ไปให้ถึงวันนั้น

ไปให้ถึงวันนั้น

กรอบพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2558-2577) ที่ตั้งเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งที่สำคัญและควรได้รับการสานต่อ หากไม่สานต่อ อนาคตของเราไม่มั่นคงแน่นอน ไม่ต้องดูอื่นไกล ประเทศจีนที่เริ่มเห็นช่องว่างและความเหลื่อมล้ำกลับมา ก็เริ่มจะมีมาตรการเข้มงวดในการลดความเหลื่อมล้ำนั้น

บทความ “สักวันหนึ่ง” ได้รับการแชร์ไปอย่างกว้างขวาง และหลายคนถามกลับมาว่า ช่วยเขียนต่อหน่อยสิว่า หากท่านลีกวนยู ต้องบริหารประเทศไทยในวันนี้ ท่านจะมอง จะคิด และจะทำอย่างไร

ดิฉันไม่ใช่ผู้มีประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมือง แต่จะนำวิชาอักษรศาสตร์ เกี่ยวกับการพยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา และเอาตัวเราไปลองอยู่ในจุดที่ท่านต้องอยู่นะคะ

พฤติกรรมที่โลกตะวันตกเรียกว่า NIH (Not Initiated Here) หรือ การรื้อทิ้งยุทธศาสตร์เก่าที่ผู้บริหารชุดเดิมคิด หรือวางไว้ เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้องค์กรหรือประเทศไปไม่ถึงไหนเสียที ดิฉันเห็นว่า กรอบพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2558-2577) ที่ตั้งเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งที่สำคัญและควรได้รับการสานต่อ หากไม่สานต่อ อนาคตของเราไม่มั่นคงแน่นอน ไม่ต้องดูอื่นไกล ประเทศจีนที่เริ่มเห็นช่องว่างและความเหลื่อมล้ำกลับมา ก็เริ่มจะมีมาตรการเข้มงวดในการลดความเหลื่อมล้ำนั้น เช่น เรียกเงินรายได้ของผู้บริหารภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่สูงเกินกว่าเหมาะสมคืนมา เป็นต้น

สำหรับการวางแผนอนาคต ก่อนที่จะวางแผน เราควรต้องรู้จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง และรู้จักสภาวะแวดล้อมของตัวเอง ประเทศไทยตอนนี้ หากจะมาเริ่มวางแผนใหม่ว่าเราอยากจะเด่นด้านไหนในโลก ก็ถือว่าค่อนข้างสาย แต่คติของดิฉัน “สายก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำ”

เราอาจจะมี หรือเคยมีจุดแข็งอื่นๆ แต่หากจะรวบรัดดูว่าในตอนนี้ มีจุดแข็งอะไรบ้างที่ยังพอมีช่องให้เราได้ปักหลักยืนและสร้างต่อเพื่อกลายเป็นจุดเด่นของโลก ดิฉันตอบได้ว่า “งานฝีมือและศิลปะ”

ผู้ลงทุนชาวต่างชาติที่มาสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินในประเทศไทย เคยบอกว่า “คนไทยมีทักษะในการใช้มือที่ดีมาก” ซึ่งคนในประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไม่มี งานฝีมือที่ต้องการความประณีต ความสวยงาม และความละเอียด เราจะทำได้ดีมากๆ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงค้นพบ ทรงฟื้นฟูรักษาและทรงส่งเสริมเพิ่มเติมอย่างมากในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา ส่งต่อมาถึงงานฝีมือในอุตสาหกรรมด้วย

เราควรจะวางตำแหน่งตัวเองเป็นศูนย์กลางของการออกแบบและเป็นต้นแบบของการใช้ชีวิตอย่างฉลาดและมีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นออกแบบสถาปัตยกรรม ออกแบบผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นของใช้ หรือผลิตภัณฑ์อเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ออกแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยใช้ทั้งวิทยาศาสตร์สุขภาพ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาโบราณและสมุนไพรของไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษายามเจ็บป่วย การฟื้นฟูหลังเจ็บป่วย การดูแลอย่างต่อเนื่อง การปรับใช้ธรรมชาติมาบำบัดความเครียดทางอารมณ์ การแต่งเพลง ดนตรี และภาพยนตร์เพื่อให้ความบันเทิง การออกแบบและค้นหาสูตรและตำราอาหารที่ดีและมีคุณค่า ออกแบบที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อม สนามเด็กเล่น ออกแบบสวน ออกแบบป่า วางผังและรูปแบบเมือง ออกแบบเส้นทางการสัมผัสสินค้าและบริการของผู้บริโภค ออกแบบเส้นทางการสัมผัสประสบการณ์ในการมาเยือนของนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีความสนใจแตกต่างกัน ไปจนถึงออกแบบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

เมื่อเราเน้นการออกแบบ เราก็จะได้แสดงฝีมือของคนในชาติด้วยการออกแบบจัดการผังเมืองให้สะอาด สวยงาม น่าอยู่ ยั่งยืน จัดการขยะและของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ทำทุกจุดให้สวยงาม จะสวยแบบธรรมชาติ สวยแบบตกแต่ง หรือสวยแบบไหนก็ได้ 

