มหาวิทยาลัยไทยจะขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0 ได้แค่ไหน?
ความท้าทายอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทยก็คือ การก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ยกระดับรายได้ต่อหัวของคนไทยให้เท่าเทียมกับประเทศพัฒนาแล้ว รัฐบาลไทยก็ได้ตั้งความหวังไว้ว่าจะสามารถขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายของ “ประเทศไทย 4.0”
ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่นอกจากจะพัฒนาแล้วยังจะเป็นประเทศที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้และนวัตกรรม ไม่ใช่อาศัยแต่เพียงทรัพยากรธรรมชาติ มรดกทางวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษ และแรงงานไร้ทักษะ
ดังนั้น การลงทุนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมตลอดจนการสร้างทักษะวิจัยและนวัตกรรมจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ความคาดหมายสัมฤทธิผลได้ในอนาคต
ในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่าจำนวนและคุณภาพของบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมไม่เพียงพอและไม่ตรงต่อความต้องการของภาคผลิต บริการชุมชน และสังคมของประเทศ
ประเทศไทยจึงได้วางเป้าหมายว่าจะต้องเพิ่มสัดส่วนของบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาที่ทำงานวิจัยเทียบเท่าเต็มเวลาต่อประชากรจาก 25 คนต่อประชากร 10,000 คน ในปัจจุบันเป็น 30 คนต่อประชากร 10,000 คน ภายใน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2570)
จากรายงานดัชนีวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมบันไดสู่การพัฒนาประเทศปี 2564 ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ แสดงไว้ว่าประเทศไทยในปี 2562 มีนักวิจัยระดับปริญญาโทและเอกรวมกันประมาณ 44,291 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 73 เป็นผู้ที่จบปริญญาโทและมีผู้ที่จบปริญญาเอกเพียงร้อยละ 27
แต่หากดูเส้นทางอาชีพนักวิจัยในวงวิชาการ ก็จะต้องดูจากข้อมูลของผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการในระดับอุดมศึกษา ซึ่งในรายงานดังกล่าว พบว่ามีนักวิชาการรวมกันทั้งสิ้น 59,554 คน ในจำนวนนี้เป็นระดับอาจารย์ที่ไม่มีตำแหน่งทางวิชาการอยู่ร้อยละ 62.5 หรือเป็นจำนวนเกือบ 40,000 คน
ประกอบด้วยระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์อยู่ร้อยละ 24.5 รวมกันแล้วเป็นประมาณร้อยละ 87 เป็นระดับรองศาสตราจารย์อยู่ร้อยละ 11.2 คือกว่า 6,000 คนเศษ และเป็นระดับศาสตราจารย์ขึ้นไปเพียงร้อยละ 1.8 หรือประมาณ 1,073 คนเท่านั้น
เนื่องจากนักวิจัยที่สามารถสร้างนวัตกรรมนั้นมักจะต้องเป็นนักวิจัยที่มีประสบการณ์พอสมควร คือเป็นระดับรองศาสตราจารย์ซึ่งทั้งประเทศก็จะมีอยู่ประมาณ 6,664 คน คือประมาณ 1 คนต่อประชากร 10,000 คน จึงนับว่าเรามีจำนวนนักวิจัยที่จะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมน้อยมาก เพราะกว่าจะทำงานวิจัยหนึ่งชิ้นให้เกิดนวัตกรรมจะต้องใช้เวลาหลายปี
หรือบางครั้งก็อาจจะได้ความรู้แต่ไม่สามารถขยับเป็นนวัตกรรมหรือนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ เช่น ไม่มีงบประมาณในการที่จะถอดความรู้ให้เป็นเทคโนโลยีต้นแบบ นวัตกรรมที่ได้มานั้นไม่คุ้มทุนในเชิงพาณิชย์ หรือเป็นนวัตกรรมที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าทดแทนที่นำเข้าจากต่างประเทศ ฯลฯ
