ชงนิรโทษพ่วง “คดี112” จับตาปลดบ่วง “ทักษิณ”
อานิสงส์จากการเสียชีวิต ของ เนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง) นักกิจกรรมทางการเมือง เนื่องจากการอดอาหารประท้วงและเรียกร้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปลุกกระแส “นิรโทษกรรม” คดีที่เกี่ยวข้องทางการเมืองขึ้นมาอีกครั้ง
ด้วยเหตุผลหนึ่งที่สังคมไทยอาจต้องกลับมาฉุกคิด คือ ไม่อยากให้ใครต้องมาเสียชีวิต เพราะการต่อสู้เรียกร้องเรื่องนี้อีก
โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาล 4 ข้อ สรุปได้ว่า
หนึ่ง - ข้อเสนอต่อการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ให้ชะลอคดีทางการเมือง ซึ่งจะเป็นหนทางสำคัญที่ไม่สร้างความขัดแย้งเพิ่มเติมจนกว่าจะได้ความชัดเจนในการจัดทำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
สอง - ข้อเสนอต่อการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ขององค์กรอัยการ ให้นายกรัฐมนตรีมีความเห็น หรือรัฐบาลมีมติ ครม. เสนอไปยังอัยการสูงสุดให้พิจารณาสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องได้ ตามมาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการพ.ศ. 2553 ประกอบข้อ 7 ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ. 2554
ทั้งนี้ ข้อ 7 (4) เหตุผลตามความเห็นของรัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีถึงผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์สำคัญของประเทศ และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2561 ข้อ 7 (5) เหตุผลตามความเห็นของนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอื่นถึงผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ข้อ 7 (6) ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความสามัคคีของคนในชาติ
ดังนั้นอาศัยอำนาจนี้ นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีสามารถดำเนินการให้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางการเมืองทั้งหลาย ให้คดีเป็นอันยุติลงไป ซึ่งจะทำให้บุคคลเหล่านี้สามารถกลับไปใช้ชีวิตปรกติได้อีกครั้ง
สาม - ข้อเสนอต่อคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลยุติธรรม รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี สมควรอย่างยิ่งที่จะมีการปรึกษากับประธานศาลฎีกา เพื่อให้สิทธิประกันตัวตามสิทธิขั้นพื้นฐาน และการชะลอคดี
สี่ - การนิรโทษกรรมมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน
ขณะเดียวกัน นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร
ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ถึงนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 17 พ.ค.2567 ขอให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาคดีการเมือง เนื้อหาโดยสรุปคือ ข้อเรียกร้องจากกลุ่มบุคคลในนามนักกิจกรรมและประชาชนซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ 4ข้อ
1.ตรวจสอบการเสียชีวิตของน.ส.เนติพร ให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนโดยเร็ว
2.ดำเนินการใดๆให้ผู้ต้องขังซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุดได้รับสิทธิในการประกันตัว
3.ชะลอการดำเนินคดี การจับกุมคุมขัง บุคคลในคดีการเมืองจนกว่าจะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน สั่งไม่ฟ้อง ไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนอุทธรรณ์ และถอนฎีกา ในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ
4.เร่งรัดออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนโดยรวมทุกฝ่ายทุกข้อหาที่มีมูลเหตุแห่งคดีการเมือง ซึ่งขณะนี้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ. ...ได้เสนอต่อรัฐสภา และอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ กมธ.เห็นว่า ข้อ 1-3 มีความสำคัญและอยู่ในความสนใจของประชาชน สำหรับข้อ4 การเร่งรัดออกกฎหมายนิรโทษกรรมฯ รัฐสภามีหน้าที่อำนาจทางนิติบัญญัติ ได้ดำเนินการโดยมีการตั้งกมธ.และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษา คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนก.ค.2567
สำหรับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุแห่งคดีการเมือง ประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาก และบางฝ่ายไม่เห็นด้วย ที่จะให้พ่วง การทำผิด ป.อาญา ม.112 เข้าไปเด็ดขาด ไม่ว่ากรณีใด เพราะ เห็นว่า คดี ป.อาญา ม.112 ไม่ใช่คดีการเมือง แต่เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง และหมิ่นเบื้องสูง ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า ความผิด ป.อาญา ม.112หลายคดีที่มีการจับกุมผู้ชุมนุมทางการเมือง มีมูลเหตุจากการเมือง ที่ต้องรวมด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะต้องนำไปสู่การ “ตีความ” อีกครั้งว่า ความผิด ป.อาญา ม.112 ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมคือ อย่างไร?
แต่ถ้าดูจากท่าทีของฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ผ่าน นายชูศักดิ์ ศิรินิลประธาน กมธ.วิสามัญนิรโทษกรรม สภาฯ ที่ทำหนังสือด่วนถึงนายกรัฐมนตรี เห็นได้ชัดว่า สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และพรรคก้าวไกล ในการเร่งแก้ไขปัญหาทางการเมือง โดยเฉพาะคดี ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในขณะนี้ ก็คือ คดี ป.อาญา ม.112 นั่นเอง
ที่สำคัญ อย่าลืมว่า ไม่แต่เฉพาะนักศึกษา ประชาชน ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนน ในช่วงปี 2563 – 2564 เท่านั้น ที่ต้องคดีทางการเมือง
แม้แต่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ซึ่งทั้งสองคนถือว่า เป็นผู้นำทางความคิดและอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกล ก็ยังโดยฟ้องคดี ป.อาญา ม.112 ด้วย
โดย “ธนาธร” ถูกฟ้องเนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์การจัดซื้อวัคซีนของรัฐบาล พาดพิงเบื้องสูง ขณะที่ “ปิยบุตร” แสดงความคิดเห็นพาดพิงสถาบันฯ
ยิ่งกว่านั้น ต้องไม่ลืมเป็นอันขาดเช่นกันว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบิดา “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการได้รับ “พักโทษ” ก็ต้องคดี ป.อาญา ม.112 เช่นกัน อยู่ที่ว่าอัยการสูงสุด จะสั่งฟ้องหรือไม่เท่านั้น
และที่น่าจับตามอง ก็คือ ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 นี้ อัยการสูงสุด นัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ หลังจากมีการเลื่อนมาก่อนหน้านี้
เนื่องจาก “ทักษิณ” ไม่เดินทางไปรับฟังคำสั่งคดี (10 เม.ย.67) มีเพียง นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจ เดินทางไปพบอัยการเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงาน อสส. แถลงว่า หลัง อสส. มีความเห็นให้สั่งสอบเพิ่มเติม และให้พนักงานสอบสวนส่งผลสอบเพิ่มเติมมาก่อนวันที่ 10เม.ย.
