จับตาเงื่อนไข 'พิธา' นายกฯ เปิดช่อง แต่ 'ค่ายกล' ไม่ง่าย

จับตาเงื่อนไข 'พิธา' นายกฯ เปิดช่อง แต่ 'ค่ายกล' ไม่ง่าย

หลายคน รวมทั้งฝ่ายอนุรักษ์ คงกระหยิ่มยิ้มย่อง ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หมดสิทธิ์ที่จะนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว และพรรคก้าวไกล ก็จะไม่มีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาลอีกแล้ว

แต่ความจริง ยังมี “เงื่อนไข” ที่เปิดช่องเอาไว้ และมีปัจจัยเอื้อจากความเพลี่ยงพล้ำของฝ่ายรัฐบาล เพียงแต่เงื่อนไขนั้น ต้องฝ่าด่าน“อรหันต์” ศาลรัฐธรรมนูญ กรณีวินิจฉัยถือหุ้นสื่อ และกรณีหาเสียงแก้ไข ป.อาญา ม.112 ไปให้ได้ก่อน  

สำหรับ “เงื่อนไข” ที่มาเข้าทาง “พิธา” และ พรรคก้าวไกลนั้น ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เอาไว้อย่างน่าสนใจ

ประเด็น การผลักดันนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย จนมาสู่การเป็นรัฐบาล คือการเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงินหมื่นบาท โดยรัฐบาลเสนอออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้โครงการดังกล่าว ประเมินว่าจะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่ และหากไม่ผ่าน จะส่งผลกระทบตามมาหรือไม่ อย่างไร

อ.ไชยันต์ วิเคราะห์ว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะไม่ผ่านนั้น มีอยู่สองด่านเท่านั้น คือ ด่านสภาผู้แทนราษฎร และด่านศาลรัฐธรรมนูญ การที่พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะผ่านหรือไม่ผ่านสภาฯ ไม่ขึ้นอยู่กับเสียงฝ่ายค้านเลย เพราะในตอนที่โหวตเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี นั้น พรรคเพื่อไทยได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคอื่นๆรวมแล้ว 173 เสียง โดยพรรคเพื่อไทยมี 141 เสียง

ในการลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ ดังนั้น เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทยต้องการอีกเพียง 110 เสียงจากเสียงของพรรคร่วม 173 เสียง                                                                                                                 

การที่ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะผ่านหรือไม่ผ่านสภาฯ อาจออกมาได้หลายแบบ โดยแบบแรกคือ เสียงพรรคร่วมรัฐบาลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย คือ เสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด 314 เสียงเทให้ ผ่านสามวาระ ส่งต่อไปที่วุฒิสภา และสมมติว่า แม้เสียงข้างมากของวุฒิสภาจะไม่เห็นชอบ แต่ก็ไม่มีผลที่จะคว่ำ ร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯ ได้

การจะคว่ำ จึงไปตกอยู่กับการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขัดกับวินัยการคลังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ การจะร้องนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดว่า จะต้องมี ส.ส. หรือ ส.ว. เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา หมายความว่า ในกรณีที่พรรคร่วมเทให้เพื่อไทยรวม 314 เสียง คงไม่มีส.ส. ฝั่งรัฐบาลไปเข้าชื่อกัน 50 คนเพื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นเรื่องประหลาดที่ลงคะแนนสนับสนุนแล้ว จะไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีก

แต่ที่จะเป็นไปได้ก็คือ พรรคฝ่ายค้านเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส. ไม่ถึง 50 คน ดังนั้น พรรคก้าวไกลเท่านั้นที่จะสามารถมีสิทธิ์เข้าชื่อกันถึง 50 คน ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และสมมติว่า ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าขัดวินัยการคลัง ก็จะส่งผลให้ ร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯ ไม่ผ่าน     

หรือในอีกทางหนึ่ง ไม่ผ่านตั้งแต่ขั้นสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหมายความว่า เสียงแตกในพรรคร่วมรัฐบาล กรณีไม่ผ่านเพราะสาเหตุคำตัดสินศาลฯ ไม่ใช่เสียงพรรคร่วมรัฐบาลแตก “เศรษฐา” ก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องลาออก เพราะพรรคร่วมไม่ได้เสียงแตก

