'เพื่อไทย' คิดใหญ่สุ่มเสี่ยง 'ทำเป็น' สับขาหลอก?
“กลเกม” เลือกตั้ง 2566 ต้องบอกว่า “ประชานิยม” กระจุยกระจายกันทุกพรรค แต่ที่ทำให้นักวิเคราะห์วิจารณ์ ผู้รู้ทั้งหลาย รวมทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต้องเปิดหัว ทำงานหนักที่สุด ก็เห็นจะเป็น “นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ในเวลา 6 เดือน ให้กับคนอายุ 16 ปีขึ้นไป เพื่อใช้จ่ายรัศมี 4 กิโลเมตร”
คนที่ประกาศนโยบายนี้ อย่างภาคภูมิใจ ว่า “คิดใหญ่ ทำเป็น” ก็คือ “เศรษฐา ทวีสิน” นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้ผันตัวมาอยู่หน้าฉากทางการเมือง ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย (อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร) และหนึ่งในสามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย
นโยบายนี้ พลันที่ประกาศออกมา ก็สร้างความฮือฮาทั้งกับประชาชนผู้รอรับอานิสงส์และคนในแวดวงการเมืองด้วยกัน รวมทั้งนักวิเคราะห์วิจารณ์ ที่เริ่มค้นหาข้อมูลกันอย่างหนัก ว่ามันคืออะไรกันแน่ ทำได้หรือไม่ เข้าข่ายซื้อเสียงล่วงหน้า หรือ สัญญาว่าจะให้หรือไม่ ที่สำคัญจะเอาเงินมาจากไหน จำนวนมหาศาล กว่า 5 แสนล้านบาท ทั้งที่งบประมาณเก็บภาษีได้เพิ่มที่ใช้ได้ในปี2567 มีเพียง 2.6 แสนล้านบาทเท่านั้น
แน่นอน, ในการหาเสียงเลือกตั้ง ถือว่า พรรคเพื่อไทย ประสบความสำเร็จ ตามสโลแกน “คิดใหญ่ ทำเป็น” ไปเรียบร้อย ทั้งยัง “โกยคะแนนนิยม” จากทั้ง “สาวก” และประชาชนทั่วไป ที่ “เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ตีปี๊บขยายผลอย่างออกรสชาติ สไตล์ นักโต้วาที เร้าให้คิดให้ฝันตาม
อันเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ที่ประชาชนทั่วไป ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่า สิ่งที่จะได้จากนโยบายพรรคการเมืองที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง และคิดว่า แต่ละพรรค ก่อนที่จะนำมาเป็นนโยบาย ก็ต้องศึกษาความเป็นไปได้ และผลกระทบที่จะตามมาคุ้มหรือไม่ เสียหายแก่ประเทศหรือไม่ อย่างรอบด้านแล้ว
ด้วยเหตุนี้ จะโทษประชาชนไม่ได้แม้แต่น้อย คนที่จะต้องรับผิดชอบอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ก็คือ พรรคเพื่อไทย
ส่วนประเด็นที่ถูกนำมาตั้งข้อสงสัยว่า จะทำได้หรือไม่ เงินดิจิทัล คือ อะไรกันแน่
เริ่มจาก “ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์” วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน "ร่วมต่อต้านการหาเสียง แจกเงินคนรวยเท่าคนจน" (13 เม.ย.66) สาระสำคัญตอนหนึ่ง กล่าวว่า
“มั่นใจว่า โครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของพรรคเพื่อไทย จะไม่มีทางเกิดขึ้นเป็นจริงได้ โดยมีข้อสังเกตคณะกรรมการการเลือกตั้ง อาจส่งเรื่องให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธนาคารชาติ พิจารณาว่า ทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้ตามที่เพื่อไทยแถลงธนาคารชาติคงปล่อยให้ทำกันไปแล้ว”
นอกจากนี้ ยังวิเคราะห์ถึงขั้น “กกต.” กำลังซุ่มพิจารณาเรื่องนี้อยู่ก็เป็นได้
“คาดว่า ดาบเชือดจะออกมาจากธนาคารชาติ แล้วส่งผ่าน กกต. ดังนั้น เรื่องนี้จะพิจารณากันอย่างรวดเร็ว อีกอย่าง กกต.ไปต่างประเทศ อาจหลีกเลี่ยงจะเป็นข่าวแล้วไปซุ่มพูดคุยกันก็ได้ กกต. 6 คนแก่แล้ว คงหมดวัยเที่ยว และอาจไม่ได้ไปเที่ยวก็เป็นได้ จึงอย่าคิดชั้นเดียว”
อีกคนที่น่าสนใจคือ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชน ที่ชี้ประเด็นให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า
