จับตา 'ก้าวไกล' ดิ้นสู้ฟัด 'เพื่อไทย' เล็ง 2 ทางเลือก
การเมืองชั่วโมงนี้ ดูเหมือน “เกม” จัดตั้งรัฐบาล คือเป้าสายตาทุกความเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมืองในสภาฯก็ว่าได้ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ได้สวมบทบาทแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต่อจากพรรคก้าวไกล
เพราะหลังได้รับมอบสิทธิ์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่นาน ก็มีกระแสข่าว “ซูเปอร์ดีล” ตามมาอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญ มีความเชื่อมโยงกับ “เงื่อนไข” เอื้ออำนวยให้ “ทักษิณ ชินวัตร” กลับไทยด้วย
สอดรับกับ กรณี “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย เปิดเผยเองว่า “ทักษิณ” จะกลับไทยวันที่ 10 สิงหาคมนี้
นัยว่า ดีลนี้ พรรคร่วมรัฐบาล คือ เพื่อไทย, ภูมิใจไทย, พลังประชารัฐ ส่วนฝ่ายค้าน มีก้าวไกล, รวมไทยสร้างชาติ, ประชาธิปัตย์ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมี 279 เสียง โดยเชื่อว่าส.ว. จะสนับสนุนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกด้วย เพราะไม่มีพรรคก้าวไกล
ท่ามกลางกระแสข่าว พรรคเพื่อไทย จะตัดสินใจอย่างไร กรณีการโหวตนายกรัฐมนตรีของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ไม่ผ่านการลงมติของรัฐสภา เนื่องจากปัญหา พรรคก้าวไกลต้องการแก้ไข ป.อาญา ม.112 หรือ กฎหมายว่าด้วยเรื่องหมิ่นสถาบันฯ
พรรคเพื่อไทย ยังจะกอดกันเป็น “ข้าวต้มมัด” กับพรรคก้าวไกล ไม่มีวันปล่อยมือหรือไม่หรือ พลิกขั้ว ข้ามฟากไปร่วมกับ ฝ่ายรัฐบาลเดิม โดยไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล?
กระนั้น ที่น่าจับตาอย่างมากก็คือ “เกม” ของพรรคก้าวไกล จะดิ้นสู้อย่างไร หลัง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในการลงมติของรัฐสภา
โดยท่ามกลาง กระแสสังคมด้านหนึ่ง ต้องการให้พรรคเพื่อไทย สลัดมือจากพรรคก้าวไกล เพราะยืนยันไม่ลดเพดาน หรือ ยกเลิกความคิด ในการแก้ไข ป.อาญา ม.112 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้ สว. และ สส. จากฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน ตั้งป้อมต่อต้าน รัฐบาล 8 พรรค ซึ่งยังมีพรรคก้าวไกล ร่วมรัฐบาล
อะไรไม่สำคัญเท่ากับ “ด้อมแดง” กับ “ด้อมเหลือง” มีท่าทีสมานฉันท์กันขึ้นมาทันทีทันใด หนุนพรรคเพื่อไทย พลิกขั้ว-ข้ามฟากจัดตั้งรัฐบาล อ้างปัญหาเศรษฐกิจประชาชนเดือดร้อน จะรอนานไม่ได้
ในขณะที่ แกนนำพรรคก้าวไกล มีความคาดหวังอยู่ลึกๆว่า “พิธา” ยังมีโอกาสเสนอชื่อให้รัฐสภาโหวตได้อีก กรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นให้วินิจฉัยปมการโหวตเลือกนายกฯของรัฐสภา เป็น “ญัตติ” หรือไม่ และหากรับเรื่องไว้พิจารณา(ประชุม 3 ส.ค.) อาจมีคำสั่งเลื่อนการโหวตเลือกนายกฯออกไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย รวมทั้งถ้าวินิจฉัยว่า ไม่ใช่ “ญัตติ” ชื่อของ “พิธา” ก็สามารถนำกลับมาโหวตเลือกนายกฯใหม่ได้ และถือว่า การโหวตเลือกนายกฯในแต่ละชื่อที่เสนอ ไม่จำกัดแค่ครั้งเดียวอีกต่อไป
