หนี้ครัวเรือนไทย: ปัญหายาวนานที่ยังมีทางออก
ปัจจุบัน มูลค่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หรือเรียกให้ง่ายๆ ว่า เม็ดเงินที่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ หรือ GDP (Gross Domestic Product) นับเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย
ดังนั้น การที่เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ภาคครัวเรือนควรมีความเข้มแข็งที่จะสามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น เพื่อนำมาใช้จ่ายในแต่ละวัน ก็จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน แต่ในทางกลับกัน ถ้าการใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นจากการสร้างหนี้ หรือการนำเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน ย่อมจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไป
ในไตรมาสแรกของปี 2565 ประเทศไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนราวร้อยละ 89 ของ GDP สูงขึ้นค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2554 ที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 66 ของ GDP ในขณะที่จำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ค่อนข้างคงที่ประมาณร้อยละ 50 ของครัวเรือนทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนที่เป็นหนี้มีแนวโน้มการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2554 ครัวเรือนที่เป็นหนี้มีหนี้เฉลี่ย 68,279 บาท หรือประมาณ 5.6 เท่าของรายได้ต่อเดือน ปี 2560 ครัวเรือนมีหนี้เฉลี่ย 178,994 บาท หรือประมาณ 6.6 เท่าของรายได้ โดยเฉพาะในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่อยู่ในช่วงเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ครัวเรือนมีหนี้เฉลี่ย 205,679 บาท หรือประมาณ 7.5 เท่าของรายได้ต่อเดือน แสดงว่าครัวเรือนที่เป็นหนี้มีอัตราการสร้างหนี้สูงกว่าการสร้างรายได้
การเป็นหนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งไม่ดี แต่ขึ้นอยู่กับว่าหนี้ที่เกิดขึ้นนำไปใช้ทำอะไร ถ้าเป็นหนี้ที่สร้างขึ้นเพื่อนำไปซื้อทรัพย์สิน เช่น บ้าน ที่ดิน หรือทองคำ ถือว่าเป็นการสร้างหนี้ที่สร้างมูลค่า แต่ถ้าเป็นการสร้างหนี้เพื่อนำไปใช้จ่ายแล้วหมดไป เช่นซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ไปเที่ยวต่างประเทศ สิ่งนี้ถือว่าเป็นการสร้างหนี้ที่ไม่สร้างมูลค่า ดังนั้น หากจำเป็นต้องเป็นหนี้แล้ว ขอให้เป็นหนี้ที่สร้างมูลค่าก็จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับครัวเรือนในอนาคต
การสร้างหนี้ของภาคครัวเรือน พบว่าส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ได้สร้างมูลค่า แต่เป็นการสร้างหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคมากที่สุด หรือประมาณร้อยละ 38 ของหนี้ทั้งหมด และมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันกับปริมาณสินเชื่อบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคลของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้น
โดยในไตรมาสแรกปี 2565 มียอด 1.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3.7 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2550 แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมในการสร้างหนี้สำหรับนำมาใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ
จนกลายเป็นโครงสร้างสังคมแห่งการเป็นหนี้เพื่อการบริโภคหรือ เพื่อตอบสนองความอยากมีอยากได้มากกว่าการเป็นหนี้เพื่อใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น หรือเป็นหนี้เพื่อสร้างมูลค่าหรือความมั่นคงทางการเงินให้กับครัวเรือน
ถึงแม้ผลการสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทย ปี 2563 จะมีทักษะทางการเงินเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นทั้งด้านความรู้ พฤติกรรม และทัศนคติทางการเงินก็ตาม แต่คนจำนวนมากยังมีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน (ประมาณ 3-6 เท่าของรายจ่ายในแต่ละเดือน) ไม่เพียงพอ ร้อยละ 62 ไม่สามารถวางแผนเกษียณได้ตามที่ตั้งใจ ร้อยละ 80 และไม่สามารถบริหารจัดการเงินให้เพียงพอกับรายจ่ายและการผ่อนชำระหนี้สำคัญประมาณร้อยละ 60
ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีหลายภาคส่วนมีความพยายามที่จะยกระดับทักษะทางการเงินของประชาชน ไม่ว่าจะจัดอบรมให้ความรู้โดยการบรรยายให้กับบุคลากรองค์กรของภาครัฐและเอกชน การจัดประกวดโครงงานทางการเงินเพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในการวางแผนทางการเงินในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา หรือมีการใช้สื่อโซเชียลเป็นช่องทางในการส่งเสริมความรู้ทางการเงินในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แต่ก็ยังมีประชาชนเป็นจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ทางการเงิน และประชาชนจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว จึงยังไม่ให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงิน แต่มุ่งให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้เป็นหลัก
สำหรับกลุ่มที่มีรายได้สูงปัญหาด้านภาระหนี้ก็จะไม่ได้ผลกระทบมากนัก แต่สำหรับกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ ปัญหาจากภาระหนี้ย่อมจะมีความอ่อนไหวและเปราะบางมากกว่า
การบริหารจัดการเงินจึงควรนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตเพื่อให้ครัวเรือนที่จะเป็นหนี้ที่สร้างมูลค่า ลดการเป็นหนี้ที่ไม่สร้างมูลค่า มีจังหวะเวลาในการสร้างหนี้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับความพร้อมทางการเงินของตนเอง และที่สำคัญมีภูมิคุ้มกันทางการเงิน ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ประชาชนยังสามารถดำเนินชีวิตทางการเงินของตนเองโดยปกติ
ในการยกระดับทักษะทางการเงินให้ทั่วถึงและได้ผลอย่างเป็นระบบ จึงควรส่งเสริมความรู้ทางการเงินในทุกช่วงของชีวิตตั้งแต่ช่วงศึกษา ช่วงเข้าทำงาน และช่วงทำงานในองค์กรต่างๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน เพื่อปลูกฝังค่านิยมที่ควรจะเป็น โดย
ช่วงศึกษา มีการบรรจุหลักสูตรการวางแผนทางการเงินเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนทุกระดับชั้น เริ่มจากง่ายไปหายาก การแยกแยะว่าอะไรคือรายจ่ายจำเป็นหรือไม่จำเป็น การออมเงินสำหรับใช้ยามฉุกเฉิน การวางแผนเกษียณ การคิดดอกเบี้ย การตัดสินใจใช้เงินบนฐานของความคุ้มค่า การลงทุน และการรู้เท่าทันภัยทางการเงินในทุกรูปแบบ
ช่วงเข้าทำงาน มีการบรรจุเนื้อหาในการสอบเข้าทำงานในภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะเรื่องการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากทบต้น การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และมูลค่าเงินตามเวลา ซึ่งคนไทยได้คะแนนน้อยที่สุด 3 อันดับแรก (ผลการสำรวจทักษะทางการเงิน ปี 2563) รวมถึงการตัดสินใจทางการเงินที่คำนึงถึงค่าเสียโอกาสของเงิน เป็นต้น
ช่วงทำงาน มีการปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเงินขององค์กร โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีความรู้ มีทัศนคติ และพฤติกรรมทางการเงินที่พึงประสงค์ รวมทั้งการสร้างบรรยากาศภายในองค์กรของตนเองให้บุคลากรมีการวางแผนทางการเงิน มีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เหมาะสม ไม่เกินกำลังของตนเองและครอบครัว
หากสามารถนำแนวทางเหล่านี้ไปปรับใช้ตลอดทั้ง 3 ช่วงชีวิต เชื่อว่าภาคครัวเรือนไทยจะหลุดพ้นจากความเปราะบางทางการเงิน และมีภูมิคุ้มกันทางการเงิน ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติโควิด หรือวิกฤติทางการเงินอื่นๆ รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่สามารถพึ่งพาตนเองในยามชรา ครัวเรือนไทยก็จะสามารถทนทานและสามารถที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนต่อไป.
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ปราณีต โชติกีรติเวช
นภัทร พัฒนปรีชา
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล