ไทยรอดไม่ได้ถ้าแก้ปัญหายาวแบบคิดสั้น: สร้างระบบรับมือภัยพิบัติที่มีประชาชนในสมการ

ไทยรอดไม่ได้ถ้าแก้ปัญหายาวแบบคิดสั้น: สร้างระบบรับมือภัยพิบัติที่มีประชาชนในสมการ

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคเหนือของประเทศไทยต้องเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบศตวรรษที่สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน

แม้ว่าอุทกภัยจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ความรุนแรงและความถี่ของภัยพิบัติเหล่านี้เพิ่มขึ้นทุกปีจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม

ภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นนานนานครั้งอีกต่อไป แต่เป็นความท้าทายระยะยาวของประเทศ การออกแบบการรับมือจึงต้องอาศัยการมองยาว และวางกลไกในเชิงระบบที่มีประสิทธิภาพ

ประเทศไทยมีวิธีการจัดการภัยพิบัติแบบรวมศูนย์ผ่านหน่วยงานเช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น อำนาจตัดสินใจและการดำเนินการจากบนลงล่าง ส่วนกลางไปท้องถิ่น มักเผชิญกับความท้าทายเมื่อเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่เกินกำลังของทรัพยากรภาครัฐ มีระเบียบขั้นตอนยุ่งยากในการตัดสินใจ ทำให้ความช่วยเหลือไปถึงล่าช้า

เราจึงมักได้เห็นพลังพลเมือง กลุ่มคนในท้องที่ และองค์กรภาคประชาสังคม เป็นหัวหอกสำคัญเข้าไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อนเสมอเวลาเกิดภัยพิบัติในประเทศไทย และพอต่างคนต่างไป

หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยตามไปอีกที ไม่มีหน่วยงานประสานตรงกลาง และขาดทิศทางและข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาที่ชัดเจน จึงเกิดความมั่วที่หน้างานให้เห็นอยู่เสมอ ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าและลดทอนประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยพิบัติทั้งด้านส่งความช่วยเหลือเร่งด่วนเข้าไปในพื้นที่ ไปจนถึงงานฟื้นฟู

ทำไมต้องมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคประชาสังคมในการจัดการภัยพิบัติ?

ความรู้ในท้องถิ่นและการตอบสนองทันที: ชุมชนมักจะมีความเข้าใจในจุดเปราะบาง สภาพภูมิประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นที่ดีกว่าหน่วยงานภาครัฐ ประชาชนสามารถให้ข้อมูลที่ทันสถานการณ์ซึ่งหน่วยงานอาจไม่มีในช่วงหลังเกิดภัยพิบัติ

เช่น กลุ่มอาสาสมัครในท้องถิ่นและภาคประชาสังคมสามารถช่วยในการวางแผนเส้นทางการอพยพและการแจกจ่ายสิ่งของจำเป็น ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งเมื่อถนนถูกตัดขาดหรือทรัพยากรของรัฐไม่เพียงพอ

สร้างความเชื่อมั่นและความรับผิดชอบ: เมื่อประชาชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการตอบสนองต่อภัยพิบัติ พวกเขามักจะมีความเชื่อมั่นและยินดีที่จะร่วมมือกับหน่วยงานมากขึ้น

ไทยรอดไม่ได้ถ้าแก้ปัญหายาวแบบคิดสั้น: สร้างระบบรับมือภัยพิบัติที่มีประชาชนในสมการ

การให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่น แผนการอพยพหรือการกระจายทรัพยากร ทำให้การดำเนินงานมีความโปร่งใสและรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งยังช่วยลดการแพร่กระจายของข้อมูลที่ผิดพลาดในช่วงวิกฤติ

การเสริมสร้างเครือข่ายสังคม: องค์กรภาคประชาสังคม เช่น องค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มชุมชนในท้องถิ่น มักจะมีเครือข่ายทางสังคมที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว เครือข่ายเหล่านี้มีค่าอย่างยิ่งในช่วงภัยพิบัติในการระดมอาสาสมัครและทรัพยากรได้อย่างรวดเร็ว

การสร้างความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลและภาคประชาสังคมในแผนรับมือภัยพิบัติจะช่วยให้เครือข่ายเหล่านี้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอแนะด้านนโยบาย: บูรณาการบทบาทของประชาชนและภาคประชาสังคมในระบบจัดการภัยพิบัติ

ด้วยความซับซ้อนของการจัดการภัยพิบัติในปัจจุบันและอนาคต  นโยบายสาธารณะควรมุ่งเน้นไปที่การบูรณาการบทบาทของประชาชนและภาคประชาสังคมเข้าไปในกลไกการตอบสนองต่อภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดภาระของหน่วยงานภาครัฐ แต่ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับชุมชนและส่งเสริมความเชื่อมั่นระหว่างประชาชนกับทางการ

นอกจากนี้แล้ว การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของประชาชนและภาคประชาสังคมสอดคล้องกับหลักการของธรรมาภิบาลที่ดี เช่น ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และความครอบคลุม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ

ในประเทศที่มีระบบการจัดการภัยพิบัติที่ดี เราจะเห็นตัวอย่างการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ประชาชน และภาคประชาสังคม จึงขอยกตัวอย่างสี่ความเป็นไปได้ทางนโยบายที่จะเริ่มสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในระยะยาวของภาครัฐและประชาชน

1. กำหนดบทบาทของประชาชนและภาคประชาสังคมในแผนภัยพิบัติอย่างเป็นทางการ
แผนรับมือภัยพิบัติของประเทศไทยสามารถรวมบทบาทและความรับผิดชอบที่ชัดเจนสำหรับประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งทำได้ผ่านการฝึกอบรมการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในระดับท้องถิ่นที่ช่วยให้ชุมชนมีความพร้อมในการจัดการระบบเตือนภัยล่วงหน้า

ไทยรอดไม่ได้ถ้าแก้ปัญหายาวแบบคิดสั้น: สร้างระบบรับมือภัยพิบัติที่มีประชาชนในสมการ

การปฐมพยาบาล และการแจกจ่ายทรัพยากร นอกจากนี้แล้ว ประชาชนควรได้รับการฝึกให้เป็นตัวแทนประสานงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้การสื่อสารในช่วงวิกฤตมีความราบรื่น

ตัวอย่างเช่นในประเทศญี่ปุ่น ประชาชนมีส่วนร่วมในการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติผ่านกลุ่มอาสาสมัครในชุมชนที่เรียกว่า Jishubo (Jishu-bosai-soshiki) ซึ่งทำงานร่วมกับเทศบาลท้องถิ่นที่ให้การฝึกอบรมด้านการอพยพ การปฐมพยาบาล และการค้นหาและช่วยเหลือ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือเร่งด่วนเมื่อเกิดภัยพิบัติในท้องที่ เช่น แผ่นดินไหว หรือสึนามิ

2. พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าโดยชุมชน (Community-based early warning systems)
ระบบเตือนภัยล่วงหน้าโดยชุมชนเป็นสิ่งจำเป็นในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ระบบเหล่านี้ควรผสมผสานระหว่างความรู้ท้องถิ่นกับเครื่องมือทางเทคโนโลยี เช่น แอพพลิเคชันตรวจสอบน้ำท่วม หรือการแจ้งเตือนทาง SMS เพื่อแจ้งเตือนชุมชนถึงภัยพิบัติที่ใกล้เข้ามา

หน่วยงานท้องถิ่นควรร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการพัฒนาระบบเหล่านี้และให้ความรู้แก่ชุมชนในการใช้งาน เช่นในประเทศอินโดนีเซียได้พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าโดยชุมชนสำหรับแผ่นดินไหวและสึนามิ พร้อมกับการสร้างศักยภาพให้ชุมชนตามแนวชายฝั่งได้รับการฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีการเตือนภัยสึนามิผ่านสัญญาณไซเรนและการแจ้งเตือนทางมือถือ เพื่อเริ่มการอพยพในทันทีที่มีการแจ้งเตือน

ส่วนในประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการจัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้าเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยจะแสดงผ่านเว็บไซต์ เเละ Mobile Application ปัจจุบันครอบคลุม 63 จังหวัดทั่วประเทศ มีทั้งหมด 2,159 สถานี  5,954 หมู่บ้าน

ทั้งนี้ การนำข้อมูลไปใช้เพื่อเตือนภัยยังมีโอกาสพัฒนาต่อให้แต่ละชุมชนออกแบบการสื่อสารภายในตามบริบทของพื้นที่ เช่น ขึ้นธงสีเตือนภัยตามสถานการณ์ ใช้เสียงตามสายวิทยุชุมชนประกาศแจ้งข่าว เป็นต้น

ไทยรอดไม่ได้ถ้าแก้ปัญหายาวแบบคิดสั้น: สร้างระบบรับมือภัยพิบัติที่มีประชาชนในสมการ

3. งบประมาณแบบมีส่วนร่วมเพื่อการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ (Participatory budgeting for disaster preparedness)
ประชาชนควรมีสิทธิในการร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับงบประมาณของรัฐบาลท้องถิ่น ในการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติและลดความเสี่ยง

การมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณจะทำให้ชุมชนได้ร่วมพิจารณาการลงทุนในระบบป้องกันน้ำท่วม เช่น การก่อสร้างเขื่อนหรือระบบระบายน้ำ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ซึ่งรูปแบบของการจัดสรรงบประมาณแบบมีส่วนร่วม มีตัวอย่างแล้วหลายที่ในโลก

เช่น ในเมืองโปร์ตูอาเลเกร ประเทศบราซิล และ “Democracy Seoul” initiative ของรัฐบาลบริหารกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ที่องค์กรปกครองท้องถิ่นระดับเมืองได้ใช้การจัดสรรงบประมาณแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้ประชาชนมีส่วนในการตัดสินใจว่าจะใช้งบประมาณอย่างไร ซึ่งสามารถนำแนวทางเดียวกันมาปรับใช้ เริ่มจากการจัดสรรงบประมาณเพื่อเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติของท้องที่

4. กระจายอำนาจการจัดการภัยพิบัติ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว หน่วยงานท้องถิ่นควรมีอำนาจมากขึ้นในการจัดการกองทุนบรรเทาภัยพิบัติ และประสานงานกับภาคประชาสังคมในระดับตำบล/หมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจและการจัดสรรทรัพยากรมีความรวดเร็วและเหมาะสมตามบริบทท้องที่

ระบบในประเทศเยอรมนีกระจายอำนาจการจัดการภัยพิบัติไปยังหน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจเต็มที่ในการจัดการภัยพิบัติ โดยมีหน่วยงานจากส่วนกลาง เช่น หน่วยงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติเยอรมัน (The German Federal Agency for Technical Relief: THW) ทำงานอย่างใกล้ชิดกับเทศบาลท้องถิ่นในการจัดสรรทรัพยากรจากส่วนกลางมาสนับสนุน และประสานงานกับกลุ่มอาสาสมัครในท้องถิ่นเมื่อเกิดภัยพิบัติ

เฉพาะปีนี้ มวลน้ำจากภาคเหนือกำลังจะกลายเป็นภัยพิบัติต่อเนื่องให้จังหวัดในภาคกลาง เดือนพฤศจิกายน จะมีอุทกภัยต่อในภาคใต้ของไทย ก่อนที่จะจบปีด้วยมลพิษทางอากาศที่จะส่งผลต่อพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือต่อ

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะวางแผนยาวสร้างระบบที่จะรับมือกับภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ดึงให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมลงมือและตัดสินใจกับการใช้ทรัพยากรเพื่อรับมือกับปัญหา และสร้าง resilient future ในประเทศไทยร่วมกัน