สงกรานต์สิบสองปันนา ความเหมือนที่แตกต่าง

สงกรานต์สิบสองปันนา ความเหมือนที่แตกต่าง

สิบสองปันนามี “สงกรานต์” เช่นเดียวกับพม่าและเชียงใหม่ของไทย ถูกถ่ายทอดทางวัฒนธรรมเดียวกันผ่านพุทธศาสนา คนไตลื้อเรียกเทศกาลนี้เหมือนคนเมืองล้านนาว่า “ปี๋ใหม่”

KEY

POINTS

  • สิบสอ

​เมษายนเป็นเดือนแห่งเทศกาลสงกรานต์เล่นน้ำของหลายชาติอาเซียน รวมถึงในสิบสองปันนาที่กลายเป็นเทศกาลท่องเที่ยวใหญ่ดึงดูดคนเรือนล้านไปเที่ยวเล่นสาดน้ำ 泼水节 (โพสุ่ยจี๋-เทศกาลสาดน้ำ) 

​มันมีความเหมือนและความต่างที่จะขอหยิบเล่าสู่ในแง่มุมของคนไทย มองเข้าไปยังวัฒนธรรมต่างแดนที่ละม้ายคล้ายคลึง

สงกรานต์ไทย-สิบสองปันนา รากเหง้าเดียวกัน

​สิบสองปันนาเป็นเขตปกครองตนเองกลุ่มชนชาติไต เรียกให้ชัดขึ้นคือ ไตลื้อสิบสองปันนาที่เคยมีอาณาจักรชนเผ่าไตยืนยาวมาตั้งแต่อย่างน้อยก็ในช่วง "ราชวงศ์ซ่ง" ก่อนมองโกลหยวนปกครอง เพราะกุบไลข่านเมื่อเข้าครองประเทศจีนได้สั่งให้กองทัพบุกปราบดินแดนทิศใต้ทางแม่น้ำแดง จนมาพบกับดินแดนสิบสองปันนา และผนวกเข้าปกครองในนามของแคว้นเชอหลี่ สิบสองปันนามีความเป็นอิสระสูงเพราะห่างไกลศูนย์กลางอำนาจ ทำให้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเอาไว้มั่นคง เพิ่งมาถูกเปลี่ยนแปลงหลังคอมมิวนิสต์ปกครอง 2492 ทำให้ร่องรอยทางวัฒนธรรมไตสิบสองปันนาสามารถสืบค้นได้อยู่

สิบสองปันนามีสงกรานต์เช่นเดียวกับ พม่า และ เชียงใหม่ ด้วยผูกพันและถ่ายทอดทางวัฒนธรรมเดียวกันผ่านพุทธศาสนา คนไตลื้อเรียกเทศกาลนี้เช่นเดียวกับคนเมืองล้านนาว่า “ปี๋ใหม่” มีวันสังขานล่อง วันเน่า พญาวัน แบบเดียวกัน โชคดีที่ประเพณีแบบเดิมได้รับการถ่ายทอดบันทึกไว้โดย บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ อดีตส.ส.เชียงราย/นักเขียน/นักสารคดีของภาคเหนือคนสำคัญตั้งแต่ พ.ศ. 2498

หลังคอมมิวนิสต์ปกครองไม่นาน ประเพณีต่างๆ ยังไม่เปลี่ยนมาก ทำให้เราได้รู้รายละเอียดของสงกรานต์สิบสองปันนาแบบเดิม ซึ่งในที่นี้จะขอหยิบมาเล่าพอเป็นสังเขป เพื่อจะได้เปรียบเทียบกับ สงกรานต์จิ่งหงยุคใหม่ ที่จะนำเสนอในส่วนต่อไป 

