยาบาล ยิ่งยื่นเร็ว ก็ยิ่งได้เงินคืนเร็ว หลังจากบริษัทประกันได้ตรวจสอบเอกสาร และพิจารณาการจ่ายตามเงื่อนไขของแต่ละกรมธรรม์แล้ว ก็จะแจ้งผลการพิจารณาผ่านช่องทาง SMS, Mobile Application หรือช่องทางอื่นๆ ให้ลูกค้าทราบ

ดังนั้นก่อนที่จะเจ็บ หรือป่วย จะดีกว่าไหม ถ้าเราหมั่นดูแลสุขภาพด้วยการกินอาหารดี มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม แต่ก็ไม่ลืมที่จะบริหารความเสี่ยงด้วยการมีความคุ้มครองสุขภาพ เพราะอย่าลืมว่าค่ารักษาพยาบาลก็มีมีภาวะเงินเฟ้อ แพงขึ้นตลอดกาลอย่างที่เรารู้กัน มีความคุ้มครองสุขภาพ มีโรงพยาบาลคู่สัญญาดีๆไว้รองรับ ย่อมจะดีกว่าป่วยแล้วต้องเข้ารักษา จนเงินหมดกระเป๋าแล้วบ่นว่า รู้งี้ ซื้อประกันสุขภาพไว้ก็ดี