แต่ถ้าไม่ผ่านเพราะเสียงพรรคร่วมแตก นั่นคือ ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ได้เสียงถึง 251 ขึ้นไป ก็มีนัยว่า รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยไม่ได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร “เศรษฐา” อาจจะใช้โอกาสนี้แสดงสปิริตลาออก เพื่อให้มีการจับขั้วตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้น

และตามธรรมเนียมของระบบรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้านจะเป็นฝ่ายเคลื่อนไหวที่จะนำการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้น นั่นคือ ก้าวไกลจะประกาศเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล                                                                                                                    

แต่ถ้าศาลฯตัดสินให้ “พิธา” หมดสิทธิ์ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลก็จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ผู้นำฝ่ายค้านนำการจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้ว่าจะมีเสียง ส.ส. มากที่สุดในสภาฯก็ตาม ดังนั้น สิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลก็จะยังคงอยู่กับพรรคที่มีเสียงส.ส. รองลงมาจากพรรคก้าวไกล นั่นคือ พรรคเพื่อไทย

แต่เพื่อไทยน่าจะไม่จับมือกับพรรคร่วมที่ไม่สนับสนุน ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน อาจดึงพรรคก้าวไกลมาร่วมรัฐบาล เป็นรัฐบาลผสมสองพรรคที่รวมส.ส.กันแล้ว ได้ถึง 280+ ซึ่งมากกว่าสมัย “ลุงตู่” จัดตั้งรัฐบาลผสมสารพัดพรรคในปี 2562 ด้วยซ้ำ

การเป็นรัฐบาลผสมสองพรรคจะทำให้พรรคเพื่อไทยได้กระทรวงต่างๆมากขึ้น แม้ว่าจะเสี่ยงกับการต้องคอยง้อพรรคก้าวไกล เพราะการเป็นรัฐบาลผสมสองพรรค หากวันดีคืนดี พรรคก้าวไกลถอนตัวออกไป รัฐบาลก็ล่มทันที ผิดกับเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคที่ต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน                                                                          

เงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาลผสมสองพรรค คือพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ “เศรษฐา” ลาออกและการเลือกนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นหลังจากที่ ส.ว. ไม่มีอำนาจในการเลือกนายรัฐมนตรีแล้วในเดือนพฤษภาคม 2567 พรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลจะมีฟรีแฮนด์ในการจัดตั้งรัฐบาลมากขึ้น ถ้า “เศรษฐา” ลาออก และ “พิธา”ไม่โดนตัดสิทธิ์ พรรคก้าวไกลก็จะต้องยืนยันให้ “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี

 

แต่คำถามคือ พรรคเพื่อไทยจะยอมร่วมรัฐบาลโดยให้พรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่? ขณะเดียวกัน พรรคร่วมรัฐบาลเดิมก็เสียงแตกไม่สนับสนุน พ.ร.บ.กู้เงิน ฯ

ดังนั้น ภายใต้สมการที่ “พิธา” ไม่โดนตัดสิทธิ์ และร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ ถูกคว่ำเพราะเสียงพรรคร่วมรัฐบาลแตก “เศรษฐา” ลาออก เป็นไปได้ที่จะให้ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยขอเสียงจากพรรคร่วมที่แม้ว่าจะไม่สนับสนุน ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน แต่ยังต้องการร่วมรัฐบาลกันอยู่ต่อไป โดยกันพรรคก้าวไกลไว้ได้ตามเคย                                              

“จึงน่าจับตาคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีคุณพิธาถือหุ้นสื่อในวันที่ 24มกราคม 2567 ที่จะส่งผลต่อความเป็นไปได้ ทั้งในการจับขั้วทางการเมืองใหม่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ขณะเดียวกัน ก็ต้องจับตากระแสการถามหาความไม่โปร่งใส การตั้งคำถามกับการเลือกปฏิบัติในกรณีคุณทักษิณ ที่อาจจะบานปลายเป็นวิกฤตการเมืองครั้งสำคัญอีกครั้งในรอบทศวรรษ นั่นคือ รอบสิบปีจาก 2557 ถึง 2567”

อ.ไชยันต์ เชื่อว่า ถ้ากรณีทักษิณบานปลาย ก็จะมีผลต่อการตัดสินใจร่วมรัฐบาลของพรรคร่วมเดิมด้วย

ส่วน ก่อนที่ “250ส.ว.” ชุดนี้จะหมดวาระลงในพ.ค.นี้ จะมีปรากฏการณ์ทางการเมืองอะไร ที่ต้องจับตาบ้าง

