เฮือกสุดท้าย 'บ้านใหญ่' กลางกระแส 'พิธาฟีเวอร์'

เฮือกสุดท้าย 'บ้านใหญ่' กลางกระแส 'พิธาฟีเวอร์'

เลยโค้งสุดท้ายเข้าทางตรงร้อยเมตรก่อนถึงเส้นชัย กระแส “พิธา” ยังมาแรงต่อเนื่อง สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง กำลังจะกลายเป็นพายุถล่ม “บ้านใหญ่” ให้ซวนเซ

เลือกตั้ง 2566 จะเป็นการต่อสู้ระหว่างการเมืองเชิงอุปถัมภ์ กับการเมืองเชิงอุดมการณ์หรือการเมืองเชิงนโยบาย ที่แหลมคมที่สุด 

นักรัฐศาสตร์บางคนประเมินว่า พรรคก้าวไกล มีกระแสพิธา บวกฟ้ารักพ่อของธนาธร อาจได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากถึง 30-40 คน แต่ ส.ส.เขตนั้น น่าจะชนะในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่เท่านั้น 

เนื่องจากสังเวียนเลือกตั้งนอกเมือง หรือเขตชนบท พรรคก้าวไกลมีหัวคะแนนธรรมชาติ ต้องสู้กับผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพต่างๆ ที่เป็นหัวคะแนนของนักการเมือง “บ้านใหญ่”

จริงๆแล้ว ผลการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 ชัยชนะของพรรคอนาคตใหม่ ในสมรภูมิหัวเมืองรอบกรุงเทพ และภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นปทุมธานี, สมุทรสาคร, นครปฐม,สมุทรปราการ,ฉะเชิงเทรา,ชลบุรี ,จันทบุรี และตราด ก็เหมือนการส่งสัญญาณเตือนถึงนักการเมืองบ้านใหญ่ ได้ตระหนักถึงกระแสการเปลี่ยนแปลง


‘บรรหารบุรี’ สะเทือน
 

“บรรหารบุรี” เป็นกรณีศึกษาบ้านใหญ่ การเมืองเชิงอุปถัมภ์ที่มีการพูดถึงมากที่สุดในแวดวงวิชาการ และถูกยกให้เป็นโมเดลบ้านใหญ่ศึกษา

สาเหตุที่ จ.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา หลอมรวมการเมืองระดับชาติ ไปจนถึงท้องถิ่นได้อย่างเป็นเอกภาพ เพราะคนที่ชื่อ บรรหาร ศิลปอาชา

เฮือกสุดท้าย \'บ้านใหญ่\' กลางกระแส \'พิธาฟีเวอร์\'

 

จะว่าไปแล้ว บ้านใหญ่เลือดสุพรรณนั้น มีหลายบ้าน บรรหารได้รวบรวมนักการเมือง 5-6 ตระกูล มาอยู่ภายใต้ร่มธงผืนเดียวกัน ซึ่งแต่ละตระกูล ก็มีพื้นที่ทางการเมืองของตัวเองชัดเจน

แม้วันนี้ ไม่มีบรรหาร แต่สองพี่น้อง กัญจนาและวราวุธ ศิลปอาชา ก็ยังสานต่อแนวทางของบิดาที่หลอมรวมใจบ้านใหญ่สุพรรณให้เป็นหนึ่งเดียว

เขตเลือกตั้งที่ 1 (อ.เมืองสุพรรณบุรี) สรชัด สุจิตต์ ทายาทคหบดีเมืองสุพรรณ และหลานคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา ซึ่งตระกูลศิลปอาชา ร่วมดูแลพื้นที่นี้ 

เขตเลือกตั้งที่ 2 (อ.บางปลาม้า, อ.สามชุก) ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ลูกชายหมอบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ อดีต ส.ส.สุพรรณ ผูกขาดย่านนี้มานานแล้ว

เขตเลือกตั้งที่ 3 (อ.อู่ทอง, อ.สองพี่น้อง) นพดล มาตรศรี ทายาทกำนันเคี้ยง อ.อู่ทอง ซึ่งตระกูลมาตรศรี มีทั้งโรงโม่หินศิลามาตรศรี, โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