​ปีใหม่ไตสิบสองปันนายุคก่อนเป็นงานยิ่งใหญ่สุดของปี มีการเตรียมตัวก่อนหน้าทั้งการหาปลา หาอาหาร ทำตุงธงทิว ที่วัดก็ต้องทำดอกไม้เพลิงเตรียมไว้ เมื่อถึงวันสังขานล่อง บ้านที่มีสีนาด(ปืนไฟ) เอาปืนมายิงประกาศขับไล่ปีศาจและเคราะห์โศกทั้งหลาย ช่วงสายชาวเชียงรุ่งขนเสื้อผ้าเครื่องนอนไปซักที่ท่าน้ำ สระผม ชำระร่างกายแบบชำระจริงจัง วันเน่าเตรียมอาหารไปทำบุญใหญ่ บ่ายขนทรายเข้าวัด ครั้นถึงพญาวัน เป็นพิธีสงฆ์ถวายภัตตาหารอุทิศส่วนกุศลผู้ล่วงลับเรียก ตานหมูข้าว ประดับตุงเจดีย์ทราย และไม่ลืมเอาน้ำส้มป่อยไปวัด ไปสรงน้ำพระด้วย  วันต่อมาเรียกวันปากปีเป็นพิธีไล่ผีปีศาจ 

ที่ขาดไม่ได้คือการเล่นน้ำ บุญช่วยบันทึกว่าตลอด 1 สัปดาห์จะมีการรดน้ำดำหัวขอพรกันตลอดเวลา ซึ่งก็เหมือนกับทางพม่า ไทยสยาม และล้านนา ที่คนหนุ่มสาวได้ละเล่นรดน้ำราดน้ำสาดน้ำกัน สำหรับการดำหัวเจ้าเมืองเป็นพิธีใหญ่ ชาวเมืองนัดหมายรวมตัวมีของดำหัวเป็นต้นกัลพฤกษ์ ตีฆ้องแห่แหนไปดำหัว ช่วงต่อจากนั้นมีการละเล่น การแข่งเรือ เมืองเล็กเมืองน้อยในแคว้นส่งเรือชะล่ามาแข่งในแม่น้ำโขง เป็นงานปอยที่ยิ่งใหญ่

สงกรานต์สิบสองปันนา ความเหมือนที่แตกต่าง แข่งเรือในแม่น้ำหลานชาง (แม่น้ำโขง) - ผู้เขียน

​จุดศูนย์กลางของปอยปีใหม่สิบสองปันนายุคก่อน ไม่เหมือนยุคปัจจุบัน  พิธีจัดขึ้นที่บริเวณท่าน้ำฮ้าสบโขง ซึ่งเป็นเสมือนลานหน้าวังเจ้าผู้ครองเชียงรุ่งที่เวียงผาคราง สร้างปะรำเป็นโรงกิจกรรมต่างๆ ยาวตามแนวน้ำ ทั้งอาหารของกินและการละเล่นการพนัน คนไทลาวชมชอบพนันมาแต่ไหนแต่ไร ประวัติศาสตร์บอกไว้ มีบอกไฟดอก หรือดอกไม้ไฟ หรือดอกไม้เพลิง ช่างขับ ช่างซอ ฯลฯ 

​เอาเป็นว่าสงกรานต์ปีใหม่ของคนไตสิบสองปันนานั้น สืบมายาวนานไม่แพ้พม่าล้านนาลาว หากแต่รูปแบบเทศกาลของสิบสองปันนาในยุคใหม่ปรับเปลี่ยนไปเยอะ คือ เปลี่ยนไปมากกว่าที่ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ บันทึกไว้เมื่อหกสิบปีก่อน ด้วยเพราะเมื่อคอมมิวนิสต์ปกครองใหม่ๆ ให้ยกเลิกธรรมเนียมพิธีกรรมแบบเก่าไปตามแนวทางสังคมนิยม เจ้าหลวงถูกปลด พระสงฆ์ไม่ได้อยู่วัด พิธีการแบบเดิมถูกยกเลิกระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรม 

ก่อนปี 2000 (2543) มีแต่คนท้องถิ่นชาวไตเท่านั้นที่ถือสงกรานต์เป็นงานปีใหม่ และดำเนินวิถีประเพณีเดิมซึ่งไม่ได้ใหญ่โตกว้างขวางอันใด

สงกรานต์สิบสองปันนายุคใหม่ 

​จุดเปลี่ยนอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลกลางปักกิ่ง มีนโยบายพัฒนาพื้นที่ตะวันตกเข้มข้นในปี 2000  