“นโยบายแจกเงินดิจิทัลจำนวนหนึ่งหมื่นบาท ให้แก่ทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปเพื่อใช้จ่ายภายในรัศมี 4 กิโลเมตร ภายใน 6 เดือนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งต้องใช้งบประมาณมากกว่า 5 แสนล้านบาทนั้น พรรคเพื่อไทยจะชี้แจง กกต.ว่า เงินดิจิทัล เป็นเงินอะไร มาจากแหล่งใด ตนเชื่อว่า ไม่สามารถแจกแจงได้ เพราะเงินดิจิทัล ต้องมีกฎหมายรองรับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องประกาศรับรอง ซึ่งการระบุว่า เงินดิจิทัล จึงเกิดคำถามว่า เงินดิจิทัล สกุลอะไร สามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้หรือไม่ เพราะกฎหมายในประเทศไทยไม่ยอมรับ”
ทั้งย้ำให้เห็นว่า มีติ่งพรรคเพื่อไทย ระบุว่า เป็นคูปอง เป็นการหลบเลี่ยงคำตอบ เพราะเงินดิจิทัล ยังไม่สามารถซื้อสินค้าในประเทศไทยได้ โดยเฉพาะกำหนด ไม่เกิน 4 กิโลเมตร แล้วในพื้นที่ชนบทจะทำอย่างไร เป็นข้อสงสัย ทำให้เกิดคำถาม และถามว่าเหตุผลอะไร ไม่แจกให้แก่ช่วงเด็กแรกเกิดถึงสิบห้าปี ซึ่งถือเป็นเยาวชนของชาติ สร้างความเหลื่อมล้ำแก่เด็กและเยาวชน
ประเด็นต่อมา ของ “จตุพร” คือ ความอยากได้คะแนนเสียงแบบง่ายๆ จึงเป็นเรื่องใหญ่เพราะการอธิบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สมเหตุสมผล โดยพรรคเพื่อไทยใช้เงิน 5.4 แสนล้านจะกระตุ้นได้แค่แจกคนจน 22 ล้านคนเท่านั้น ส่วนคนรวย 32 ล้านคน ที่ได้รับแจกด้วย ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจเลย เพราะพวกนี้ยังใช้ชีวิตตามปกติ ไม่มีความเดือดร้อนเรื่องปากท้องอดอยาก
“การพยายามกล่าวอ้าง เอาเงินประเทศไปแจกให้คนรวยแล้วตัวเอง(เศรษฐา ทวีสิน)ได้รับด้วย จึงเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากเคยมีตัวอย่างแก้ รธน. ซึ่งพรรคเพื่อไทยไม่กล้าโหวตวาระสาม ในประเด็น ส.ว. สมัครเลือกตั้งได้สองสมัยติดต่อกัน ซึ่งศาลรธน.ชี้ว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะแก้ รธน.เพื่อตัวเอง ถ้ากลับกันเมื่อแจกหมื่นบาทแล้ว นายเศรษฐา ก็ได้ จะตอบอย่างไรกับการแจกเงินเพื่อตัวเอง”
พร้อมกันนี้ “จตุพร” ยังยกตัวอย่าง กรณีให้เงินกู้กับพม่าว่า หลักการดี ไทยเป็นประเทศผู้ให้กู้ แต่พม่าได้รับเงินกู้นำมาซื้อสินค้าในเครือ AIS ก็เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนทันทีอีกทั้งโครงการรับจำนำข้าวที่ชาวนาได้ประโยชน์กันจริง แต่พ่อค้าไม่ได้นำไปขายจีทูจีจริง และได้ประโยชน์ที่มากกว่าอีก ประเทศและประชาชนจึงเสียหาย
ดังนั้น ขณะที่ประเทศเป็นหนี้สาธารณะ 10 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือนยังแบกอีก 14 ล้านล้านบาท แล้วบ้านเมืองอยู่ในสภาพใกล้ล้มละลาย แต่นายเศรษฐา คิดแจกเงินหมื่นบาท ตัวเองก็ได้รับแจกด้วย และยังเอาอีก สิ่งนี้จึงเป็นพฤติกรรมเห็นแก่ตัว แล้วมาเสนอแจกให้คนรวยเห็นแก่ตัวตามนักการเมืองไปด้วย
“หลักคิดการแจกเงินหมื่นบาท ต้องเพื่อคนจนเท่านั้น จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อคนรวยก็ต้องเป็นอีกเศรษฐกิจหนึ่ง หรือคิดโครงการธุรกิจเอสเอ็มอี ก็ว่ากันไป แต่การแจกคนจนโดยคิดการตลาดการเมืองระยะสั้น จะเกิดความฉิบหายระยะยาว ซึ่งไม่ควรทำอย่างยิ่ง”
ด้าน ดร.ณัฐวุฒิ ก็มีประเด็นเกี่ยวกับกฎหมาย ที่หลายฝ่ายจะต้องนำไปพิจารณาอย่างละเอียด โดยเฉพาะ “กกต.” ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ บังคับใช้กฎหมาย
ดร.ณัฐวุฒิ ชี้ว่า กรณีกำหนดอายุขั้นต่ำ16 ปี เพื่อป้องกันซื้อเสียงล่วงหน้าแก่บุคคลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่พรรคเพื่อไทย กำหนดแจกเงินดิจิทัลจำนวนหนึ่งหมื่นบาท ให้แก่ทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งรวมถึงบุคคลที่มีอายุ 18 ปีหรือไม่อย่างไร ตรงนี้ คือคำตอบ หากรวมถึงบุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไป ถือว่าเป็นสัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินแก่ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า เข้าข่ายที่เรียกว่า ซื้อเสียงล่วงหน้า...