หรือ หากศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับเรื่อง พรรคเพื่อไทย ก็ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป รวมทั้งแม้มีมติรับเรื่อง แต่วินิจฉัยว่า เป็น “ญัตติ” พรรคก้าวไกล ก็ต้องยอมรับสภาพไม่อาจเสนอชื่อ “พิธา” ได้อีก
ดังนั้น ไม่แปลกที่พรรคก้าวไกลจะ “ดิ้น-สู้-ฟัด” กับ “เกม” จัดตั้งรัฐบาล ทั้งกับ “เพื่อน” ที่ห่วงว่า จะ “ปล่อยมือ” พลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล ทั้งกับ “ทางรอด” ที่เหลือโอกาสให้ดิ้นต่อลมหายใจอีกเฮือก
กล่าวคือ ด้านหนึ่ง ปลุกมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย และ “ด้อมส้ม” ลงถนน จัดม็อบเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย ยึดมั่นใน 8 พรรคร่วมรัฐบาลอย่างเหนียวแน่น ไม่เช่นนั้น จะถือว่าไม่มีอุดมการณ์ และ “ทรยศ” ต่อประชาชน รวมถึงกลืนน้ำลายตัวเอง ที่เคยโจมตีการเป็น “นั่งร้านให้เผด็จการ” แต่ตัวเอง กำลังจะเสียคำพูด ยอมเป็น “นั่งร้าน” เสียเอง โดยยุทธวิธีใช้ทั้งไม้อ่อนไม้แข็ง เป็นแรงกดดัน
อีกด้านหนึ่ง ถ้าจับสัญญาณจากแกนนำคนสำคัญ ก็จะเห็นว่า พรรคก้าวไกล ตั้งความหวังกับ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เอาไว้สูง ว่าจะรับเรื่อง การโหวตเลือกนายกฯเป็น “ญัตติ” หรือไม่ นอกจากนี้ ยังปลุกวาทกรรม “10 เดือน” ไม่สายที่จะจัดตั้งรัฐบาล ขอเพียงได้รัฐบาลประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่รัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการ หากเพื่อไทยไปร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมือง “ขั้วอำนาจเดิม”
เห็นได้ชัด กรณี นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สื่อบางสำนัก(24 ก.ค.66) เกี่ยวกับการต่อสู้ของพรรคก้าวไกล บางช่วงบางตอน ระบุว่า
“วันนี้เราต้องมีน้ำอดน้ำทน จะว่าหน้าด้านก็ได้ แต่ต้องหน้าด้านสู้ฝั่งอำนาจเก่า ถามว่าทำไมก้าวไกลไม่ออก 2 สัปดาห์ก่อน มีกระแสในโซเชียลว่า ให้ก้าวไกลออกมาเป็นฝ่ายค้านเลย 4 ปีรอได้ แต่วันนี้ เมื่อหลายคนได้ฟังทฤษฎีคำสอนของพ่อตนที่ว่า เจอคนหน้าด้านต้องหน้าด้านกว่า ตอนนี้กระแสในโซเชียลน่าจะเกือบเอกฉันท์ โดยเปลี่ยนการตัดสินใจกันเกือบหมดแล้ว ว่าต้องสู้ต่อ
เชื่อไหมว่า ถ้าประกาศจุดยืนว่า อย่างไรก็รอ เอาดิ! จะรอ และจะรอจนว่าสุดท้าย เชื่อผมเถอะว่าสุดท้ายจะไม่ถึง 10 เดือน วันนี้ที่กลุ่มอนุรักษนิยมสืบทอดอำนาจพยายามเสี้ยมพยายามกดดัน เพราะคิดว่า เรารอกันไม่ไหว แต่ถ้า 8 พรรคบอกว่ารอได้ ไม่รีบไม่ร้อนเชื่อว่าสุดท้ายไม่ถึง 10 เดือน
