ทำไมม็อบตุ้งติ้งถึงลงถนน? | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
วันนี้ผู้เขียนจะพูดถึงงานชิ้นสำคัญหนึ่งในสองชิ้นที่นำเสนอคือ การศึกษาการมีส่วนร่วมของพลเมืองในยุคดิจิทัล: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนไทยในพ.ศ. 2563
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมามีการประชุมวิชาการที่สำคัญมากสำหรับวงการสังคมศาสตร์ไทยก็คือการประชุมที่มีชื่อว่า “ให้มันเริ่มที่รุ่นเรา” ซึ่งมีการนำเสนอโครงการวิจัยทางสังคมศาสตร์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนคนรุ่นใหม่
วันนี้ผู้เขียนจะพูดถึงงานชิ้นสำคัญหนึ่งในสองชิ้นที่นำเสนอคือ การศึกษาการมีส่วนร่วมของพลเมืองในยุคดิจิทัล: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนไทยในพ.ศ. 2563
งานชิ้นนี้เป็นงานที่สำคัญเพราะศึกษาในช่วงที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ จึงจะสะท้อนภาพความรู้สึกและอารมณ์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในขณะนั้น เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ของเยาวชนในเวลาที่มีการเคลื่อนไหว ไม่ได้อาศัยข้อมูลจากความทรงจำเหมือนงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่
งานชิ้นนี้ยังได้รับความชื่นชมจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ให้ความคิดเห็นว่าเป็นงาน "ยาก" ที่สมบูรณ์แบบและบูรณาการได้ทั้งข้อมูลด้านการวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ เป็นงานวิชาการอย่างมืออาชีพ
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่อาจารย์พรรณราย โอสถาภิรัตน์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ และมีนักวิจัยที่ทุ่มเทจำนวนมากเช่น คุณวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผศ.ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา ซึ่งเป็นผู้นำวิธีวิจัยทางปริมาณมาใช้กับการวิเคราะห์เชิงสังคมใช้ตัวอย่างเยาวชนและคนรุ่นใหม่
ที่ให้สัมภาษณ์ตั้งแต่อายุ 15-25 ปีรวมทั้งสิ้น 2,022 คนจากพื้นที่กทม. และปริมณฑลและอีก 21 จังหวัดทั่วประเทศ และรวมข้อความทวีตตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 - 28 ก.พ. 2564 มีการสัมภาษณ์เชิงลึก 48 คนเพื่อตอบคำถามว่าเหตุใดเยาวชนและคนรุ่นใหม่จึงเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง
และเพื่อทำความเข้าใจกับกลไกที่เชื่อมโยงระหว่างการใช้สื่อดิจิทัลวัฒนธรรมสมัยนิยมและสำนึกความเป็นพลเมืองโดยมี ข้อค้นพบสำคัญดังต่อไปนี้
การศึกษาพบว่า ปัจจัยภายนอกเป็นเหตุผลหลักที่มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจมีการส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าภูมิหลังและทัศนคติส่วนบุคคล ปัจจัยภายนอกมีทั้งระยะไกลและระยะใกล้ แต่ที่มีผลกระทบมากกว่าจะเป็นปัจจัยระยะใกล้เช่น ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ทางการเมือง การสื่อสาร และการชักชวนจากคนในเครือข่ายสังคมออนไลน์และคนใกล้ชิด
เยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่พึงพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในเกือบทุกประเด็นสาธารณะ และไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะแก้ไขหรือตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างความคาดหวังของคนรุ่นใหม่และผลการบริหารจัดการของรัฐ
ซึ่งทำให้นำไปสู่การแสดงพฤติกรรมการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ และมีผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ รุ่นต่อๆ ไปอีกด้วย ส่วนปัจจัยภายในที่สำคัญ ได้แก่ความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองและของเยาวชนโดยรวม
การศึกษาในต่างประเทศพบว่า เยาวชนมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับความเป็นพลเมืองแบบยึดหน้าที่ (dutiful citizen) น้อยลงและให้ความสำคัญกับพลเมืองที่ลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลง (actualizing citizen) แต่การศึกษาของประเทศไทยพบว่า เยาวชนไทยไม่ได้แบ่งแยกกันเป็นพลเมืองแบบยึดหน้าที่และพลเมืองที่ลงมือเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
รวมทั้งไม่ได้แบ่งแยกการมีส่วนร่วมทางการเมืองในพื้นที่ออฟไลน์ และออนไลน์อย่างตายตัว เยาวชนคนรุ่นใหม่มองว่าการเมืองเป็นเรื่องเยาวชนที่รวมถึงโลกทัศน์ที่เป็นสากลมากขึ้น
ทำให้เกิดเครือข่ายกลุ่มการเมืองที่หลากหลายโดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและเพศสภาพ เยาวชนคนรุ่นใหม่อ้างอิงตนเองในฐานะ “ราษฎร” และ “ประชาชน” มากกว่า “พลเมือง” โดยเฉพาะคำสุดท้ายเป็นคำที่พวกเขาคิดว่าถูกยัดเยียดให้โดยรัฐ
เยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นผู้ที่เติบโตในโลกของดิจิทัล ซึ่งสามารถเปิดรับข้อมูลต่างๆ ได้อย่างมหาศาลจากแหล่งทั้งในและต่างประเทศที่อาจจะไม่เข้าถึงได้โดยสื่อดั้งเดิม ทำให้มีเป้าหมายมีความฝันและการคาดหมายที่กว้างขวางไปกว่าประสบการณ์ในประเทศ และตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
รวมทั้งตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการศึกษาที่ไม่เพียงจะมีการควบคุมทางกายภาพ (body control) แต่ยังพยายามครอบงำทางความคิดด้วย (thought control)
ในขณะเดียวกันที่เยาวชนไทยมีความสากลมากขึ้น ก็ได้นำรูปแบบต่างๆ ของวัฒนธรรมสมัยนิยม และทักษะของแฟนคลับเคป๊อบมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวการเมืองของเยาวชนอย่างหลากหลาย มีชีวิตชีวาและสร้างสรรค์ และได้บูรณาการประชาธิปไตยเข้าไปในวัฒนธรรมป๊อบ
อีกทั้งเป็นการศึกษาแรกๆ ที่พูดถึงบทบาทของกลุ่มย่อยต่างๆ เช่น กลุ่มสนใจเกม กลุ่มสตรีมเมอร์ กลุ่มติ่งเกาหลี กลุ่มบิทคอยน์ แสดงให้เห็นว่า “ติ่งเกาหลี” ไม่ใช่จะไร้สาระ หลงใหลในนักร้องไปวันๆ แต่ใช้ทักษะเทรนด์แท็กของเคป๊อบมาบูรณาการกับกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาวิจารณ์การศึกษาชิ้นนี้เห็นว่า เป็นการ ”คืนความเป็นเยาวชนให้เยาวชน” เพราะม็อบตุ้งติ้งถูกวาดภาพให้เป็นม็อบที่น่ากลัวเกินจริง ทั้งๆ ที่ม็อบรุ่นแรกๆ ได้ใช้สิทธิของตนด้วยความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด
อาจารย์ประจักษ์ยังชี้ให้เห็นอีกว่า “ม็อบตุ้งติ้ง” ไม่ใช่แค่การประท้วงทางการเมืองในรูปแบบที่รุนแรงขึ้น แต่เป็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรมการเมือง เพราะม็อบไม่ได้แค่เดินประท้วงไนถนน แต่ยังสร้างกลไกเครือข่ายที่ทะลุทะลวงทางความคิดทางการเมือง ทำให้การเมืองอยู่ในชีวิตประจำวันและไม่แยกจากการเมืองที่ท้าทายสถาบันอีกต่อไป
สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ การเมืองไปไกลเกินกว่าระบอบอำนาจนิยมอย่างรวมศูนย์จะเข้าใจ และยังบูรณาการเครือข่ายย่อยไปยังกลุ่มต่างๆ ที่มีความก้าวหน้าทางความคิด และกระบวนทัศน์สากล
อย่างไรก็ดี อาจารย์ประจักษ์เห็นว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ถึงแม้จะใช้การประท้วงด้วยวิธีแบบใหม่ แต่ก็ยังเชื่อมั่นในสถาบันแบบเดิมเช่นยังเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและทำ “การเมืองให้ดี” ภายใต้กรอบปัจจุบัน
การศึกษาเรื่องนี้พยายามตีแผ่ความคิดความเห็นและมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างการเมืองที่ดีและอนาคตใหม่ของตนเองและของคนไทยทั้งมวล สมควรที่คนไทยรุ่นอื่นๆ จะได้มีโอกาสอ่านเพื่อทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านรายงานวิจัยเล่มนี้
ความคิดทางการเมืองของประเทศไทยกำลังผลัดใบใหม่ ใบไม้สีเหลืองและสีน้ำตาลต้องเปิดทางให้ใบไม้อ่อน การสานเสวนาหรือนำการเมืองจากท้องถนนให้เข้ามาสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกันในพื้นที่ปลอดภัยจะเป็นก้าวย่างสำคัญที่ทำให้ประเทศของเราเดินต่อไปได้
ดาวน์โหลดเอกสารได้ฟรีที่ khonthai4-0