ข้อมูลอีกชุดหนึ่งซึ่งแสดงถึงความจำกัดด้านนักวิชาการ ดูได้จากจำนวนนักวิชาการที่ตีพิมพ์บทความในวารสาร ข้อมูลนี้ได้จากการศึกษาภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 โดยใช้ฐานข้อมูล NRIIS Thai LIS และ ThaiJo ของ รศ.ดร.อรุณี อินทรไพโรจน์ ที่ได้ศึกษาจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2553-2564 เป็นเวลา 12 ปี ใน 5 สาขาวิชา
พบว่านักวิชาการที่ตีพิมพ์บทความเพียงครั้งเดียวมีถึงร้อยละ 66-82 ในบรรดานักวิชาการมากมายที่ตีพิมพ์บทความส่วนใหญ่ร้อยละ 60-80 เป็นบทความวิชาการที่มาจากวิทยานิพนธ์ ซึ่งการตีพิมพ์เพียงครั้งเดียวหมายความว่า หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วก็ไม่ได้ทำงานวิจัยอีกต่อไป ดังนั้น จำนวนนักวิชาการที่สามารถทำงานต่อยอดไปได้เรื่อยๆ จึงจะมีจำนวนน้อยมาก
อีกคำถามหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญก็คือ แล้วนักวิชาการที่เรามีนั้นสามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพได้ดีขนาดไหน ซึ่งการตอบคำถามนี้ก็จะต้องไปดูว่า บทความที่ตีพิมพ์นี้มีอยู่วารสารในระดับใด ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับคือ TCI1 (วารสารที่ผ่านการรับรองคุณภาพ) TCI2 (วารสารที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงคุณภาพ) และ TCI3 (วารสารที่ไม่ผ่านการรับรอง)
การศึกษาพบว่า บทความส่วนใหญ่จะตีพิมพ์อยู่ในกลุ่มระดับกลางๆ คือ TCI2 ถึงร้อยละ 40-55 ส่วนการตีพิมพ์ในวารสารในระดับสูงสุดคือ TCT1 นั้นทำได้มากที่สุดในสายวิทยาศาสตร์การแพทย์ คือประมาณร้อยละ 47 ของการตีพิมพ์ในสาขานี้
หากจะติดตามนักวิจัยบนเส้นทางอาชีพต่อไปก็คือติดตามจำนวนนักวิจัยที่ได้รับรางวัลวิจัยดีเด่นแห่งชาติ (รูป) แสดงจำนวนรางวัลดีเด่นในช่วง 36 ปีที่ผ่านมาพบว่า สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์มีผู้ได้รับรางวัลมากที่สุดคือ 44 คน การวิจัยด้านเมดิคัลฮับอาจจะมี impact ต่อการเป็นประเทศไทย 4.0 มากที่สุด
ปัญหาความจำกัดของบุคลากรวิจัยในวงวิชาการของไทยจึงไม่ใช่แค่ปัญหาการขาดแคลนจำนวนบุคลากรในระดับ critical mass แต่ยังมีความขาดแคลนคุณภาพ และการสะสมทุนทางปัญญา (intellectual capital) ไม่เพียงพอ
การจะสร้างคุณภาพในประสบการณ์ของผู้เขียนในฐานะผู้ทำงานสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่พบว่า กว่าจะสร้างนักวิชาการที่สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีคุณภาพต้องใช้เวลา 5-10 ปีขึ้นไป และต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามารถและยอมสละเวลามาโค้ชนักวิจัยรุ่นใหม่ รวมทั้งยังต้องมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้ผลงานวิจัยที่ตรงประเด็นมีความแม่นยำ ถูกต้อง สมควรต่อการเผยแพร่
ที่สำคัญคือ ยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 คงอาศัยมหาวิทยาลัยอย่างเดียวไม่ได้ อาจต้องมีการดึงสมองไทยที่ไหลไปต่างประเทศกลับบ้าน และสนับสนุนงานวิจัยในภาคเอกชนมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยร่วมของนักวิจัยไทยกับนักวิจัยต่างประเทศ และนักวิจัยภาคเอกชน
คอลัมน์ ประเทศไทย iCARE
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