แจกเงินสด 10,000 มาถูกทาง สยบเสียงวิจารณ์อุ้ม 'เจ้าสัว'
กรณีเงินดิจิทัล 10,000 ล่าสุด ปรับเป็นแจกเงินสด 10000 บาท มาถูกทาง สยบเสียงวิจารณ์อุ้ม 'เจ้าสัว'
เชื่อว่า เสียงเต้นของหัวใจอันลุ้นระทึกของคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน และ ผู้พิการ คงเป็นไปในจังหวะเดียวกัน นั่นคือ “มีความหวัง” ที่จะได้ เงิน 1 หมื่นบาท (10,000 บาท) เป็นกลุ่มแรก ของนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต หรือ แจกเงินดิจิตอล 10000 ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
หลังจากมีความชัดเจนจากปากของ นายกฯ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร “บิ๊กอ้วน” นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม ตลอดจนรัฐมนตรีที่รับผิดชอบนโยบายฯ ที่ออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่าจะปรับเปลี่ยนการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต จากเงิน “ดิจิทัล วอลเล็ต” มาเป็น “เงินสด” หรือ “เงินบาท” ทั้งยังมีความชัดเจนด้วยว่า คนกลุ่มแรก หรือ เฟสแรก ที่จะได้เงินสด ก็คือ ผู้ถือสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บุตรคนจน และผู้พิการ ประมาณ 14.5 ล้านคน นั่นเอง
ยิ่งกว่านั้น ยังชัดเจนถึงขั้นระบุได้ว่า จะเริ่มโอนเงินตั้งแต่วันที่ 25-30 กันยายนนี้ อีกด้วย
นับเป็นข่าวดีของ “คนจน” และผู้พิการ ซึ่งถือว่า เป็นคนกลุ่มเปราะบาง และอ่อนแอที่สุดในสังคมไทย
“...เศรษฐกิจรอไม่ได้ เราเลยต้องแบ่งเฟส ดิจิทัลยังอยู่...” “นายกฯอุ๊งอิ๊ง” ให้สัมภาษณ์ ก่อนโยนให้รองนายกฯและรมว.คลัง เป็นคนตอบในรายละเอียดหลังมีความชัดเจน
ขณะที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยรายละเอียดว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป โดยเฟสแรกจะแจกให้กับกลุ่มเร่งด่วน คือ กลุ่มเปราะบาง (กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน) จ่ายเงินสด จำนวน 13.5 ล้านราย กลุ่มคนพิการ จ่ายเงินสด จำนวน 1 ล้านราย รวมประมาณ 14.5 ล้านราย ให้เริ่มใช้จ่ายก่อนวันที่ 30 กันยายน 2567
ด้าน “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คนระดับ“คีย์แมน” ของ รัฐบาล ยืนยัน รัฐบาลเดินหน้า ดิจิทัลวอลเล็ต โดยจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกวันที่ 17 กันยายน2567 โดยจะปรับเปลี่ยนมาให้เงินสดทั้งหมดกับคนที่ได้ลงทะเบียนแล้วกว่า 30 ล้านคน
สำหรับรอบแรก จะเป็น กลุ่มเปราะบาง ประมาณ 14 ล้านคน แจกเป็นเงินสด 10,000บาท ใช้งบประมาณปี 2567 โดยโอนเข้าบัญชีที่มีอยู่แล้ว สามารถนำไปใช้ที่ไหนก็ได้ ไม่จำกัดร้านค้า และชนิดสินค้า ไม่ต้องมีสินค้าต้องห้าม ตามเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อครม.อนุมัติแล้ว คาดสามารถแจกเงินได้ภายในเดือนกันยายนนี้ หรือไม่เกินเดือนตุลาคม 2567
ส่วนที่เหลือ คือ กลุ่มคนลงทะเบียนในระบบแล้ว และไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง รัฐบาลจะแจกเป็นล็อตที่สอง ใช้งบประมาณปี 2568 จะแจกเป็นเงินสด 5,000 บาทก่อน ภายในปลายปี 2567 อีก 5,000 บาท หากรัฐบาลวางระบบดิจิทัลได้ทัน อาจจะแจกเป็น เงินดิจิทัลวอลเล็ต แต่หากไม่ทันอาจจะแจกเป็นเงินสดเช่นกัน คาดจะดำเนินการส่วนที่เหลือได้ในปีหน้า 2568
“เป้าหมายโครงการในการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรก คาดว่าจะกระตุ้นให้เงินสะพัดในระบบประมาณ 140,000 ล้านบาท และรวมกับกลุ่มที่ 2 คาดว่าจะมีเงินหมุนในระบบสองรอบประมาณ 280,000-300,000 ล้านบาท” นายภูมิธรรมกล่าวถึงสิ่งที่รัฐบาลคาดหวัง