อ.ไชยันต์ มั่นใจว่า จะไม่มีการเลือกนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นอีกในช่วงที่ส.ว. 250 ยังคงอยู่ แต่ปรากฏการณ์ที่น่าจับตาเกี่ยวกับส.ว.ชุดนี้คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ หากร่างผ่านสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่า เสียงเกินครึ่งของวุฒิสภาจะไม่เห็นด้วย หรือให้มีการแก้ไข แต่ตามรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2560 แม้ ส.ว. ไม่เห็นด้วย ก็ไม่มีผลที่จะยับยั้งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

ดังนั้น หาก ส.ว. ไม่เห็นด้วย สิ่งที่จะทำได้คือ รวบรวมรายชื่อ ส.ว. ให้ได้ 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภา และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ร่าง พ.ร.บ. กู้เงินนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่....

เมื่อเป็นเช่นนี้ ที่น่าวิเคราะห์ตามมาก็คือ การออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทของรัฐบาล เสี่ยงมากน้อยแค่ไหนที่จะถูกคว่ำ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่  

ทั้งนี้ มีกฎหมายที่น่าพิจารณา ดังนี้

พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 53  ที่บัญญัติว่า

“การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดำเนินการ โดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ

การดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้นเงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 140 ที่บัญญัติว่า

“การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ เว้นแต่ในกรณีจําเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้

แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป”

เห็นได้ชัดว่า ทั้งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ปี 2561 กำหนดเงื่อนไขในการออก พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ว่า

ต้องเป็น “กรณีจําเป็นรีบด่วน” หรือ “กรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดำเนินการ โดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน” เท่านั้น

ทำให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างเชื่อว่า การกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลเศรษฐา เพื่อนำมาแจกตามนโยบายแจกเงินดิจิทัลฯ 1 หมื่นบาท นั้น มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ มีความเสี่ยงสูงที่จะทำผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง และขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

แต่เมื่อรัฐบาล เลือกที่จะเดินหน้าฝ่าด่าน คณะกรรมการกฤษฎีกา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งไม่รู้ว่า ผลจะเป็นอย่างไร ขณะที่อีกด้านหนึ่ง มีผู้ร้องไปยังองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบแล้ว ไม่นับช่องทางสภาผู้แทนฯ หรือ วุฒิสภา ก็สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ อย่างที่ อ.ไชยันต์ ชี้ช่องเอาไว้ จึงนับว่าน่าจับตามองอย่างยิ่ง

น่าจับตามอง “พิธา” และพรรคก้าวไกล ก็ยังไม่หมดสิทธิ์ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลเสียเลยทีเดียว เพียงแต่ไม่ง่าย เพราะยังมี “ด่านหิน” ที่จะต้องก้าวผ่านให้ได้ก่อน อย่างน้อย 2 ด่าน คือ กรณีถือหุ้นไอทีวีของ “พิธา” ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร และกรณี “พิธา” และพรรคก้าวไกล หาเสียงแก้ไข ป.อาญา ม.112 คำวินิจฉัยจะรุนแรงแค่ไหน ถึงขั้น “ยุบพรรค” หรือไม่  

ไม่นับว่า แม้ “พิธา” และพรรคก้าวไกล จะรอดตัวจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และโอกาสมาเข้าทางจัดตั้งรัฐบาล กรณีพรรคร่วมรัฐบาลไม่สนับสนุน หรือไม่ผ่านร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จนเป็นเหตุให้ “เศรษฐา” ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงสปิริต แต่ประเด็นก็ยังอยู่ที่ “เพื่อไทย” จะยอม “พลิกขั้ว” มาร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล หรือไม่?  

รวมถึง “ดีล” ระหว่าง นายทักษิณ ชินวัตร กับ ขั้วอำนาจเก่า จบลงหรือยัง ล้วนมีส่วนตัดสินชะตาอนาคตของพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น

อย่างนี้ต้องบอกว่า แม้มี “ช่อง” ให้กลับมามีโอกาส “ลุ้น” ทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “พิธา” และจัดตั้งรัฐบาล ของพรรคก้าวไกล แต่ทว่า ดูเหมือน “ค่ายกล” ที่ต้องฝ่าฟัน ล้วนแต่ “ดับฝัน” ได้ไม่ยาก หรือไม่จริง?