ไปสัมผัสบรรยากาศโอลิมปิก ปารีส 2024
ฝรั่งเศสน่าจะไม่ขาดทุนจะจากการจัดโอลิมปิกครั้งนี้ เพราะลงทุนสิ่งก่อสร้างไม่มากนักและส่วนใหญ่ลงทุนจ้างคนมาจัดการเสียมากกว่า ตั๋วก็ขายแพงและขายหมด คนฝรั่งเศสเองก็มาเชียร์เยอะ ใครแข่งกับเจ้าภาพจะถูกกองเชียร์กดดันสุดๆ ดิฉันเห็นว่าจะจัดกีฬาแบบนี้ได้ ต้องเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง และประเทศเพื่อนบ้านมีรายได้สูง
โอลิมปิกปารีส 2024 ครั้งนี้สิ่งที่ต้องชมเชยคือการจัดการค่ะ ทั้งการจัดการเรื่องการสื่อสารกับผู้ชมและการจัดการเรื่องอื่นๆ ซึ่งดิฉันเล่าไปในสัปดาห์ก่อนว่าเขาใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์มาก
ผู้ซื้อบัตรชมการแข่งขันทุกคนจะได้รับการติดต่อทางอีเมล์ให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น PARIS2024 ซึ่งเป็นเรื่องข้อมูลทั่วไป ตารางการแข่งขันในภาพรวม ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่จัดการแข่งขันต่างๆ และร้านขายของที่ระลึกออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีคะแนนสดๆของการแข่งขันทุกรายการ และมีการแจ้งเตือนเมื่อมีการแข่งขันกีฬา และการลงสนามของนักกีฬาของประเทศที่เราสนใจอีกด้วย
ดิฉันก็ใช้แอพนี้ในการติดตามการแข่งขันของนักกีฬาไทย ในการแข่งขัน เพราะที่ฝรั่งเศส การถ่ายทอดสดทางทีวี จะเน้นเฉพาะกีฬาที่มีนักกีฬาชาวฝรั่งเศสแข่งขันเท่านั้น ทำให้การรับชมกีฬา เมื่ออยู่ในปารีส มีน้อยกว่าตอนอยู่เมืองไทยมาก ถ้าไม่ได้อยู่ในสนาม ก็จะไม่สนุกเท่ากับอยู่ในสนาม
การเดินทางไปสนามสะดวกมากด้วยการใช้ บริการของ ile de France Mobilites ซึ่งปกติก็มีจำหน่ายอยู่แล้ว เรียกว่า Navigo easy เป็นบัตรโดยสารร่วมทุกระบบในกรุงปารีส แต่ช่วงโอลิมปิก 20 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม 2567 จะเป็นกรณีพิเศษที่กำหนดโซนโดยสารกว้าง และรวมรถบัสประจำทางด้วย ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาซื้อตั๋วโดยสาร สะดวกมากจริงๆ ราคาเป็นแบบเหมา ยิ่งซื้อหลายวัน ราคาต่อวันก็ยิ่งถูกลง คือ จากวันละ 16 ยูโร ก็จะเหลือวันละ 10 ยูโร (400 บาท) แต่ดิฉันไปแอบอ่านแล้วค่ะ คนท้องถิ่นที่ซื้อตั๋วเดือน จะจ่ายประมาณ 1.73 ยูโรต่อเที่ยวในช่วงนี้
เส้นทางหลายเส้นถูกปิดเพื่อทำเป็นสนามแข่งขัน ดังนั้นวิธีเดินทางที่ดีที่สุดคือรถสาธารณะค่ะ โดยแอพ PARIS2024 Ticket จะมีโปรแหรมการแข่งขัน วิธีการแข่ง กฎ กติกา เพื่อให้ผู้ที่ยังไม่เคยชมกีฬานั้นๆมาก่อนเข้าใจและรับชมได้สนุกขึ้น นอกจากนี้สามารถลงปฏิทินให้เราได้ว่าเรามีตั๋วดูอะไร วันไหน นอกจากนี้ยังมีผังที่นั่งโดยรวม ผังห้องน้ำ ร้านขายอาหารว่างให้เราได้วางแผนการเข้าชมของเราด้วย และจะมีการเชื่อมไปยังแอป Transport สำหรับการเดินทางไปสนาม แจ้งการปิดเส้นทาง และมีการอัพเดทให้สามารถซื้อตั๋วโดยสารออนไลน์ได้อีกด้วย