แต่ปรากฏว่า จนถึงเย็นวานนี้ (9 เม.ย.) พนักงานสอบสวนได้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมมาเพียงบางประเด็น ยังไม่ครบถ้วนทุกประเด็น คดีจึงไม่อาจมีความเห็นและคำสั่งของอัยการสูงสุดได้ ก็จำเป็นต้องเลื่อนไปฟังคำสั่งคดีนี้อีกครั้ง 29 พฤษภาคม 2567 เวลา09.00 น.
สำหรับคดีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศของ “ทักษิณ” เมื่อ 21 พฤษภาคม 2558 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาคดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นเท็จตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์
ส่วนการดำเนินคดีนั้น ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อสส. (ในขณะนั้น) “มีความเห็นควรสั่งฟ้อง” เมื่อ 19 กันยายน 2559 ตามที่พนักงานสอบสวนเสนอมา แต่เนื่องจากผู้ต้องหาหลบหนี อสส. จึงให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกหมายจับ และได้รับอนุมัติหมายจับโดยศาลอาญา
หลัง “ทักษิณ” กลับไทย อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เข้าแจ้งข้อกล่าวหาและข้อเท็จจริงทางคดีกับ “ทักษิณ” ขณะพักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ ชั้น 14 เมื่อ 17มกราคม 2567 ซึ่ง “ทักษิณ” ให้การปฏิเสธ และทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ อสส.
จากนั้น นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อสส. (คนปัจจุบัน) จึงมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมเพื่อให้สิ้นกระแสความ จึงมีการขยายเวลามาถึงปัจจุบัน
แน่นอน, เมื่อ “ทักษิณ” เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ต้องหาคดี ป.อาญา ม.112 หลายฝ่าย รวมถึงผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันทั้งหลาย ต่างตั้งความหวังเอาไว้สูง ที่การผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเร่งให้ผ่านสภาฯโดยเร็ว ซึ่งต้องจับตามองว่า วันที่ 29 พฤษภาคมนี้ อัยการสูงสุด จะสั่งฟ้อง “ทักษิณ” หรือไม่ หรือ จะเลื่อนฟังคำสั่งออกไปอีก ด้วยสาเหตุใดก็ตาม?
แต่ถ้า “ทักษิณ” รอด โดยอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้อง ประเด็นร้อนทางการเมือง ว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเลือกปฏิบัติ “สองมาตรฐาน” จะพุ่งสูงระดับปรอทแตกทันที เพราะอย่าลืมว่า กลุ่มเคลื่อนไหวที่ทรงพลังทางการเมืองอยู่ในเวลานี้ ก็คือ เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่เรียกร้องนิรโทษกรรมคดี ป.อาญา ม.112 ให้กับเพื่อนผู้ต้องหาของพวกเขา นั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีพรรคก้าวไกล ร่วมต่อสู้คู่ขนานในรัฐสภาด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เป้าหมายหลัก ในการขับเคลื่อนเกมในสภา ก็คือ ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุทางการเมือง โดยรวมถึง คดีป.อาญา ม.112 ให้สำเร็จ
จริงอยู่, ถ้า “ทักษิณ” รอด พรรคเพื่อไทย อาจไม่ต้องออกแรงมากนักในการผลักดันนิรโทษกรรมคดีการเมือง พ่วง ป.อาญา ม.112 และรวมทั้งไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล ที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะพ่วงคดีป.อาญา ม.112
แต่ถ้า “อัยการสูงสุด” สั่งฟ้อง เชื่อได้เลยว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไม่ต้องสงสัย ก็คือ การจับมือกับพรรคก้าวไกล เร่งผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ่วงคดี ป.อาญา ม.112 ด้วยการ “ตีความ” มีมูลเหตุจากการเมือง ซึ่ง“ทักษิณ” ยืนยันมาตลอดว่า เขาต้องคดีเพราะถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง แม้แต่ “คดีทุจริต” ก็ตาม ดังนั้น การตีความเรื่องนี้จะค่อนข้างกว้างและครอบคลุมทุกฝ่ายทุกข้อหาในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง และเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองนั่นเอง
เหนืออื่นใด นอกจากพรรคเพื่อไทย จะช่วย “ปลดบ่วง” ให้กับ “ทักษิณ” แล้ว ยังมีผลพลอยฟื้นกระแสนิยมจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมทั้งผู้ต้องหา ป.อาญา ม.112 ได้ด้วย ไม่มากก็น้อย
หรือว่านี่เอง ที่พรรคก้าวไกล ยังหวังพึ่งพรรคเพื่อไทย ทำให้เกมตรวจสอบรัฐบาลในสภาฯ เหมือนกับจำต้องเล่นไปตามบทบาท รักษาความสัมพันธ์เอาไว้ เพื่อ “งานใหญ่” ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ก็นับว่ามีเหตุมีผล หรือไม่จริง!?