คนไทยใจดี ? | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ชื่อบทความวันนี้มาจากหนังสือเรื่อง “คนไทยใจดี” ซึ่งเป็นการทบทวนแนวคิดจิตสาธารณะกับสังคมไทยของแผนงานคนไทย 4.0
มีศาสตราจารย์ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ เป็นบรรณาธิการ และมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเป็นผู้เขียนบทความ สำหรับผู้อ่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ฟรีจากเว็บไซต์ท้ายบทความนี้
เรามักคิดกันว่าคนไทยเป็นคนใจดีเพราะสังคมเรามีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ดูจากการบริจาคต่างๆ เช่น ในกรณีที่แท็กซี่สูงวัยมีปัญหาเศรษฐกิจได้โอกาสออกสื่อก็มีคนรีบบริจาคถึงกว่า 8 ล้านบาททำให้แท็กซี่คนยากกลายเป็นแท็กซี่เศรษฐีเงินล้านในชั่วพริบตา แต่เดี๋ยวนี้การทำมาหากินของคนไทยฝืดเคืองยิ่งขึ้นและการแข่งขันด้านธุรกิจท้าทายมากขึ้น
สังคมก็เริ่มมีความเห็นว่า คนไทยเดี๋ยวนี้เห็นแก่ตัวมากกว่าเดิมและมีความเป็นปัจเจกสูงขึ้น จิตสาธารณะและความเห็นแก่สังคมและชุมชนของคนไทยอาจจะลดน้อยถอยลงหรือเปลี่ยนรูปแบบไป ความเป็นปัจเจกและสังคมและชุมชนบางครั้งจึงถูกมองว่าเป็นคู่ตรงข้ามกัน
การเปรียบเทียบจิตสาธารณะที่วัดในรูปของการบริจาค ของ Charities Aid Foundation ซึ่งวัดจากเงินการบริจาคทั้งในรูปเงินและในรูปเวลาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ 140 ประเทศในโลก
แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่าประเทศที่มีดัชนีบริจาคอยู่ในลำดับสูงๆ มักจะเป็นประเทศกำลังพัฒนา ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีล่าสุดของการจัดทำดัชนีนี้ปรากฏว่าประเทศที่มีลำดับการให้สูงสุดในโลก 4 ประเทศแรก
ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย เคนยา ไนจีเรีย และเมียนมาร์ ประเทศพัฒนาแล้วที่ขึ้นมาเป็นลำดับแรกคือออสเตรเลีย ส่วนประเทศไทยอยู่ในลำดับค่อนข้างสูงคือในลำดับที่ 10 และคนไทยยินดีบริจาคเป็นเงินมากกว่าบริจาคเป็นแรงงานหรือเป็นจิตอาสา
ดูจากตำแหน่งต่างๆ ก็ดูเหมือนจะอนุมานได้ว่าการยินดีที่จะบริจาคขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมหรือความเข้มแข็งของสวัสดิการของรัฐมากกว่าจะขึ้นอยู่กับขนาดของรายได้ของประเทศกล่าวคือ ถ้าสวัสดิการรัฐไม่ดี ไม่ทั่วถึง ชาวบ้านก็พยายามช่วยเหลือเจือจุนกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นประเทศไทยไม่ติดอันดับสูงสุดก็ไม่น่าเสียใจ
บทความในหนังสือเล่มนี้ 4 บทความชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ถึงแม้สังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่จิตสาธารณะก็ยังมีอยู่ในสังคมไทยอย่างมั่นคงบนฐานคติธรรมในศาสนาต่างๆ และจิตสาธารณะของคนไทยมักจะจำกัดอยู่ในด้านการทำบุญทำทานหรือการกุศล
แม้ว่าการพัฒนาของภาคประชาสังคมหรือองค์กรประชาชนที่ไม่หวังกำไรที่มาทำงานเพื่อสาธารณะได้ขยายตัวขึ้น และกลายเป็นกลไกสำคัญในการจัดการและจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ และทุนสังคมทำให้เกิดทางเลือกใหม่ของการมีส่วนร่วมของคนไทยที่จะยกระดับความอยู่ดีมีสุขของคนไทยและสังคมไทยแล้วก็ตาม
แนวคิดทางด้านตะวันตกแต่เดิมเห็นว่า มนุษย์มีความเห็นแก่ตัวตามสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอดในภาวะธรรมชาติ แต่มนุษย์ก็มีเหตุผลและมีความอดทนอดกลั้น ดังนั้น มนุษย์จึงยอมที่จะให้มีข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้มีสังคมที่สงบสุข