เคยเขียนว่ากรุงปารีสเพิ่มอัตราภาษีท่องเที่ยวเมื่อหลายเดือนก่อน ตอนนี้ต้องมารับผลแล้วค่ะ โรงแรมที่จองไว้และจ่ายเงินตั้งแต่ที่แล้ว พอมาเข้าพักในปีนี้ ต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีกคืนละ 10 ยูโร ค่าที่พักที่แพงมาในช่วงโอลิมปิก (3-4 เท่าจากราคาปกติ) ก็เลยยิ่งแพงขึ้นอีก
การจัดการจราจรใช้วิธีเดียวกับโอลิมปิก 2008 ที่ปักกิ่ง คือจัดให้มีเลนพิเศษเป็นเลนซ้ายสุด ให้วิ่งระหว่างสนามบินกับเมือง และจากสนามแข่งขันต่างๆรวมถึงรับส่งนักกีฬาและผู้เกี่ยวข้องด้วย สะดวกมากๆ
ก่อนมาดิฉันกังวลเรื่องความปลอดภัยมาก จนแจ้งให้ผู้ได้จัดทราบตอบเขาทำแบบสอบถามมาเมื่อต้นปี ว่าสิ่งมี่กังวลที่สุดคือเรื่อง “ความปลอดภัย” และยังได้รับคำเตือนมากมายจากคนรู้จักเกี่ยวกับการฉกชิงวิ่งราว จึงเตรียมมารับศึกอย่างเต็มที่ แต่งตัวธรรมดาๆ เอาของสำคัญเก็บไว้ที่โรงแรม ฯลฯ
ปรากฏว่า รัฐบาลและผู้จัดงานคงได้รับทราบเกี่ยวกับความกังวลของผู้มาชมกีฬา จึง “จัดเต็ม” เรื่องความปลอดภัย ดิฉันได้คุยกับนักดนตรีที่มาแสดงใน Fan Zone ที่ศาลาว่าการกรุงปารีส เขาบอกว่าเขาเป็นคนปารีส เขารู้สึกแฮปปี้มากๆเลยว่าปารีสช่วงนี้ดีมากๆ ปลอดภัย ผู้คนยิ้มแย้มเป็นมิตร และบรรยากาศต่างๆดีมาก ดิฉันก็เห็นด้วยจริงๆ
รถไฟทั้งบนดินและใต้ดินขบวนหนึ่งจะมีตำรวจชายหญิงประมาณ 5-6 คน เรียกว่าแกงก์ฉกชิงวิ่งราวต่างกลัว นอนอยู่ในบ้านกันหมด ไม่กล้าออกมา มีตำรวจทุกซอกทุกมุมของถนน คงเกณฑ์กันมาจากทั่วประเทศ ตำรวจม้าก็มาลาดตระเวณ และยังมีทหารถือปืนกลเดินไปเดินมา ตามจุดสำคัญๆ ก็มีมาก ตำรวจบางคนก็ใจดี เห็นเราเก้ๆกังๆถ่ายรูปเซลฟี่ ก็เข้ามาอาสาถ่ายรูปให้ เลยขอเซลฟี่กับตำรวจด้วยเลยค่ะ ระหว่างนั้น ก็มีตำรวจนอกเครื่องแบบมาอาสาถ่ายรูปให้อีกต่อ จึงทราบว่ามีตำรวจเต็มไปหมดทั้งในและนอกเครื่องแบบ ดิฉันถ่ายไปก็ขอบคุณตำรวจไปที่ทำให้เรารู้สึกอุ่นใจ
ใครไม่มีสมาร์ทโฟน มาดูโอลิมปิกไม่ได้ค่ะ เว้นแต่จะมากับคนที่มีสมาร์ทโฟนเพราะระบบตั๋วเป็นตั๋วแบบอิเล็กทรอนิกส์หมด หนึ่งวันก่อนถึงการแข่งขันในโปรแกรมที่เราจอง เขาจึงจะส่งคิวอาร์โค้ดมาให้เพื่อใช้เข้าสนามแข่ง ถ้าเป็นสนามเล็กก็มีเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องอ่านคิวอาร์แบบมือถือ ยิงตั๋วให้เรา แต่ถ้าเป็นสนามใหญ่เช่น สนามกีฬาแห่งชาติ ก็จะติดเครื่องสแกนตั๋วไว้ที่ประตู
ระบบป้าย ระบบการทำเครื่องหมายบอกทางส่วนมาก (95%) จะชัดเจน ไม่ค่อยจะมีโอกาสหลงทางหากไปพร้อมๆกันในเวลาที่กำหนด คือไปก่อนการแข่งขัน 1.5 ชั่วโมง