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า การแจกเงินดิจิทัล แม้จะยังไม่เกิดจนกว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาล เป็นวิธีการจูงใจประชาชนให้เลือกพรรคเพื่อไทย พี่น้องประชาชนฝากถามว่าเงินดิจิทัล เป็นเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรับรองหรือไม่ ตลาดหลักทรัพย์ประกาศรับรองหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียง “เงินดิจิทัลทิพย์” หากเป็นเงินดิจิทัล ทำไมจะต้องแปลงเป็นค่าเงิน 5 แสนล้านบาท เพราะเกี่ยวกับงบประมาณจะต้องผ่านรัฐสภาและการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ
แม้ “เพื่อไทย” จะชี้แจงตามมาตรา 57 แห่งกฎหมายพรรคการเมืองได้ แต่ นายแสวงบุญมี (เลขาธิการ กกต.)อย่าปากไว ว่า สามารถทำได้ โดยไม่พิจารณาถึงข้อกฎหมายให้ถี่ถ้วน ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง มิฉะนั้น พรรคการเมืองอื่นมีนโยบายแจกเงิน จะไม่มีความผิด นโยบายแจกเงินแก่ประชาชน ถือว่าเป็นสัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สิน ส่วนการชี้แจงนโยบายที่มาของวงเงิน ตามมาตรา 57 แห่งกฎหมายพรรคการเมือง เป็นคนละกรณีกัน อย่าเหมารวม
ตนมองในมุมกฎหมายมหาชนว่า นโยบายการแจกเงินดิจิทัล แม้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ระบุว่า เป็นเงินดิจิทัลหรือคูปอง ประเภทใด ถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง แม้กำหนดบุคคลที่มีอายุเพียง 16 ปีขึ้นไป เพื่อสับขาหลอก ป้องกันซื้อเสียงล่วงหน้า แต่นโยบายการให้ ถือเป็นการซื้อเสียงล่วงหน้า เพราะจูงใจประชาชนให้กาพรรคเพื่อไทย เบอร์ 29 แม้บุคคลอายุ 16 ปี ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ แต่หาก ให้แก่ทุกคนที่มีอายุตั้งแต่16 ปีขึ้นไป รวมถึงบุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไปด้วย ถือเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย คาบเกี่ยวสัญญาว่าจะให้
ที่น่ารับฟังอย่างยิ่ง ก็คือ ความเห็นของ นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ชี้ชัด ภาระการคลังของการแจกเงิน ที่จะเกิดขึ้นว่า
ประชากรอายุ 16 ปีขึ้นไปมีประมาณ 85% ของประชากร 67,000,000 คน จึงเทียบเท่ากับประมาณ 55,000,000 คน แจกให้คนละ 10,000 บาท เทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายทั้งหมด 550,000 ล้านบาท
ถามว่า จะเอาค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาจากไหน
ถ้าเงิน 550,000 ล้านบาทที่ใช้จ่ายออกไปมีการเก็บภาษีวีเอที 7% เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จะได้ภาษี 38,500 ล้านบาท แต่จริงๆเป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะร้านขายของในละแวกบ้านนอก อาจจะเป็นร้านเล็กๆ ยังไม่อยู่ในระบบภาษี แต่เอาเถอะยกผลประโยชน์ให้ว่า เก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเขาอาจจะโต้แย้งได้ว่า เงิน550,000 ล้านบาท สามารถหมุนได้หลายรอบ ก็จะเก็บภาษีได้หลายรอบ และบริษัทที่ผลิตสินค้าขายได้มากขึ้นก็น่าจะเก็บภาษีนิติบุคคลได้มากขึ้น
ดังนั้นยังต้องหาเงินมาโปะส่วนที่ขาดอีก 511,500 ล้านบาท ปัดตัวเลขกลมๆเป็น500,000 ล้านบาทเลยก็ได้ ถ้าไม่ขึ้นภาษีก็ต้องเบียดมาจากการใช้จ่ายรายการอื่นๆ ซึ่งไม่น่าจะเบียดมาได้มากนัก เพราะตัวเลข 500,000 ล้านบาทนี้ เทียบเท่ากับ 17 ถึง 18% ของงบประมาณคาดการณ์ของปี 2023 จึงเป็นสัดส่วนไม่น้อย เมื่อหาเงินหรือลดค่าใช้จ่ายรายการอื่นไม่ได้ ก็ต้องกู้มาโปะส่วนที่ขาดดุลมากขึ้นนี้
อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีในปี 2023 คาดว่า จะอยู่ที่ประมาณ 61.36% ถ้าต้องกู้มากขึ้นอีก500,000 ล้านบาท สัดส่วนนี้ จะเพิ่มขึ้นอีก 2.8% รวมเป็น 64.16%
เราเคยตั้งเป้าว่า สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะไม่ให้เกิน 60% แต่ช่วงที่ผ่านมาเราต้องประคับประคองเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด จึงยอมให้สัดส่วนนี้สูงเกิน 60% และมีเป้าหมายจะดึงลงมาให้อยู่ในระดับ 60% โดยเร็ว
นโยบายแจกเงินนี้ มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจะโตประมาณ 3 ถึง 4% โดยมีตัวช่วยคือ การท่องเที่ยว ที่ผ่านมาในช่วงโควิดรัฐบาลได้ใช้เงินไปในการพยุงเศรษฐกิจมากพอแล้ว ปีหน้าจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นต่อเนื่อง และการจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตโดยการใช้จ่ายเป็นวิธีที่ไม่รับผิดชอบ(ยกเว้นในกรณีจำเป็นอย่างเช่นในช่วงโควิดที่หัวรถจักรทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆไม่ทำงาน) เพราะใช้แล้วก็หมดไป ไม่มีผลในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว
กรณีของสิงคโปร์มีการให้เงินกับประชากรคนละ 600 เหรียญ ตั้งแต่ช่วงที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมากมาย โดยกำหนดให้ไปเรียน หรือหาความรู้เพิ่มเติมให้ทันกับวิทยาการใหม่ๆ เพื่อจะได้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ นโยบายแบบนี้เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการแจกเงินให้ไปใช้จ่าย ซึ่งทุกวันนี้ก็ใช้กันเพลินจนหนี้ครัวเรือนสูงมากเป็นปัญหาต่อเนื่องอยู่แล้ว
“เห็นนโยบายไร้ความรับผิดชอบแบบนี้แล้ว เศร้าใจค่ะ นอกจากการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นการสร้างนิสัยให้ประชาชนขาดวินัยทางการเงิน คอยแต่จะแบมือรับแทนที่จะติดอาวุธให้ประชาชนมีทักษะ มีความสามารถในการยกระดับความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน มากกว่าเงินช่วยเหลือจากนักการเมือง”
ทั้งหมด ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทย “คิดใหญ่” ได้ ก็จริง แต่ “ทำเป็น” นี่สิทำได้หรือไม่ ยังมีปัญหา ต้องดูกันต่อไปว่า “เงินดิจิทัล” จะผ่าน “ด่านหิน” ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือไม่
และ กรณีถ้าเข้าข่ายความผิด “สัญญาว่าจะให้” หรือ “ซื้อเสียงล่วงหน้า” ตามมุมมองของนักกฎหมายมหาชน ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งประเด็นทางการเมือง และประเด็นข้อเท็จจริง ว่าทำผิดจริงหรือไม่
ประเด็นทางการเมือง สิ่งที่ “เพื่อไทย” จะต่อสู้อย่างไม่ต้องสงสัย ก็คือ “ถูกกลั่นแกล้งรังแก” ไม่ให้เข้าสู่อำนาจ?
ส่วน ข้อเท็จจริง “สัญญาว่าจะให้” หรือ“ซื้อเสียงล่วงหน้า”หรือไม่ ก็ต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาลจนถึงที่สุด
คำถามสำคัญ ก็คือ ใครกันที่ชอบเล่นเกมเสี่ยง เพื่อหวังเพียงคะแนนนิยมให้แลนด์สไลด์เท่านั้น อย่างอื่นเอาไว้ทีหลัง หรือ เกิดแลนด์สไลด์ขึ้นมาจริง ก็จะได้ “ประชาชน”เป็นเกราะป้องกันตัวเอง ในการเอาตัวรอดจากความผิด เรื่องอย่างนี้ ใครถนัดก็รู้อยู่แล้ว