ถามว่า ถ้าลุงมา ฉันจะไปไหม เหมือนเพลง พี่ดา เอ็นโดรฟิน ผมก็ยังไม่ไป ถ้าลุงมา 151 เสียงจะสกัดลุงก่อน ลองคิดดูว่า เหมือนบ้านหลังนี้อยู่กัน 8 คน อยู่ดีๆ ลุงมา 2 คน 151 คนจะเดินออกไป ผมว่ามันไม่ใช่ แต่ต้องคุยกับเพื่อนอีก 7 พรรค ว่าไม่เห็นด้วยกับการที่ 2 ลุงจะเข้าบ้าน
ถ้าลุงมา จะทำทุกวิถีทางไม่ให้ลุงเข้ามา แต่ถ้าสุดปลายทางเพื่อนเราเป็นคนเปิดประตูพาลุงเข้ามา จัดแจงที่นอนและสำรับอาหารให้ลุง วันนั้นถ้าเขาเอ่ยปากว่า ให้เราไป ก็อาจจำเป็นต้องไป แต่ไม่ใช่ว่า ลุงมาแค่ประตูหน้าบ้าน ก็จะเปิดประตูออกไปทันที ไม่ๆๆๆ ครับ เราหน้าด้านกว่านั้น เราจะไล่ลุงและบอกเพื่อน 7 เพื่อนว่าประชาชนไม่ต้องการให้ลุงเข้ามา แต่ถ้าเพื่อนผลักอกเรา แล้วเปิดประตูให้ลุง จะทำอย่างไรได้ ถึงวันนั้นอาจต้องทบทวน แต่ไม่เชื่อว่าจะมีวันนั้น”
นอกจากนี้ “วิโรจน์” กล่าวถึงปมเลือกนายกฯเป็น “ญัตติ” หรือไม่ว่า
“ตนเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า การโหวตนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ ไม่เช่นนั้นจะกระทบกระเทือนกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง จึงมองว่า สามารถเสนอนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซ้ำได้ รวมถึง นายเศรษฐา ทวีสิน และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย
วันนี้ ผมเตรียมตั้งคำถามด้วยซ้ำไปว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเสนอให้สภาเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ญัตติ คนที่โหวตYES จะรับผิดชอบอย่างไร ผมมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าไม่ใช่ญัตติ เพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบหลายเรื่อง และมันตีความเป็นญัตติไม่ได้ ถ้าสุดท้ายไม่ใช่ญัตติ ก็เสนอชื่อคุณพิธาซ้ำได้ ก็เสนอวนไป คุณพิธาบ้าง คุณเศรษฐาบ้างคุณอุ๊งอิ๊งบ้าง สู้กันไปอย่างนี้ จับฉลาก คราวนี้พิธาลุยก่อน พูดเล่นนะ คงต้องมีการหารือกัน”
ด้านความเคลื่อนไหวล่าสุด(28 ก.ค.) ของพรรคเพื่อไทย ในการจัดตั้งรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการนัดประชุม 8 พรรคร่วม จัดตั้งรัฐบาลว่า เบื้องต้นจะนัดประชุม 8 พรรคร่วม ช่วงประมาณต้นเดือนสิงหาคม โดยจะประสานแต่ละพรรคก่อนว่า ว่างตรงกันวันไหน ช่วงเวลาใด จากนั้นจะประสานเพื่อนัดประชุมอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
โดยพรรคเพื่อไทยจะรายงานข้อมูล ที่ไปพูดคุยเพื่อขอเสียงสนับสนุนจากทั้ง ส.ว. และส.ส. จากพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ต่างมีปัญหาตรงกันคือห้ามแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงหากพรรคก้าวไกล ยังอยู่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลพวกเขาก็จะไม่ให้เสียงสนับสนุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไปรับฟังมา และจะได้นำไปรายงานต่อที่ประชุม 8 พรรคร่วม ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลจะหาทางออกให้เราอย่างไร ซึ่งเราอยากให้ก้าวไกลตัดสินใจในส่วนนี้