แต่สัญญาประชาคมนี้ประชาชนจะต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมหลักในการออกกฎหมายเพื่อการกำกับพวกเขาเอง เช่น รัฐธรรมนูญในระบอบการปกครองที่เป็นเสรีประชาธิปไตย
ทีนี้มาดูเหตุผลกันว่า ทำไมบางคนถึงมีจิตสาธารณะ ในขณะที่บางคนก็ไม่สนใจคนอื่นเลยนอกจากตัวเอง แผนงานคนไทย 4.0 ซึ่งเป็นแผนงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนใจเรื่องนี้
นักวิจัยของเราคือ รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงษ์ และดร.สมทิพย์ วัฒนพงษ์วานิช สนใจที่จะวิเคราะห์ ตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเพื่อสังคม พฤติกรรมเพื่อสังคมนี้ประกอบด้วยความรู้สึกเพื่อสังคมและการกระทำที่เอื้อสังคมซึ่งประการหลังมีองค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่
- การแบ่งปัน
- การช่วยเหลือ
- การดูแลผู้อื่น
- การมีความรู้สึกร่วมและเห็นใช้ต่อความต้องการของผู้อื่น
การศึกษาในต่างประเทศพบว่า ปัจจัยที่กำหนดพฤติกรรมเพื่อสังคมมีหลากหลาย ได้แก่
- ศาสนาและความเคร่งศาสนา โดยมักมีความเชื่อว่า ยิ่งเคร่งศาสนาศาสนา ก็ยิ่งจะมีพฤติกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น
- ลักษณะส่วนบุคคล เช่น เพศ การศึกษา เศรษฐานะ และอายุ
- ลักษณะนิสัยส่วนบุคคล
- ความเครียด
- ความสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม แต่ผลการศึกษาไม่มีข้อยุติในประเด็นเหล่านี้หรือไม่พบความแตกต่างของปัจจัยเหล่านี้
เช่น ในด้านเพศ ผู้หญิงไม่ได้มีพฤติกรรมเพื่อสังคมมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้หญิงกับผู้ชายมีพฤติกรรมเพื่อสังคมไม่เหมือนกัน ผู้ชายจะมีพฤติกรรมเพื่อสังคมในเชิงกายภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่บุคคลอื่นตกอยู่ในอันตรายอย่างชัดเจนมากกว่าผู้หญิง ในขณะที่ผู้หญิงจะช่วยเหลือผู้อื่นในทางอารมณ์มากกว่าเพศชาย
ความแตกต่างนี้เกิดจากอิทธิพลของวัฒนธรรมและคุณค่าในสังคมซึ่งคาดหวังต่อผู้หญิงและผู้ชายต่างกัน ส่งผลต่อบทบาททางเพศต่างกัน ในเรื่องอายุก็ไม่มีผลสรุปที่แน่ชัด บางศึกษาพบว่าในวัยเด็กอาจจะมีพฤติกรรมเพื่อสังคมในระดับหนึ่ง
แต่เมื่อเติบใหญ่ขึ้นก็มีคุณค่าในบางเรื่องที่สำคัญกว่า เช่น ความสำเร็จในชีวิต ความพึงพอใจในการมีอำนาจทำให้พฤติกรรมเพื่อสังคมลดลงจนเมื่อถึงวัยสูงอายุก็กลับมามีพฤติกรรมเพื่อสังคมมากครึ่งด้วยกัน
ด้วยความต้องการที่จะลดความเหงาและความโดดเดี่ยวและเพิ่มสามความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ใหม่ให้กับผู้สูงอายุ ถึงน่าสนใจก็คือการศึกษาในต่างประเทศพบว่าพฤติกรรมเพื่อสังคมไม่ได้อยู่บนฐานของการตอบแทนซึ่งกันและกัน (Reciprocity)
สำหรับความเครียดการศึกษาพบว่าพฤติกรรมเพื่อสังคมสามารถช่วยลดหรือรับมือกับความเครียดได้ ทฤษฎี Altruism born out of suffering อธิบายว่า ผู้ที่มีความเครียดที่ไม่รุนแรงเกินไปหรือ ผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์ที่เลวร้ายมาก่อนจะมีการปรับตัวในทางบวกให้เข้าใจผู้อื่นมากขึ้นและอยากช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น
นี่ก็ใกล้ปีใหม่แล้ว ขอให้คนไทยใจดีเอื้อเฟื้อต่อกันเพื่อจะได้ก้าวพ้นโควิด 19 อย่างสวยงาม และขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยจงดลบันดาลให้ผู้อ่านทุกท่านสุขภาพแข็งแรง คิดสิ่งใดก็ขอให้สมปรารถนาค่ะ
ดาวน์โหลดเอกสารได้ฟรีที่ www.khonthai4-0.net