ข้อเสียอย่างหนึ่งคือ เขาตั้งใจว่าจะสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ให้น้อย แต่ของที่มีอยู่บางครั้งก็ทรุดโทรม เช่นสนามแข่งขันวอลเล่ย์บอล ใช้ South Paris Arena ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานแสดงสินค้าที่สร้างตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วก็เอาสแตนเชียร์เหล็กชั่วคราวมาใส่ ดูไม่สวยงามเท่าไร แต่ก็ใช้งานได้ รูปในจอทีวีสวยงามเพราะใช้สีอ่อนทำพื้นสนาม จึงทำให้ห้องน้ำไม่เพียงพอ วันแรกๆคิวยาวหลักร้อยคน รอกัน 20-30 นาที แต่พอวันถัดๆมา เขาก็เอาห้องน้ำเคลื่อนที่มาเสริม
แต่สนามที่น่าทึ่งก็มีนะคะ เช่นสนามแข่งเทควันโด้ ใช้ Grand Palais สถานที่หรูหรา แต่ก็เอาสแตนเชียร์เหล็กมาติดตั้งเช่นกัน ที่นั่งสูงมากๆ ขนาดอยู่ตรงกลางๆ ก็ยังเดินจนเหนื่อยเลยค่ะ ผู้ใช้วีลแชร์มีที่นั่งโซนพิเศษค่ะ
ที่เห็นสร้างใหม่คือสถานีรถไฟใต้ดินสาย M14 ที่ไปถึงสนามกีฬาแห่งชาติค่ะ สร้างใหม่ดูสวยงาม แค่วิศวกรที่ไปด้วยบอกว่างานคงเร่งมาก ไม่เรียบร้อย
สถานีรถไฟหลายๆแห่งก็ทาสีใหม่ ปูกระเบื้องใหม่ เร่งปูจนหลุดร่วงแหว่งเป็นบางส่วนก็มี แต่ก็ถือว่ากรุงปารีสในช่วงนี้สะอาด น่าอยู่กว่าปกติค่ะ
การจัดการคมนาคมเข้าและออกจากสนามทำได้ดีใช้วิธีเข้าทางหนึ่ง ออกทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้สับสน และกันเส้นทางพร้อมมีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครมาคอยชี้ทางเต็มไปหมด เรียกได้ว่า อาสาสมัคร นักศึกษามหาวิทยาลัย/นักเรียนมัธยมปลาย ทั่วปารีสและเมืองบริวาร คงถูกชวนมาช่วยงานกันหมด
ของที่ระลึกราคาแพง แต่คนก็ซื้อกันเยอะมาก คิวรอเข้าร้านขายของอาจจะยาวถึง 100 เมตร เรียกได้ว่า ถ้าอยากได้ของที่ระลึก ต้องอดทนมากๆ แต่เขามีขายออนไลน์ค่ะ เผอิญดิฉันไม่ทราบว่าจัดส่งเมืองไทยหรือไม่ แต่รู้สึกว่าเขาเน้นขายคนยุโรป ซึ่งก็มาชมการแข่งขันกันมากจริงๆ
แม้บัตรเข้าชมจะแพง แต่ก็มีผู้เข้าชมเต็มสนามทุกสนามค่ะ และชมแบบมีมารยาทดีด้วย ไม่ลุกก่อนการแข่งขันจบ
สรุปแล้ว ฝรั่งเศสน่าจะไม่ขาดทุนจะจากการจัดโอลิมปิกครั้งนี้ เพราะลงทุนสิ่งก่อสร้างไม่มากนักและส่วนใหญ่ลงทุนจ้างคนมาจัดการเสียมากกว่า ตั๋วก็ขายแพงและขายหมด คนฝรั่งเศสเองก็มาเชียร์เยอะค่ะ ใครแข่งกับเจ้าภาพจะถูกกองเชียร์กดดันสุดๆ ดิฉันเห็นว่าจะจัดกีฬาแบบนี้ได้ ต้องเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง และประเทศเพื่อนบ้านมีรายได้สูงด้วย อย่างบ้านเราหากจะจัดโอลิมปิก ต้องขาดทุนแน่นอนค่ะ
หมายเหตุ : โลกสมัยใหม่ทำให้เราต้องพึ่งโทรศัพท์มือถือมากจริงๆ ดิฉันเห็นว่า เมืองท่องเที่ยวต้องมีที่ชาร์จแบตหลายจุด แบบที่ปารีสมี เพราะสำหรับนักท่องเที่ยว หากถ่ายรูปหรือใช้แอพนำทางจนแบตเตอรี่หมด จะสามารถชาร์จได้ตามสถานีรถไฟใหญ่ๆ หรือบนรถไฟบางขบวน หรือแม้กระทั่งป้ายรถเมล์ก็มีที่ให้ชาร์ตแบต เพียงแต่หัวชาร์จของเราต้องเสียบของเขาได้เท่านั้น ถือว่าสะดวกมาก และช่วยให้การท่องเที่ยวราบรื่นขึ้นมากค่ะ