ประเด็นก็คือ พรรคเพื่อไทย จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องทำให้เห็นว่า พยายามอย่างสุดความสามารถในการเจรจาหาแนวร่วมเพื่อเพิ่มคะแนนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา แต่สุดท้ายก็ติดปัญหาที่ “ก้าวไกล” เจอกับตัวเอง คือ ปมแก้ไข ป.อาญา ม.112 ทำให้ไม่ได้เสียงสนับสนุน ยิ่งกว่านั้น ยังมี “เงื่อนไข” ห้อยท้ายด้วยว่า ทุกพรรคที่ไปพูดคุย และส.ว.ส่วนใหญ่ “ไม่เอาก้าวไกล”
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ 8 พรรคร่วมจะตัดสินใจในการประชุมครั้งนี้ ก็คือ เอาอย่างไรดีกับการจัดตั้งรัฐบาล ที่เท่ากับว่า ถึง “ทางตัน” หากพรรคก้าวไกล ไม่ทำให้เชื่อได้ว่า จะไม่แก้ไขป.อาญา ม.112
ดูเหมือน “เพื่อไทย” พร้อมประกาศ ตั้งรัฐบาล “ผ่าทางตัน” อยู่แล้ว เพียงแต่รอให้ “ก้าวไกล” ตอบสาธารณชนเรื่องนี้ เพื่อความชอบธรรม หากในที่สุดต้องตัดสินใจ “ปล่อยมือ” พลิกขั้ว-ข้ามฟากจัดตั้งรัฐบาล
สรุปแล้ว ทั้งเจ้าบ่าวก้าวไกล และ เจ้าสาวเพื่อไทย แม้มีเรื่องเข้ากันไม่ได้ แต่ต่างเกี่ยงกัน ไม่ยอมบอกเลิกก่อน และรออีกฝ่ายบอกเลิก จึงจะยอมหม้ายขันหมาก แล้ว ฝ่ายที่บอกเลิก ก็จะต้องรับผิดชอบผลที่ตามมาเอง
ประเด็นที่น่าคิด และอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของพรรคเพื่อไทย(ทางเลือกที่ 2 รองลงมาจาก พลิกขั้ว) คือ ยังคงเหนียวแน่นกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาล และเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย แต่อาจซ้ำรอยกับกรณี “พิธา” ของพรรคก้าวไกล จนครบทั้ง 3 คน ก็ไม่ผ่านรัฐสภา จนสุดท้าย ต้องส่งต่อแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไปให้พรรคลำดับที่3 คือ ภูมิใจไทย
จากนั้น พรรคภูมิใจไทย จัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับ พรรคพลังประชาชารัฐ รวมถึง พรรครวมไทยสร้างชาติ (ที่ไม่มี “ลุงตู่”แล้ว) โดยดึงพรรคเพื่อไทย เข้าร่วม เพื่อให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก
กรณีนี้ “เพื่อไทย” อาจถูกโจมตีน้อยลง และมีข้ออ้าง เห็นแก่ “ประชาชน” ที่รอการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะต้องการผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของตัวเอง
อย่าลืม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พูดเปิดทาง หลังเพื่อไทยตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เอาไว้เช่นกัน
จับตาให้ดี การเมือง เรื่องเกมแห่งอำนาจ และเกมต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ ยิ่งการจัดตั้งรัฐบาลกำลังเดินเข้าสู่ “ทางตัน” ทั้งยังอาจมีตัวแปรแทรกซ้อน กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะจบแบบไหน ย่อมมีฝ่ายผิดหวังทั้งสิ้น สำคัญอยู่ที่ผลประโยชน์ตกที่ประชาชนหรือไม่ เท่านั้นเอง