​(1) ช่วงแรก (ปี 2000 - 2010) 

​ปี 2003: รัฐบาลจีนผลักดัน "西部大开发" (พัฒนาเขตตะวันตก) ส่งเสริมการท่องเที่ยววัฒนธรรมชนเผ่า 

​ปี 2005: สิบสองปันนาได้รับการโปรโมตเป็น "เมืองน้ำแห่งจีน" 

​ปี 2008: มีนักท่องเที่ยว เกิน 1 ล้านคน เป็นครั้งแรกในช่วงสงกรานต์ 

​(2) ช่วงบูม (ปี 2011 - ปัจจุบัน) 

​ปี 2012: เริ่มมีการ ถ่ายทอดสด ทางทีวีและโซเชียลมีเดีย 

​ปี 2015: จีนประกาศให้สงกรานต์สิบสองปันนาเป็น "มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้" 

​ปี 2019: นักท่องเที่ยว กว่า 3 ล้านคน เฉพาะช่วงสงกรานต์ 

สงกรานต์สิบสองปันนา ความเหมือนที่แตกต่าง พิธีสาดน้ำต้อนรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ ส่งโชคลาภ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ (ที่มา: XSBN)

การสาดน้ำปีใหม่สิบสองปันนาก็เริ่มโด่งดังขึ้น จนเป็นเทศกาลสำคัญในปฏิทินท่องเที่ยวจีนเมื่อราวทศวรรษที่ผ่านมา และกลายเป็นแบบแผนประเพณีที่มีปฏิทินชัดเจนขึ้น โดยกำหนดการเทศกาลสาดน้ำปีใหม่แบบแผนใหม่ กำหนดจัดระหว่าง 13-15 เมษายน กิจกรรมปกติของปีก่อนๆ หน้ามีดังนี้

​13 เมษายน - ริมน้ำหลานชาง (โขง) ตั้งแต่บ่ายมีการแข่งขันเรือมังกร  ตกค่ำมีจุดโคมลอยที่เขาเรียกว่าโคมขงเบ้ง มีการออกร้านอาหารตลอดแนวลำน้ำโขง

​14 เมษายน - ยังมีการออกร้านริมแม่น้ำ เพิ่มเติมด้วยขบวนรถแห่ทางวัฒนธรรม การแสดงเรือมังกรหลานชาง-แม่โขง การแสดงบนเวที ดนตรี

​15 เมษายน - เป็นวันสำคัญที่สุด มหกรรมการสาดน้ำจุดขึ้นที่จัตุรัสสาดน้ำใจกลางเมือง โดยช่วงแรกมีพิธีบวงสรวงน้ำศักดิ์สิทธิ์ ต้อนรับโชคลาภเสียก่อน ส่วนการสาดน้ำจะเริ่มในเวลา 11.00 น. 

​ช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีพิธีกรรมมาก คือพอสิ้นเสียงประกาศให้เริ่มสาดน้ำได้ จะมีผู้ส่งเสียงว่า น้ำ น้ำ น้ำ แล้วมหกรรมก็ระเบิดขึ้นด้วยความสนุกสนาน เสียงเพลง การแสดง น้ำพุ เป็นกิจกรรมแห่งความเฉลิมฉลองรื่นเริงอย่างแท้จริง

​สำหรับปี 2025 นี้ สำนักงานรัฐบาลประชาชนจังหวัดสิบสองปันนาประกาศวันหยุดเทศกาลสาดน้ำปี 2025 (ปฏิทินไต 1387 เทศกาล ปี ใหม่ ) : วันหยุดระหว่างวันที่ 14 -16 เมษายน ซึ่งดูเหมือนว่า จะล้อกับประกาศสงกรานต์ตามปฏิทินสุริยยาตร์แบบไทย ที่วันมหาสงกรานต์เลื่อนจาก 15 เป็น 16)

สงกรานต์สิบสองปันนา ความเหมือนที่แตกต่าง  พิธีสาดน้ำต้อนรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ ส่งโชคลาภ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ (ที่มา: XSBN)

