ความเปราะบางของครัวเรือนไทย | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
ในยามที่วิกฤตโควิดยังแผลงฤทธิ์อย่างไม่สิ้นสุดนี้ ครอบครัวจำนวนมากซึ่งแต่เดิมเป็นครอบครัวที่พอจะเงยหน้าอ้าปากได้ แม้จะตำข้าวสารกรอกหม้อไปวันๆ ก็ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนไปโดยปริยาย
ดูจากจำนวนผู้ที่พยายามไปจดทะเบียนเป็นคนจนมีมากกว่าจำนวนผู้ที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมาก ผู้ยากจนใหม่นี้ในทางเศรษฐศาสตร์เดิมทีเราเรียกว่าเป็นครัวเรือนเปราะบาง คือ ครัวเรือนยากจนและครัวเรือนที่มีความเสี่ยงหรือมีโอกาสที่จะเป็นคนจนเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันและภัยพิบัติ
ความเปราะบางในครัวเรือนอาจจะเกิดจากสาเหตุหลายประการ คือ ประการแรกเกิดจากโครงสร้างครัวเรือนที่เปราะบาง เช่น ในครอบครัวมีคนที่พิการ มีผู้ป่วยเรื้อรัง มีผู้สูงอายุ และเด็ก ซึ่งต้องพึ่งพิงสมาชิกของครัวเรือนที่มีจำนวนน้อย ทำให้จำนวนสมาชิกที่หารายได้ได้ไม่สมดุลกับจำนวนสมาชิกที่ไม่สามารถทำงานหรือทำงานได้ไม่เต็มที่
ครัวเรือนที่หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิตไปอย่างไม่คาดฝัน ความเปราะบางประเภทนี้จะแก้ไขได้ยากต้องอาศัยการอุดหนุนหรือการช่วยเหลือจากสังคมโดยรวม และต้องสร้างโอกาสให้สมาชิกใหม่หรือสมาชิกรุ่นเยาว์สามารถก้าวพ้นจากความเปราะบางได้
ประการที่สองอาจจะเกิดจากความมั่นคงด้านรายได้และอาชีพ ที่เกิดจากการตกงาน การไร้ที่ทำกิน การมีทักษะต่ำ ทำให้มีการออมต่ำ หรือมีหนี้สินสูง
การศึกษาสถานการณ์ของครัวเรือนเปราะบางภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ที่สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยใช้ฐานข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2554-2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มี 2 โครงการด้วยกันคือ
1.การศึกษาของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนัสปรีย์ ไชยวรรณ นิยามกลุ่มเปราะบางตามภาระของครัวเรือน ได้แก่
1) การไม่เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน
2) ครัวเรือนที่มีเฉพาะผู้สูงอายุ
3) ครัวเรือนที่มีผู้พิการ
4) ครัวเรือนที่มีผู้ป่วยเรื้อรังที่ช่วยตัวเองไม่ได้
5) ครัวเรือนแหว่งกลาง
6) ครัวเรือนแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เป็นหัวหน้าครอบครัว
การใช้เกณฑ์เหล่านี้จะทำให้มีครัวเรือนยากจนปนอยู่ด้วย ปรากฏว่าในปี 2562 มีครัวเรือนตัวอย่างที่เป็นครัวเรือนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเห็นได้ชัดจากร้อยละ 7.7 ในปี 2554 เป็น 12.3 ส่วนครัวเรือนแหว่งกลางมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่เป็นเจ้าของที่ดินและครัวเรือนที่มีผู้ป่วยเรื้อรังในกลุ่มตัวอย่างมีสัดส่วนลดลง
การศึกษาด้านรายได้เฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างพบว่า ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวมีสภาพที่ดีกว่าครัวเรือนที่มีแต่ผู้สูงวัยและครัวเรือนแหว่งกลาง ครัวเรือนแม่เลี้ยงเดี่ยวยังมียังมีอัตราเพิ่มของรายได้ค่อนข้างสูงในช่วง ปี 2554-2558 และ 2558-2562
2.ส่วนการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับความเปราะบางของ ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ พบว่า หากใช้ระดับการออมของครัวเรือนเป็นตัวชี้วัดความเปราะบางโดยให้ครัวเรือนที่มีการออมต่ำกว่าร้อยละ 5 ของรายได้ทั้งหมดเป็นครัวเรือนเปราะบาง
ก็จะพบว่าประมาณร้อยละ 37 ของครัวเรือนไทยจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบาง คือ มีเงินออมต่ำกว่าร้อยละ 5 ของรายได้ และหากเอาการกู้หนี้เพื่อการบริโภคมาเป็นเกณฑ์วัดความเปราะบางก็จะพบว่าประมาณร้อยละ 31 เป็นครัวเรือนเปราะบาง
ข้อมูลสำคัญที่พบในงานของอาจารย์อนัสปรีย์ก็คือ ในช่วงระหว่างปี 2554-2562 จำนวนสัดส่วนครัวเรือนที่ต่ำกว่าเส้นยากจนของกลุ่มเปราะบางลดลงตั้งแต่ประมาณร้อยละ 17 ถึงร้อยละ 50 และกลุ่มเปราะบางที่หลุดจากกับดักความยากจนได้มากที่สุด คือ กลุ่มครัวเรือนที่ไม่เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน
ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมซื้อบ้านมาเข้ากลุ่มมากขึ้น ครัวเรือนแหว่งกลาง และครัวเรือนแม่เลี้ยงเดี่ยว ส่วนครัวเรือนเปราะบางที่เหลือมีหัวหน้าครัวเรือนที่พิการ สูงอายุ และป่วยเรื้อรังนั้น มีสัดส่วนที่สามารถขยับขึ้นจากเส้นความยากจนได้น้อยลง
ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ครอบครัวเปราะบางที่มีเงินออมน้อยกว่าร้อยละ 5 นั้น ประมาณหนึ่งในห้าของครัวเรือนกลุ่มนี้ก็จะเป็นครอบครัวที่ต้องกู้เพื่อบริโภค ประมาณร้อยละ 2.35 ของกลุ่มนี้มีเด็กในวัยเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา
การศึกษายังพบอีกว่าความเปราะบางด้านโครงสร้างและด้านความไม่มั่นคงทางอาชีพมีความเกี่ยวข้องกัน คือ กลุ่มที่ไม่มีความมั่นคงทางอาชีพมักจะเกี่ยวข้องกับความพิการของหัวหน้าครัวเรือนค่อนข้างมาก
การศึกษาจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอนาคตของประเทศไทย
ดาวน์โหลดเอกสารฟรีที่ https://www.khonthai4-0.net/
คอลัมน์ ประเทศไทย iCARE
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