ปรากฏการณ์ ทักษิณ-ตะวัน จัดกระบวนทัพการเมืองสองขั้ว

ปรากฏการณ์ ทักษิณ-ตะวัน จัดกระบวนทัพการเมืองสองขั้ว

น่าจะปิดประตูตายไปแล้วเรียบร้อย? “ดีล” ระหว่าง นายทักษิณ ชินวัตร กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในการร่วมรัฐบาล หลังเกิดปรากฏการณ์ “ดีลทักษิณกลับบ้าน” แบบเท่ๆ เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ถูกตัดสินจำคุก 8 ปี ขอพระราชทานอภัยโทษ ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี และอาศัยช่องตามกฎหมายไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียว โดยพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจจนครบ 6 เดือน และได้รับการ “พักโทษ” ตามเงื่อนไข กลับไปอยู่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ตามคาด

และปรากฏการณ์ กรณี กลุ่มตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ขับรถไล่ตาม บีบแตรใส่ขบวนเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

จนนำมาสู่การปะทะกันระหว่าง แกนนำสามนิ้วและกลุ่มทะลุวัง นำโดย ทานตะวัน และพวก กับกลุ่มแนวร่วมศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นำโดย อานนท์ กลิ่นแก้ว หรือ “สิงห์ดำ” หัวหน้ากลุ่มนักรบเลือดสีน้ำเงินปกป้องสถาบัน

ทั้งนี้ การเผชิญหน้าดังกล่าว เกิดขึ้นหลังมีกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสม กรณีกลุ่มตะวันขับรถไล่ตาม และบีบแตรใส่ขบวนเสด็จฯ

และแม้จะโดนกระแสสังคมโจมตีอย่างหนัก แต่กลุ่มของตะวันก็ยังไม่ออกมาแสดงความรับผิดชอบ-สำนึกผิดต่อสิ่งที่ทำลงไป มิหนำซ้ำยังนัดหมายทำกิจกรรมที่สกายวอล์ก สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม เพื่อทำโพลถามความคิดเห็นในหัวข้อ “คุณคิดว่าขบวนเสด็จฯ สร้างความเดือดร้อนหรือไม่”

จนเกิดการปะทะกับกลุ่มแนวร่วม ศปปส. ที่พาแนวร่วมมาดักรอสกัดไม่ให้มีการทำโพล แล้วชกต่อยกันชุลมุน ก่อนจบลงโดยทั้ง 2 กลุ่มต่างไปแจ้งความต่อกันที่ สน.ปทุมวัน

เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีคนออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย โดยเกือบทั้งหมดไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าของกลุ่มคนที่เห็นแตกต่าง จนเกิดเหตุที่นำมาซึ่งการทำร้ายร่างกายกัน

ขณะทั้ง 2 ฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ของตัวเอง กลุ่ม ศปปส. บอกว่า การเคลื่อนไหวของตะวันกับพวก ที่ขับรถไล่ตามและบีบแตรใส่ขบวนเสด็จฯ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม คนไทยรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น และยังไม่ยอมหยุดเคลื่อนไหว ซึ่งหากไม่มีการนัดหมายทำโพลอีก ก็ไม่เกิดเรื่อง

ด้านกลุ่ม “ตะวัน” และแนวร่วมผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหว ก็อ้าง ความเท่าเทียม-การแสดงออกของประชาชน และบอกว่า ศปปส.ใช้ความรุนแรงก่อน....

เท่านั้นไม่พอ ยังมีความเห็นที่แหลมคมว่า พฤติกรรมของกลุ่มตะวัน เป็นการปลุกฝ่าย “ขวาจัด” ให้ออกมาปะทะกับฝ่ายซ้าย จนอาจนำไปสู่เหตุการณ์เหมือน 6 ตุลาคม 2519 ได้

รวมทั้ง เกิดปรากฏการณ์ปกป้อง และให้กำลังใจ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยกิจกรรมต่างๆ หลากหลาย ของกลุ่มคน หน่วยราชการ ประชาชน โดยเฉพาะการนัดกันแต่งกายด้วยเสื้อสีม่วง ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์ของ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนกลายเป็นกระแสร่วมของคนทั้งประเทศ

นี่คือ สองปรากฏการณ์ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความเกี่ยวโยงกับการเมืองไทย ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต อย่างไม่ต้องสงสัย