​ปีใหม่สิบสองปันนา = กิจกรรมการท่องเที่ยวระดับมณฑล

​ปีใหม่สิบสองปันนาที่เป็นแบบในเมืองเชียงรุ่ง(จิ่งหง) เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวระดับมณฑลไปแล้ว ส่วนเทศกาลปีใหม่ชาวไตที่แท้จริง อาจจะยังมีอยู่ในเมืองเล็กๆ รอบนอก ที่ยังพอมีการดำหัวขอพรผู้เฒ่าผู้แก่แบบดั้งเดิมอยู่บ้าง วัดในสิบสองปันนาที่ยังเป็นวัดมีพระสงฆ์สามเณรยังมีอยู่บ้างในเขตเมืองรอบนอก วัดแทบไม่เกี่ยวกับสงกรานต์แบบใหม่ ส่วนเรื่องการดำหัวเจ้าเมือง อดีตผู้ครองแคว้นเป็นอันลืมได้เลย เพราะถูกตัดขาดไปตั้งแต่การปฏิวัติ จุดศูนย์กลางพิธีกรรมที่เคยอยู่ริมน้ำฮ้าสบโขงใกล้กับเวียงผาครางก็เปลี่ยนไปเป็นจตุรัสกลางเมือง 

​ซึ่งมันก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประเพณีสงกรานต์แบบเชียงรุ่งที่จัดอยู่มันแปลกแตกต่างจากวิถีไตลื้อดั้งเดิมยุคพ่อแม่ปู่ย่าก่อนปี 2000 อยู่ไม่น้อย ในทำนองว่า วัฒนธรรมไทลื้อถูกทำให้เป็นการแสดง แม้ขณะนี้จะเป็นเทศกาลน้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจีนแล้วก็ยังมีข้อแย้งว่าเป็น “การค้าเกินวัฒนธรรม” ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องทั่วไปที่เกิดในสิบสองปันนาไปแล้ว 

มองในแง่บวก มันก็ยังดีที่มันยังคงมีร่องรอยสงกรานต์ปีใหม่ไตแบบเดิมที่เชื่อมโยงกับความทรงจำในอดีตอยู่บ้าง เช่น พิธีกรรมบวงสรวงน้ำศักดิ์สิทธิ์ ก่อนจะเริ่มสาดน้ำสนุกสนานกัน เพราะมีการขึ้นไปตักน้ำจากบ่อศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมในเขตราชฐานเวียงผาครางบนเขา อันเป็นที่อยู่เดิมของเจ้าผู้ครองสิบสองปันนา แม้ว่าพื้นที่เวียงผาครางในอดีตถูกทำลายไปแทบหมด เหลือแค่วัดโบราณและเจดีย์ที่ดูทรุดโทรม ท่ามกลางดงไม้กึ่งป่าใกล้ตัวเมือง

สงกรานต์สิบสองปันนา ความเหมือนที่แตกต่าง บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เจ้าหลวงไตลื้อเชียงรุ่ง - ผู้เขียน

​สถานที่แห่งนั้นมีบ่อน้ำโบราณที่คนไตเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์  ผู้เขียนเคยขึ้นไปดูด้วยตาตัวเอง พื้นที่ตรงนั้นเป็นเนินเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยดงไม้รกร้างผ่านถนนขรุขระ ได้เห็นบ่อน้ำโบราณและศาลาที่ทรุดโทรม แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังมีผู้คนขึ้นไปตักน้ำเอาลงมาเพื่อเป็นสิริมงคลอยู่ 

บ่อน้ำแห่งนี้เคยเป็นแหล่งน้ำมงคลในวันปีใหม่ไตตั้งแต่ยุคดั้งเดิมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังดีที่ชาวท้องถิ่นยังอุตส่าห์ขึ้นไปนำน้ำที่บ่อแห่งนั้นลงมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองแบบใหม่ แม้จะมีการกล่าวถึงใดๆ ในสื่อทางการก็ตาม

 

 

..........................................

เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