เขตเลือกตั้งที่ 4 (อ.เดิมบางนางบวช, อ.ด่านช้าง) เสมอกัน เที่ยงธรรม ลูกชายเฮียจองชัย เที่ยงธรรม บ้านใหญ่บ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ ที่มาสร้างฐานเสียงไว้ที่เขตนี้นานแล้ว

เขตเลือกตั้งที่ 5 (อ.ศรีประจันต์ ,อ.ดอนเจดีย์) เฮียเม้ง-ประภัตร โพธสุธน บ้านใหญ่เรือนไทยศรีประจันต์ ที่เป็นกำลังหลักของพรรคชาติไทยพัฒนาในวันนี้

เฮือกสุดท้าย \'บ้านใหญ่\' กลางกระแส \'พิธาฟีเวอร์\'
หลายคนอาจไม่เชื่อว่า การเลือกตั้งปี 2566 ในสนามเมืองสุพรรณ พรรคที่คะแนนนิยมอันดับสองรองจากพรรคชาติไทยพัฒนาคือ ก้าวไกล 

สมัยที่แล้ว ผลการเลือกตั้ง ส.ส.สุพรรณฯ คะแนนรวมทั้งจังหวัด พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ 255,920 คะแนน รองลงมาคือ พรรคอนาคตใหม่ ได้ 73,409 คะแนน

ปีนี้ พรรคก้าวไกล ได้วางตัวผู้สมัคร ส.ส.ครบ 5 เขต คือสมเกียรติ เสรีวิพุธ, ณัฐพิชา รอดชีพ,สมภาษ ชิมสด ,ภูริชญ์ สุวรรณประทีป และวิเชียร ตามสี

เชื่อว่า พรรคก้าวไกลไม่อาจเบียดแชมป์เก่าเข้าป้ายได้ แต่คะแนนรวมทั้งจังหวัดน่าจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าสมัยที่แล้วเกือบเท่าตัว

‘อัศวเหม’ ขาลง 

ปรากฏการณ์ “ปราการแตก” จากเวทีปราศรัยใหญ่ของพรรคก้าวไกล ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อค่ำวันที่ 5 พ.ค.2566 น่าจะทำให้ทั้งบ้านใหญ่อัศวเหม และพรรคเพื่อไทย ต้องเร่งระดมการหาเสียงในโค้งสุดท้าย


การเลือกตั้งสมัยที่แล้ว บ้านใหญ่ปากน้ำ ภายใต้การนำของ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม กลายเป็นตาอยู่ เมื่อพรรคเพื่อไทยกับพรรคอนาคตใหม่ ตัดคะแนนกันเอง ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ จึงเบียดแทรกเข้าป้ายได้ 6 คน 

เฮือกสุดท้าย \'บ้านใหญ่\' กลางกระแส \'พิธาฟีเวอร์\'

ที่น่าสนใจ วุฒินันท์ บุญชู ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ชนะเลือกตั้งที่เขต อ.บางพลี กลายเป็นธงสีส้มผืนแรกในปากน้ำ 

นับแต่ปี 2544 จนถึงปี 2554 บ้านใหญ่อัศวเหม ไม่เคยชนะพรรคของทักษิณ ชินวัตร กระทั่งปี 2562 กระแสความสงบจบที่ลุงตู่ บวกกับฐานเสียงบ้านใหญ่ จึงหักปากกาเซียน คว้าชัยเกือบยกจังหวัด

การเลือกตั้งปี 2566 บ้านใหญ่อัศวเหม ยังลงสนามในนามพรรคพลังประชารัฐ แต่ขาดแม่ทัพใหญ่คือ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ที่จากไปอย่างกะทันหัน จึงมีการปรับทัพใหม่ โดยอัศวเหม รุ่น 2 อัครวัฒน์ อัศวเหม อดีต ส.ส.สมุทรปราการ เป็นลูกชายสมบูรณ์ อัศวเหม พี่ชายวัฒนา จึงต้องมานำทัพแทน

สมทบด้วย วรพร อัศวเหม ลูกชายสมพร อัศวเหม อดีต รมช.พาณิชย์ น้องชายวัฒนา และ ต่อศักดิ์ อัศวเหม อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหลานชายวัฒนา


นอกจากนี้ ยังมีอัศวเหม รุ่น 3 พิม อัศวเหม ลูกสาวพูลผล ลูกชายคนกลางของวัฒนา ซึ่งพูนผลเสียชีวิตไปแล้ว ถูกจัดวางไว้ในลำดับที่ 8 บัญชีปาร์ตี้ลิสต์ พรรคพลังประชารัฐ

ส่วนเพลง-ชนม์ทิดา อัศวเหม ลูกสาวเอ๋ ชนม์สวัสดิ์ และนันทิดา ถูกจัดวางไว้ในลำดับที่ 5 บัญชีปาร์ตี้ลิสต์ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นข้อตกลงส่วนตัวของชนม์สวัสดิ์ กับอนุทิน ชาญวีรกูล 

บ้านใหญ่อัศวเหม ในวันที่ไม่มีกระแสลุงตู่มาอุ้มเหมือนเก่า เหลือแต่เครือข่ายหัวคะแนนเดิม จึงตกอยู่ในภาวะเสี่ยงปราชัยยกแผงอีกสมัย

การถอยของ ‘เฮียม้อ’
 

บ้านใหญ่มหาชัย เจอกระแสฟ้ารักพ่อพัดกระหน่ำ พ่ายแพ้ราบคาบทั้ง 3 เขตเมื่อสมัยที่แล้ว ทำให้ทายาทเฮียม้อ ออกอาการถอดใจ ไม่ลงสนาม ส.ส.เขต

ปี 2562 เฮียม้อ มณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ อดีตนายก อบจ.สมุทรสาคร ตัดสินใจย้ายไปอยู่พรรคชาติไทยพัฒนา ตามคำร้องขอของบ้านใหญ่สะสมทรัพย์ ด้วยเหตุผลส่วนตัวบางประการ ไม่ได้มีปัญหาใดๆกับคนแดนไกล

เฮือกสุดท้าย \'บ้านใหญ่\' กลางกระแส \'พิธาฟีเวอร์\'

ผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว สร้างความเจ็บช้ำให้กลุ่มเฮียม้ออย่างมาก ผู้สมัคร ส.ส.ในสังกัดพ่ายเรียบ โดยพรรคอนาคตใหม่ คว้าไป 2 ที่นั่ง และพรรคพลังประชารัฐ 1 ที่นั่ง

ด้วยเหตุนี้ เฮียม้อ จึงทุ่มสรรพกำลังดันลูกชาย อุดม ไกรวัตนุสสรณ์ ลงสนามนายก อบจ.สมุทรสาคร จนได้รับชัยชนะเหนือคู่แข่งจากคณะก้าวหน้า และพรรคเพื่อไทย

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ทายาทเฮียม้อ สัมผัสได้กับกระแสการเปลี่ยนแปลง จึงไม่ส่งคนในตระกูลไกรวัตนุสสรณ์ ลงสมัคร ส.ส.สมุทรสาคร โดย อนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ หันไปลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 52

พรรคก้าวไกล กลายเป็นตัวเต็งที่จะได้รับเลือกแบบยกจังหวัด ซึ่งมีผู้สมัคร ส.ส.สมุทรสาคร เป็นคนรุ่นใหม่อายุน้อย ประกอบด้วย ณัฐพงษ์ สุมโนธรรม ,ศิริโรจน์ ธนิกกุล และศิรสิทธิ์ สงนุ้ย

สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง ทำให้บ้านใหญ่มหาชัย ตระหนักถึงการเมืองเชิงอุดมการณ์ และหัวคะแนนธรรมชาติ ที่มีบทบาทสูงยิ่งในการเมืองระดับชาติ 

เช่นเดียวกับ ตระกูลหาญสวัสดิ์ ปทุมธานี ที่ถอยออกจากการเมืองระดับชาติและเหลือพื้นที่การเมืองไว้เฉพาะเทศบาลเมืองปทุมธานี

การเลือกตั้ง ส.ส.ปทุมธานี พ.ศ.นี้ พรรคก้าวไกล ขยับขึ้นมาเป็นคู่ชิงกับพรรคเพื่อไทย โดยมีพรรคภูมิใจไทยเป็นตัวสอดแทรก