กรณี “ทักษิณ” จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้น หลังรู้ผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ปรากฏว่า พรรคก้าวไกล พลิกความคาดหมาย ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับ 1 ได้ส.ส.151 ที่นั่ง ขณะที่พรรคเพื่อไทย มาเป็นอันดับ 2 ได้ 141 ที่นั่ง นอกจากนี้ ทั้งสองพรรคยังได้ที่นั่งทิ้งห่างพรรคการเมืองอื่นที่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เห็นฝุ่น

ทั้งที่ทุกพรรคการเมืองทุ่มหาเสียงกันอย่างหนัก ผลักดันนโยบายขายฝัน ลดแลกแจกแถมให้กับประชาชน ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ยิ่งกว่านั้น พรรคใหญ่หลายพรรคยังเต็มไปด้วยอดีตส.ส.มาลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ก็ยังแพ้พรรคก้าวไกล ที่ผู้สมัครส่วนใหญ่ เป็นคนรุ่นใหม่ ลงสมัครครั้งแรก และ “โนเนม” ในสนามการเมือง

นั่นแสดงว่า กระแสต้องการเปลี่ยนแปลงในประชาชนพุ่งสูง สอดรับกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย “จุดประเด็น” มาตลอดช่วงปลายรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

 เพียงแต่พรรคเพื่อไทย ติดบ่วงกระแสข่าว “ดีลลับ” กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรคพลังประชารัฐ ที่จะร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เพื่อนำ “ทักษิณ” กลับไทย จึงทำให้ประชาชนหันมาเลือกพรรคก้าวไกล ที่มีจุดยืนที่มั่นคง ในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและการเมือง

อีกด้านหนึ่ง ก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นยุคตกต่ำของพรรคการเมือง “อนุรักษนิยม” และไม่อาจเป็นที่พึ่งที่หวังของฝ่ายอนุรักษนิยมได้เช่นเคยแล้ว เพราะกระแสคนรุ่นใหม่ ในทางการเมืองมาแรง ทั้งยังมีแนวโน้มสูงที่จะพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

อะไรไม่สำคัญเท่ากับ พรรคก้าวไกล มีนโยบายแก้ไข ป.อาญา ม.112 ซึ่ง มีผลกระทบอย่างสูงต่อสถาบันหลักของประเทศ ทั้งยังเป็นพรรคการเมือง ที่มีแนวร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านสถาบันฯอีกด้วย

ยิ่งทำให้กระแสที่มาแรงของพรรคก้าวไกล เป็นความน่ากลัว และอันตรายอย่างมากต่อคู่แข่งในทางการเมือง

อาจด้วยเหตุนี้ “ดีลพิเศษ” จึงเกิดขึ้น โดยมีการวิเคราะห์กันว่า เงื่อนไขสำคัญคือ ไฟเขียวให้ “ทักษิณ” กลับไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายดังกล่าว และจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ โดยมี “พรรคฝ่ายอนุรักษ์” เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเป็น “หัวหอก” ในการต่อสู้ทางการเมือง

จึงไม่แปลก ที่มีการวิเคราะห์กันว่า หลัง “ทักษิณ” ได้รับการพักโทษ งานที่ “ดีล” เอาไว้จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเต็มกำลัง ด้วยการผลักดันกลยุทธ์สารพัด ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะพรรคก้าวไกลนั่นเอง

ยิ่งเมื่อไม่นานมานี้ หลังมีกรณีกลุ่ม “ตะวัน” ขับรถไล่ตาม บีบแตรใส่ขบวนเสด็จฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนมีกระแส “ปกป้อง” กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และปกป้องสถาบันฯ

กลางงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศออกมาอย่างชัดแจ้ง “ดีใจที่ได้มาร่วมงานและดินเนอร์ ครั้งหน้าไม่ไกลเกินไป เราจะได้มีโอกาสทำความรู้จักกันมากขึ้น และทำงานด้วยกัน รับใช้พี่น้องประชาชน และ “พระเจ้าอยู่หัว” ของเรา”

ส่วนกรณี กลุ่มตะวัน ขับรถไล่ตาม และบีบแตรใส่ ขบวนเสด็จฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนคนไทยจำนวนมากสุดทน

ทีเด็ดที่โลกโซเชียลขุดคุ้ย และนำมาโยงกับพรรคก้าวไกล ก็คือ กรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขณะเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยเขียนจดหมาย “คารวะ” การต่อสู้ของ “ตะวัน-แบม” ถึงในคุก ช่วงต้นปี2566 และมีท่าทีเป็นพวกเดียวกัน

โดย เพจ วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร โพสต์ข้อความ พร้อมเปิดจดหมายนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เขียนด้วยลายมือ ถึง “ตะวัน-แบม” ระบุว่า

“#ทุกคนคะ สมัย ตะวัน อยู่ในคุก แด๊ดดี้ ยังกระเสือกกระสน เขียนจดหมายไป ออดอ้อน หยอดคำหวาน อยู่เลยค่ะ

“ผมขอคารวะหัวจิตหัวใจความกล้าหาญของทั้งคู่มาก ผมเองละอายใจ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า สังคมได้ลืมตาตื่นขึ้น เห็นถึงความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เพราะผม เพราะพรรคก้าวไกล พวกเราทำน้อยเกินไป พวกคุณคือคนผลักดันสังคมมาถึงจุดนี้”

“ภารกิจในส่วนของคุณสำเร็จแล้ว จากนี้เป็นหน้าที่ของพวกเราและพรรคก้าวไกล. เราจะทำภารกิจนี้ให้สำเร็จด้วยกัน และผมต้องการให้คุณอยู่ร่วมฉลองชัยชนะ ของประชาชนร่วมกับเราทุกคน”

รวมถึงการโยง “พิธา” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะที่เคยเป็น “นายประกัน” ประกันตัวให้กับ “ตะวัน” มาก่อนด้วย

และที่น่าย้อนให้เห็นอีกอย่าง ก็คือ ช่วงต้นปี2566 “ตะวัน-แบม” เคยอดอาหารในคุก และเรียกร้อง 3 ประเด็น

1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก มาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี

2. ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง

3. พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116

พวกเรามีเวลาให้ศาลและพรรคการเมืองทุกพรรค 3 วัน

หากในวันพุธที่ 18 มกราคม 2566 เพื่อนเราทุกคนยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว และข้อเรียกร้องเหล่านี้ยังไม่เป็นผล พวกเราจะยกระดับทั้งจากข้างในคุกและจากข้างนอก ในวันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม 2566...

ประเด็น ก็คือ ความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวงของพรรคก้าวไกล หลังจากส.ส.ทั้งหมดย้ายมาจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ ก็คือ แนวทางต่อสู้ที่อิงการเคลื่อนไหวของ “คนรุ่นใหม่” หลังจากปลุกกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผ่าน “คนรุ่นใหม่”

 

ที่สำคัญ หนึ่งในการเคลื่อนไหว ที่ปฏิเสธไม่ได้ของ “คนรุ่นใหม่” หรือ ขบวนการ “สามนิ้ว” ก็คือ “ปฏิรูปสถาบันฯ” นั่นเอง

และแทบทุกครั้ง ที่การชุมนุมของ ม็อบ “สามนิ้ว” ทำผิดกฎหมาย ถูกจับกุม จะมีส.ส.ของพรรคก้าวไกล ไปช่วยประกันตัวอยู่เสมอ เรื่องนี้ จึงทำให้พรรคก้าวไกล ถูกโยงใยได้ไม่ยาก ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอะไรหรือไม่?

สุดท้ายพรรคก้าวไกล ถูกมองว่า เป็น “ขา” ข้างหนึ่งของอุดมการณ์การต่อสู้ โดยใช้เวทีสภาฯ ขณะที่ “ขา” อีกข้าง คือ การเคลื่อนไหวบนท้องถนน(ม็อบสามนิ้ว) และทุกเรื่องจะไปบรรจบกันเสมอ

ดังนั้น สิ่งที่น่าวิเคราะห์ต่อไปก็คือ ปรากฏการณ์การต่อสู้ทางการเมืองของ “สองขั้ว” ระหว่าง ฝ่ายอนุรักษนิยม กับ ฝ่ายพรรคก้าวไกล จะเป็นไปอย่างแหลมคมยิ่ง

วันนี้ถือว่า จัดกระบวนทัพชัดแจ้งแดงแจ๋แล้ว ว่าใครอยู่ฝ่ายไหน รบกับใคร สนามรบ คือ การเลือกตั้งครั้งหน้ากำลังรออยู่ และประชาชน จะเป็นผู้ตัดสินอนาคตประเทศไทย