'ประธานสภา' ชี้เป็นชี้ตาย 'พิธา' ความหวังสุดท้าย 'ก้าวไกล'

'ประธานสภา' ชี้เป็นชี้ตาย 'พิธา' ความหวังสุดท้าย 'ก้าวไกล'

เกมแห่งอำนาจ กำลังเดินเข้าสู่ “จุดไคลแมกซ์” ชี้เป็นชี้ตายการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วม 312 เสียง โดยมีพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำสำคัญ ทั้งยังมีโซ่ทอง “ประชาธิปไตย” คล้องคอเอาไว้ แต่จะมั่นคงหรือไม่ แค่ไหน นี่ต่างหากที่กำลังเป็นประเด็น

ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของ “ศึกชิงประธานสภาฯ” ที่ต่างก็ต้องการเก้าอี้ตัวนี้เอาไว้กับตัวเอง จนสร้างความมึนงงให้กับประชาชน ทั้งยังสับสนในความสัมพันธ์ของฝ่ายประชาธิปไตย ก็แค่เก้าอี้ “ประธานสภาฯ” จะอะไรกันหนักหนา... แต่ฟังก่อน!    

“นี่แหละพูดกันตรงๆ

พรรคก้าวไกลกลัวไม่ได้อะไรเลย เลยต้องยึดประธานสภาไว้

พรรคเพื่อไทยล่ะ? พรรคเพื่อไทยเผื่อว่าถึงเวลาจะหันไปจับมือกับพรรคอื่น จะได้ประธานสภาเป็นพวกตนไว้

โดยสรุป เผื่อไว้ยืนคนละข้าง จึงเอาตำแหน่งนี้เอาไว้ จบ”

\'ประธานสภา\' ชี้เป็นชี้ตาย \'พิธา\' ความหวังสุดท้าย \'ก้าวไกล\'

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ต้องหาคดี ม.112 ลี้ภัยในฝรั่งเศสโพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กแฟนเพจ Somsak Jeamteerasakul (23 มิ.ย.66)

ทั้งนี้ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” แชร์ทวีตความเห็นในทวิตเตอร์ของ “ยิ่งชีพ(เป๋า)@yingcheep ซึ่งระบุว่า

“ถ้าเราอยู่ในระบบที่ปกติแล้ว ประธานสภา เป็นของพรรคร่วมอันดับสอง ไม่แปลก ก็แบ่งกันให้เกียรติกัน

ในระบบไม่ปกติ พรรคอันดับหนึ่งยังไม่รู้จะได้นายกฯหรือเปล่า และการเสนอกฎหมายปกติตามนโยบาย เคยถูกห้ามเสนอมาแล้ว พรรคอันดับหนึ่งก็เลยหวงเก้าอี้ประธานสภาเอาไว้ ก่อนไม่ได้อะไรเลย ก็เข้าใจไม่ยาก”

สำหรับ “เป๋า ยิ่งชีพ อัชฌานนท์” ผู้จัดการ iLaw องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนถือว่า มีความใกล้ชิดกับ พรรคก้าวไกลไม่น้อย

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น(22 มิ.ย.66) นางสาวลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา หรือ แขก พิธีกรชื่อดัง ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์@kamphaka ระบุว่า

“เสียงต่างกัน 10 เสียง ถ้าเพื่อไทยจะต่อรองเอาตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถ้าไม่มี 141 เสียงนี้ ก้าวไกลก็ตั้งรบ. ไม่ได้ นี่คือภาวะต่อรองตามปกติในประชาธิปไตยระบบรัฐสภา”

\'ประธานสภา\' ชี้เป็นชี้ตาย \'พิธา\' ความหวังสุดท้าย \'ก้าวไกล\'

เป็นที่รู้กันดีว่า “แขก” คำ ผกา เป็น “ติ่งตัวแม่” ของพรรคเพื่อไทย

อีกด้านหนึ่ง น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการอำนวยการและพัฒนา และเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า

“โจรมันจะสามัคคีกันตอนปล้น และจะทะเลาะกันตอนแบ่งสมบัติ

อย่าลืมว่า “พวกเรา” เคยพูดถึง “พวกลุง” ด้วยคำ..คำนี้ มาก่อน

วันนี้เราปราบโจรปล้นประชาธิปไตย จนม้วนเสื่อ ขนของ เก็บกระเป๋า กลับบ้าน(หลวง) กันไปหมดแล้ว

เราควรฉลองชัยชนะ ด้วยการสามัคคีกัน เอาประชาธิปไตย กลับคืนให้ประชาชน ไม่ใช่ทะเลาะกัน แย่งสมบัติที่โจรชิงไป

อายพี่น้องประชาชน ที่ได้ไว้วางใจ ออกไปหย่อนบัตรเลือกพวกเราบ้างครับ”

เป็นการกระตุกแรง เพื่อดึงสติกันเอาไว้

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน โลกสวย?