สำหรับรายละเอียดในการแจกเงินกับคนกลุ่มแรก หรือ รอบแรก เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เผยว่า การจ่ายเงินใน โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเลต สำหรับกลุ่มเปราะบางจำนวน 14.5 ล้านคน ซึ่งเป็นเฟสแรกนั้น แบ่งเป็นผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ เริ่มโอนตั้งแต่วันที่ 25-30 กันยายนนี้ เป็นการโอนเงินเข้าสู่ระบบพร้อมเพย์ที่เชื่อมเลขบัตรประชาชน โดยแบ่งตามวันที่ดังนี้
- วันที่ 25 กันยายน กรมบัญชีกลาง โอนเข้าบัญชีผู้พิการ 2.1 ล้านคน และผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขหลังบัตรประชาชน 0
- วันที่ 26 กันยายน ผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขหลังบัตรประชาชน 1, 2, 3
- วันที่ 27 กันยายน ผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขหลังบัตรประชาชน 4, 5, 6, 7
- วันที่ 30 กันยายน ผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขหลังบัตรประชาชน 8, 9
“เราจะทยอยโอนผ่านพร้อมเพย์ โดยจัดกลุ่มการโอนเงินแต่ละวันให้กับผู้ได้รับสิทธิ เพื่อไม่ให้กระทบการจ่ายเงินเดือนและอื่นๆ เฉลี่ยจ่ายเงินให้ผู้รับสิทธิกลุ่มดังกล่าววันละ 4-5 ล้านคน” นายลวรณ ชี้แจงเพิ่มเติม
ปัญหาก็คือ คนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บุตรคนจน ประมาณกว่าล้านคน ที่รัฐบาลมีการตรวจสอบ ปรากฏว่า ยังไม่ทำระบบพร้อมเพย์ คนกลุ่มนี้จะต้องรีบทำพร้อมเพย์ หรือหากไม่แน่ใจ ก็ต้องรีบตรวจสอบกับทางธนาคาร
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขในการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ที่เคยกำหนดเอาไว้ ก็ยังยึดถือตามนั้น กล่าวคือ ประชาชนจำนวนประมาณ 50ล้านคน คือ กลุ่มเป้าหมายทั้งหมด ซึ่งตอนนี้ลงทะเบียนแล้ว 32 ล้านคน
โดยมีเกณฑ์ คนอายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี
และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน500,000 บาท นับเฉพาะเงินฝากสกุลบาท รวมกันทุกบัญชี ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เช่น บัญชีเงินฝากประจำ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ บัตรเงินฝาก ใบรับเงินฝาก เงินฝากกระแสรายวัน ไม่นับรวมสลากออมทรัพย์สลากออมสิน หุ้น พันธบัตร โดยนับวันสิ้นสุด 31มีนาคม 2567
เงื่อนไขในการใช้จ่าย กรณีได้รับแจกเป็น “เงินดิจิทัล วอลเล็ต” จะต้องใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
ส่วนกรณีระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า
ทั้งนี้ การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ รอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
นอกจากนี้ กลุ่มหลักที่จะโดนตัดสิทธิ ไม่เพียงแค่กลุ่มที่มีรายได้สูง หรือผู้ที่มีรายได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปี กรณีประกอบอาชีพค้าขาย ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภพ.20)
กลุ่มที่มีเงินฝากในธนาคารสูง ผู้ที่มีเงินฝากในสถาบันการเงินพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐรวมกันทุกบัญชีเกิน500,000 บาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567
ยังรวมถึง กลุ่มบุคคลที่เคยกระทำผิดเงื่อนไขโครงการของรัฐในอดีต หรือมีเรื่องการฟ้องร้องการเรียกเงินคืนอดีต ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10,000 ราย ด้วย
จากการปรับรูปแบบแจกเงินดิจิทัลฯ เป็นเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบาง และคนจน ดังกล่าว ดูเหมือนข้อครหาในเรื่องทำเพื่อใคร อุ้ม “เจ้าสัว” เจ้าของกิจการขนาดใหญ่หรือไม่ เริ่มเบาบางลง แม้ว่า ยังมีทั้งบวกและลบ