เราควรจะเชิญบุคลากรเก่งๆของเราที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศมาช่วยกัน ไม่กลับมา ก็สามารถช่วยจากภายนอกได้ การศึกษาและปรับระบบของเราให้รองรับการกลับมาของบริษัทของไทย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีธุรกิจบริการและเทคโนโลยี) ที่ไปจดทะเบียนในต่างประเทศ ซึ่งอาจไปเพราะมีข้อกำหนดที่เป็นสากลกว่า มีความสะดวกในการระดมทุนมากกว่า ฯลฯ และเชิญชวนมาใช้บริการของตลาดทุนไทย ก็จะช่วยให้ตลาดทุนของเรากลับมาน่าสนใจขึ้น 

ศิลปะในการรักษาโรค ฟื้นฟูสภาพร่างกายให้แข็งแรง ให้มีอายุยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในองค์รวม (Health & Wellness)

ศิลปะในการปรุงและจัดเตรียมอาหารการกินให้สวยงาม รสชาดอร่อย และมีคุณค่าต่อร่างกาย (Culinary Art) 

ศิลปะในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รักษาสุขภาพโดยเน้นการป้องกัน แต่มีทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่แข็งแกร่งพร้อมให้บริการในระดับสุดยอดของโลก (World Class Holistic Healthcare) 

ศิลปะในการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพและมีความสุข บ้านเมืองสงบร่มเย็น ประชากรมีความชื่อสัตย์สุจริต ชัดเจนและกระทำตามคำพูดและคำมั่นสัญญา ละอายและเกรงกลัวต่อบาปในการเอาเปรียบและหลอกลวงผู้อื่น (Quality Life & Society)

การท่องเที่ยวของเราไปได้ดี แต่ต้องหาจุดดึงดูดใหม่ๆ เราเสียเปรียบตรงที่ไม่มีฤดูกาลสี่ฤดู ให้นักท่องเที่ยวต้องกลับมาสัมผัสอย่างน้อยสี่ครั้งในหนึ่งจุดหมาย เราจึงต้องสร้างจุดท่องเที่ยวขึ้น (Man-Made) ซึ่งในช่วงหลังๆ จุดท่องเที่ยวที่สร้างในแนวธรรมชาติ หรือเกษตร สามารถใช้เป็นแรงดึงดูดที่ดีได้ค่ะ

ดิฉันขอยกตัวอย่าง วัดร่องขุ่น ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ทำให้จังหวัดเชียงรายเป็นจุดหมายที่ “ต้องไป” สำหรับนักท่องเที่ยวหลายสิบล้านคน 

สิ่งที่ต้องทำโดยเร่งด่วนในตอนนี้คือ

  • ปราบปรามคอร์รับชั่นและการทุจริตอย่างเด็ดขาด เอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมาย สร้างค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสุจริต ผิดและถูก
  • ต้องเอาจริงเอาจังกับการศึกษา สอนให้ประชากรรับผิดชอบต่อตนเอง สอนให้คำนึงถึงส่วนรวมก่อนส่วนตน สอนให้รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เยาวชนต้องได้เรียน เท่าที่เขาจะเรียนไหว และกำหนดการผลิตคนที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับยุทธศาสตร์ของประเทศ 
  • ทุกคนต้องสื่อสารได้ 2-3 ภาษา (ไทย/อังกฤษ และภาษาที่สามเลือกเอาที่เหมาะสมและสนใจ เช่นภาษาจีนกลาง ภาษาของประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ คือ มาเลย์ ลาว เขมร พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย หรือภาษาของประเทศที่ตนเองมีความสนใจในวัฒนธรรมและความรู้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ฮินดี ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน ฯลฯ) 
  • ไม่ว่าใครจะอายุเท่าใด หากต้องการเรียนเพื่อเพิ่มทักษะ ทั้งด้านอาชีพ และด้านภาษา ควรเปิดโอกาสให้เรียน และต้องหาทุนมาช่วยสนับสนุน
  • สร้างวินัยของคนในชาติ และค่านิยมให้อดทน ขยันขันแข็ง ไม่งมงายกับโชคและเครื่องราง อย่ารอให้คนอื่นมาช่วย ต้องพยายามช่วยตัวเองก่อน ไม่ให้อะไรง่ายๆกับประชาชน ไม่แจกเงินให้ใช้ แต่แจกเงินให้นำไปเพิ่มทักษะและความรู้ จะได้มีเงินใช้ไปตลอดชีวิต
  • เราต้องการสร้างประชากร เราควรจัดระเบียบการรับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานให้ถูกต้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และต้องคุมจำนวนประชากรที่ถูกสร้างโดยพ่อแม่วัยใส หรือพ่อแม่ที่มีลูกแล้ว เปลี่ยนคู่ มีลูกอีก ไม่เลี้ยงดู อบรมสั่งสอน เป็นภาระต่อสังคม

ถ้าทำได้ทุกอย่างนี้ภายในสิบปี ถ้ามีรัฐบาลที่ตั้งใจทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เชื่อได้ว่า เราจะมีอนาคตที่ดี และในชั่วชีวิตของดิฉัน จะได้เห็นวันที่เราจะแซงหน้าสิงคโปร์แน่นอน