ซีนใหญ่ ‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ กทม.ศูนย์อำนาจ มองต่างมุม

ซีนใหญ่ ‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’  กทม.ศูนย์อำนาจ มองต่างมุม

การกู้ซากตึกถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว และนำผู้ติดค้างออกจากตัวตึกอาจต้องใช้เวลา2 เดือน ท่ามกลางปมดราม่า "ผู้ว่าฯชัชชาติ"โชว์เหนือ ไม่แบ่งงาน ทำการช่วยเหลือล่าช้า

KEY

POINTS

  • เสียงวิจารณ์ขรม “ผู้ว่าฯชัชชาติ” เริ่มมีตั้งแต่วันแรกหลังตึกถล่มเหตุแผ

ครบ 1 สัปดาห์ เหตุการณ์แผ่นดินไหวเขย่า กทม.ได้รับทั้งคำชมและคำตำหนิสำหรับ “ผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ”ล่าสุดออกมาประกาศภาพรวมสถานการณ์กรุงเทพมหานคร กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

เว้นเพียงจุดเดียว เขตจตุจักร สถานที่เกิดเหตุตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ถล่ม ตัวเลขวันที่ 3 เม.ย.เสียชีวิต15 สูญหาย 81 ที่ยังเร่งค้นหาอย่างต่อเนื่อง 

ล่าสุด กทม.จัดระเบียบพื้นที่รอบๆ ตึก สตง.ถล่ม ใหม่ มีบัตรเข้า-ออกในพื้นที่ โรงครัวจิตอาสา ภาคประชาชน ทยอยถอนตัวออกจากพื้นที่ เพราะไม่ได้รับการอำนวยสะดวกในการประกอบอาหารให้เจ้าหน้าที่ทีมกู้ภัยค้นหา

ส่วนเต็นท์พักพิงของบุคคลที่มาเฝ้าญาติสูญหาย จุดบริจาคต่างๆ ถูกรื้อถอน ให้ไปตั้งพื้นที่ใหม่อยู่ห่างไกลจุดเกิดเหตุ และเป็นจังหวะ ที่นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดพักพิงประชาชนพอดี จนมีโซเชียลมีเดียแชร์ข้อความ ทีมงานนายกฯ พังเต็นท์พักพิง

ขณะที่การบริหารจัดการ กทม.ได้จัดระเบียบพื้นที่ใหม่ เมื่อศูนย์การค้าบริเวณเขตจตุจักร ต้องปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.-1 เม.ย.เพราะมีรถเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าออกตลอดเวลา อีกทั้งกำลังเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ จึงอยากให้พื้นที่เขตจตุจักรเข้าสู่ภาวะปกติได้มากที่สุด

ประเด็น“ผู้ว่าฯชัชชาติ”ให้ความสำคัญการท่องเที่ยว จึงเกิดดราม่าตามมา เพราะมีการผุดแคมเปญ Bangkok, We are OK! ชวนคนกรุงเทพฯ เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ เน้นย้ำ Life goes on ชีวิตต้องเดินต่อไป เพราะสถานการณ์ในกรุงเทพฯ คลี่คลายลงแล้ว

พร้อมจัดดนตรีในสวนสาธารณะ 6 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ผ่อนคลายความเครียดทั้งคนที่ยังกลับเข้าที่พักอาศัยไม่ได้ และคนกทม.ทั่วไป ชวนทูต 30 ประเทศมาร่วม เรียกความเชื่อมั่นว่ากรุงเทพฯ แข็งแกร่ง ไร้ปัญหา  

เสียงวิจารณ์ขรม “ผู้ว่าฯชัชชาติ” เริ่มมีตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ หลังปฏิเสธในที่ประชุม ไม่ขอรับที่พักในค่ายทหารรองรับประชาชนที่ไม่สามารถกลับเข้าที่พักได้ เนื่องจากคอนโด อาคาร มีรอยร้าว อาจยังไม่ปลอดภัย