เริ่มจาก นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า การแจกเงินหมื่นบาทในรูปเงินสดภายใต้โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่จะให้กับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรกในช่วงเดือนกันยายน 2567 จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ให้เติบโตราว 3.5-4% และในภาพรวมจะช่วยกระตุ้น GDP ของทั้งปีให้เพิ่มขึ้นอีก 0.2-0.3% เป็น 2.7-2.8% จากเดิมที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตราว 2.5%
ขณะที่ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ทำจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตือนว่า การแจกเงินในครั้งนี้อาจจะผิดกฎหมายในหลายประเด็น ทั้งเรื่องการแจกเงินในรูปเงินสดอาจจะฝ่าฝืน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 9 วรรคสองและวรรคสาม
นอกจากนั้น ยังเกรงว่าเมื่อแจกเป็นเงินสด รัฐบาลจะไม่สามารถควบคุมการใช้เงิน ไม่ว่าในด้านพื้นที่ที่จะใช้ที่ไหนก็ได้ ไม่จำกัดร้านค้า ไม่จำกัดสินค้าและบริการ ไม่ว่ากรณีผู้รับนำเงินไปเล่นพนัน หรือซื้ออุปกรณ์วัสดุที่นำเข้า ซึ่งพายุหมุนที่จะเกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจกลับจะไปเกิดใต้ดิน หรือในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศแผ่วลง และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุผลที่รัฐบาลหันมาแจกเงินหมื่นแทนเงินดิจิทัล วอลเล็ต ว่า เงินงบประมาณ 2567 ต้องรีบใช้ภายในสิ้นปีงบประมาณ คือกันยายน 2567เมื่อระบบพัฒนาไม่ทัน จึงต้องรีบระบายเงินก้อนแรก ประมาณ 160,000 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มผู้เปราะบาง 14.5 ล้านคนก่อน
งบส่วนที่เหลืออีก ประมาณ 290,000 ล้านบาท เป็นของงบประมาณ 2568 ซึ่งสามารถจ่ายเป็นเงินดิจิทัลฯ ตามแผนเดิมได้ แต่คาดว่าจะแจกเป็นเงินสดอีก หลังคัดแยกคนที่รับงวดแรกไปแล้ว ด้วยเหตุแรงกดดันของประชาชน ต้องจ่ายเงื่อนไขเหมือนกัน และเกรงปัญหาทางกฎหมายหากจ่ายเป็นดิจิทัลฯ...
เห็นได้ชัดว่า กระแสคัดค้านต่อต้านที่ค่อนข้างรุนแรงก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง ถ้าจะแจกเป็นเงินดิจิทัลฯ ทำไมไม่แจกเป็นเงินสดไปเลย อย่างน้อยยังสามารถใช้จ่าย ค่าน้ำค่าไฟ ชำระหนี้สิน ค่าเทอมการศึกษาบุตรหลาน ฯลฯ
เรื่อง ถ้าแจกเป็นเงินดิจิทัลฯ 1 หมื่นบาท ผลสุดท้ายคนที่ได้เงินเข้ากระเป๋า(คนที่สามารถเบิกเป็นเงินสดได้) หรือได้ประโยชน์สูงสุด ก็คือ “เจ้าสัว” เจ้าของกิจการขนาดใหญ่ วันนี้เริ่มพูดยากแล้ว เพราะคนกลุ่มแรกที่ได้เงินสด หรือเงินบาทเข้ากระเป๋า และได้ประโยชน์ไปก่อน ก็คือ กลุ่มคนยากจน และผู้พิการ ซึ่ง เป็นกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด และสมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับความช่วยเหลือดูแลก่อนคนกลุ่มอื่น รวมถึงเชื่อว่า คนชั้นกลาง และคนรวย ก็ยอมรับได้ไม่ยาก ที่คนกลุ่มนี้ได้ประโยชน์สูงสุด
เพราะอย่าลืม เงินสด 1 หมื่นบาท ของคนยากคนจน และคนพิการ เมื่อเทียบกับคนชั้นกลางและคนรวยแล้ว “มีค่า” อย่างมาก เพราะจะช่วยสลัดโซ่ตรวนหลายอย่างออกจากชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะ “หนี้สิน” และความอดอยากยากแค้นในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ทุกอย่างต้องใช้ “เงิน”
เหนืออื่นใด เชื่อว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ติดใจ ที่รัฐบาลจะนำเงินภาษี มาช่วยคนจน พยุงชีวิตความเป็นอยู่ แม้เพียงเสี้ยวสั้น ให้ลืมตาอ้าปากได้ ไม่ถูกบีบรัดด้วยหนี้สิน หรือ มีโอกาสที่จะต่อยอดลงทุนบ้าง เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
ใครที่ออกมาคัดค้านต่างหาก ที่ต้องระวังจะถูกมองไม่ดี ทั้งในสายตาผู้คนในสังคม และในทางการเมือง อย่างนี้ถือว่า มาถูกทาง และสยบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ “อุ้มเจ้าสัว” ได้เป็นอย่างดี