\'ประธานสภา\' ชี้เป็นชี้ตาย \'พิธา\' ความหวังสุดท้าย \'ก้าวไกล\'

ระบุว่า การเมืองแบบโลกสวยของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) จะได้ตั้งรัฐบาลนั้น อาจไม่เกิดขึ้นจริง เพราะพรรคเพื่อไทย (พท.) ซุกซ่อนเกมปั่นปัญหาในพรรคแล้วเร่งระอุความขัดแย้งแตกแยกเพื่อเปิดโอกาสให้ นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นประธานสภา เพื่อปูทางพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก้าวข้ามความขัดแย้งมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้สะดวกขึ้น

“จตุพร” กล่าวถึงการเลือกประธานสภาวันที่ 6 ก.ค.นี้ ว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคพท. เป็นคนเดินตามเข็มทิศชี้นำเสมอ จึงมีท่าทีเปลี่ยนกลับไปกลับมาอยู่เรื่อยๆ แม้ล่าสุดยกหลักการเลือกตำแหน่งประธานสภาเป็นของพรรคอันดับหนึ่ง ซึ่งคือพรรคก้าวไกล แต่ถูกนายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ต่อต้านอย่างแข็งขัน

“นายภูมิธรรม กับ นายอดิศร เป็นเพื่อนร่วมรุ่นคนเดือนตุลาด้วยกัน ต้องบอกได้เลยว่าเขาทั้งคู่ไม่มีวันทะเลาะกัน แต่สิ่งที่แสดงออกแตกต่างกัน เป็นเพียงการแต่งตัวให้เกิดปัญหาในพรรคเพื่อไทยที่เปิดทางโหวตลับเลือกประธานสภาเท่านั้น”

“จตุพร” กล่าวว่า ขณะนี้ชื่อนายสุชาติ ฉายาทางการเมืองเรียก พ่อมดดำ มาแรงอย่างยิ่งในตำแหน่งประธานสภาฯ โดยนายสุชาติ เป็นรองประธานมาแล้วถึง 2 ครั้ง ย้ายจากพรรค พปชร.มาสังกัดพรรค พท. และถูกหมายมั่นปั้นมือให้เป็นประธานสภาในคราวนี้หากพลาดยังมีสำรองไว้อีกคนหนึ่งที่มีปัญหาเกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งไม่สามารถระบุชื่อได้ 

ดังนั้น ตำแหน่งประธานสภาจะเป็นของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่คนจากพรรคก้าวไกล และการเลือกตำแหน่งประธานสภาในวันที่ 6 ก.ค.นี้ สิ่งที่เกมการเมืองเตรียมการไว้คือให้ส.ส.พปชร. หรือจากพรรคเล็กฝ่าย 188 เสียง เสนอชื่อนายสุชาติขึ้นมาแข่งขันกับตัวแทนพรรค ก.ก. โดยนายสุชาติจะไม่อยู่ในห้องประชุมสภา เพื่อหลีกเลี่ยงถูกกดดันให้ประกาศถอนตัวได้

“อย่าลืมว่า การโหวตประธานสภาเป็นการลงมติลับ จะไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่า ใครเลือกใคร แต่ผลออกมาพรรคเพื่อไทยจะได้ตำแหน่งประธานสภา พร้อมรองประธานอีก 2 คนมาครองเบ็ดเสร็จ แล้วความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลจะก่อตัวขึ้นขณะที่มวลชนภายนอกสภาจะไม่พอใจ เกิดอารมณ์เดือดระอุถาโถมขึ้นในวันเลือกนายกฯ”

“จตุพร” ชี้ว่า การกลับหลังหันของแกนนำพรรคเพื่อไทย ทั้งนายภูมิธรรม, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ที่ยอมรับหลักการยกประธานสภาให้พรรคก้าวไกลนั้น ในทางการเมือง คือ การแต่งตัวให้เกิดความขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่การเลือกนายสุชาติ เพราะเกมนี้ดันไปสู่การเลือกนายกฯ เพื่อแลกเปลี่ยนกลับบ้านของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งครั้งนี้ย่อมเป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว

\'ประธานสภา\' ชี้เป็นชี้ตาย \'พิธา\' ความหวังสุดท้าย \'ก้าวไกล\'

ส่วนการโหวตนายกฯ “จตุพร” เชื่อว่า เมื่อพรรคก้าวไกลถูกหักในตำแหน่งประธานสภาย่อมสะสมความขัดแย้งให้ฝังลึก ในวันนั้นอารมณ์ระอุเดือดของมวลชนอาจหนาแน่นตรึงกดดันหน้าสภา สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจึงก่อตัว แล้วจะถึงเวลาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้มาก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล แต่ในวันโหวตเลือกเป็นนายกฯ มวลชนอาจไม่พอใจถึงขั้นปิดล้อมสภาหรือไม่ให้แถลงนโยบาย เหตุการณ์เช่นนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้

ยิ่งกว่านั้น “จตุพร” เห็นว่า ขณะนี้สถานการณ์มองโลกสวยทางการเมืองอุบัติขึ้นกับพรรคก้าวไกล โดยพรรคเพื่อไทยกลับใจดีเปิดทางให้ตำแหน่งประธานสภา อีกทั้งพรรคก้าวไกล ยังมั่นใจ ส.ว.นับร้อยคนจะโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯแต่อาการฝันเคลิ้มแบบโลกสวยสดนี้จะจบลงในวันเลือกนายกฯ

“นายกฯ จะเป็นใคร เสียง ส.ว.นับร้อยจะมาหนุนนั้นมีจริงหรือไม่ และรายชื่อในมติลับกับการโหวตประธานสภาจะเปิดเผยตัวตน ด้วยการไปสำแดงในวันโหวตเลือกนายกฯฉากการเมืองที่เป็นจริงถูกออกแบบจัดวางไว้เช่นนี้ คงต้องรอพิสูจน์กัน” ...

 

ไม่ว่า สิ่งที่ “จตุพร” วิเคราะห์ และทำนายเอาไว้ล่วงหน้า จะเป็นจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆการที่พรรคก้าวไกล ไม่ยอมปล่อยเก้าอี้ประธานสภาฯให้พรรคเพื่อไทย สิ่งที่ “สมศักดิ์เจียมธีรสกุล” และ “ยิ่งชีพ อัชฌานนท์” ชี้ประเด็นเอาไว้ ก็น่าคิดเหมือนกัน  

โดยเฉพาะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่ง เป็น “ประธานรัฐสภา” ด้วย มีบทบาทสำคัญ นับแต่เสนอชื่อ  “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” จากนั้น ถ้าผ่านการลงมติของรัฐสภาก็จะเป็นผู้นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น การเสนอชื่อ “พิธา” อาจไม่มีปัญหา แต่การ โหวตให้ “พิธา” เป็น “นายกรัฐมนตรี” มีข้อมูล “วงใน” ว่า ส.ว.จะไม่ยอมให้ผ่าน สองประเด็นสำคัญ

ประเด็นแรก “พิธา” และพรรคก้าวไกล มีนโยบายพรรค แก้ไข ป.อาญา ม.112 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้แตะต้องสถาบันฯ

ประการที่สอง แม้จะเป็นเรื่องรองลงมาในสายตา ส.ว. แต่อาจถูกหยิบยกมาเป็นข้อพิจารณา ในเรื่องนำชื่อบุคคลที่ถูกไต่สวนเรื่อง “คุณสมบัติต้องห้าม” ตามรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ เพราะอาจทำให้ “ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท” หรือไม่

นี่คือ ที่มาของประเด็นที่มีการวิเคราะห์กันว่า ถ้าหากพรรคก้าวไกล ต้องการจะสู้กับการ“โหวตเลือกนายกฯ” ไม่ว่าจะ เสนอกี่ครั้ง นานแค่ไหน จนกว่าจะผ่าน ตำแหน่ง “ประธานสภาฯ” ถือว่าสำคัญที่สุด  

อย่าลืมว่า พรรคก้าวไกล ก็มีมวลชน ที่จะช่วยกดดัน ส.ว. อีกทางหนึ่ง เพื่อให้ส.ว.เปลี่ยนใจ หรือ ไม่อาจฝืนกระแสประชาชน

ยกเว้น “เพื่อไทย” เปลี่ยนขั้ว ข้ามฟาก ก็จบ!

รวมทั้งประเด็น นำชื่อ “พิธา” ขึ้นทูลเกล้าฯ ถ้า “ประธานสภาฯ” มาจากพรรคก้าวไกล ก็มั่นใจได้ว่า จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

\'ประธานสภา\' ชี้เป็นชี้ตาย \'พิธา\' ความหวังสุดท้าย \'ก้าวไกล\'

สุดท้าย ถ้าไม่ผ่านการโหวตเลือกนายกฯ อย่างน้อยก็ยังมีตำแหน่งประธานสภาฯ เพื่อเสนอกฎหมาย ที่เตรียมเอาไว้

เหนืออื่นใด เป้าหมายตามอุดมการณ์พรรคก้าวไกล อยู่ที่ หวังว่า การเสนอแก้ ป.อาญาม.112 จะไม่ถูกปฏิเสธจากประธานสภาฯ เหมือนสมัยที่แล้ว

ดูเหมือน ยิ่งพรรคก้าวไกล กอดตำแหน่ง “ประธานสภาฯ” แน่นเท่าใด ก็ยิ่งสะท้อนถึง “ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” มากเท่านั้น หรือไม่?