อีกทั้ง กรมอุตุฯ ได้พยากรณ์อากาศฝนฟ้าคะนอง โดยกระทรวงกลาโหม สั่งการให้กองทัพบก จัดเตรียมที่พักไว้รองรับประชาชนได้กว่า 3,000 คน ตั้งแต่ เกียกกาย ดุสิต บางซื่อ บางเขน ยานนาวา

 แต่ “ผู้ว่าฯชัชชาติ” ไม่ขอรับ โดยเลือกเปิดสวนสาธารณะในกทม. ตลอด 24 ชั่วโมง ให้เป็นสถานที่พักพิง จึงปรากฎภาพประชาชนค้างคืนในสวนสาธารณะตามหน้าสื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย

ส่วนภารกิจช่วยผู้ติดค้างเกือบ 100 ชีวิต ในตึก สตง.ถล่ม วันแรกไม่มีระบบ ไร้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่ ต่างฝ่ายต่างทำงาน บางครั้งซ้ำซ้อน ขาดการบริหารจัดการ รถติดเป็นทางยาว จนทหารเข้ามากรุยทางให้สามารถเข้าพื้นที่ได้

“ผู้ว่าฯชัชชาติ” ฟันเปรี้ยงในที่ประชุม บอกตัวเองมีความชำนาญอยู่แล้ว อีกทั้ง กทม.มีบุคลากรเชี่ยวชาญ ขอทหาร จิตอาสาภาคประชาชน อย่าเข้าพื้นที่เกินความจำเป็น กลาโหมจึงสั่งเบรกทหารหัวทิ่ม กำลังส่วนใดที่อยู่ในพื้นที่ให้ปฏิบัติภารกิจต่อ ส่วนกำลังที่เตรียมเข้าพื้นที่ให้รอก่อน จนกว่าจะมีคำสั่งจาก “ผู้ว่าฯชัชชาติ” ขอกำลัง สนับสนุนเพิ่มเติม

เช่นเดียวกับประเด็นเจ้าหน้าที่รถเครน ที่มารอเข้าช่วยเหลือ รื้อซากอาคาร สตง.ถล่ม แต่ยังเข้าทำงานไม่ได้ หรือกรณี “ชาติชาย ไทกล้า” ที่ปรึกษาคณะกรรมการการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติและผู้อำนวยการสถาบันฝึกดับเพลิงและกู้ภัยชั้นสูงทาฟต้า วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของทีมปฏิบัติการว่าล่าช้า ถ่วงเวลาให้โอกาสรอดชีวิตน้อยลง

"เจ้าของรถเครนดังกล่าว ยังไม่เข้าใจแผนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ส่วนมากจะใช้รถเครนขนาดใหญ่ไม่กี่คันในการทำงาน ส่วนที่

ไม่เร่งขุดหรือเจาะปูนออก ผู้สั่งการแต่ละทีม มีการปรับแผนตามสภาพหน้างาน เพื่อให้เข้าการทำงานของทีมกู้ภัยทั้งไทย และต่างชาติ       

หากปฏิบัติการนี้แล้วเสร็จ หลังจากนี้อาจจะมีการเชิญเข้ามาพูดคุยหารือกัน ถึงแนวทางการทำงานในอนาคต" ผู้ว่าฯชัชชาติ แจงประเด็นดราม่า

 เรื่องนี้ มองต่างมุม ด้านหนึ่งตำหนิ “ผู้ว่าชัชชาติ” เรื่องการปฏิเสธความช่วยเหลือ ไม่กระจายงาน อยากโชว์ฝีมือ หรือเน้นพีอาร์

 บางส่วนนำไปผูกโยงการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.ที่จะมีขึ้นปีหน้านี้ เพราะ“ผู้ว่าฯชัชชาติ” มีกำหนดครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 22 พ.ค.2569 การหาแสงหาเสียงเหตุการณ์แผ่นดินไหว กู้ตึกถล่ม หวังเรียกความเชื่อมั่นจากคนกรุง ได้เป็นผู้ว่าฯกทม.สมัยที่สอง

ส่วนด้านหนึ่ง มองว่าเมื่อเกิดภัยพิบัติใน กทม. “ผู้ว่าฯชัชชาติ” มีหน้าที่โดยตรงอยู่แล้วในการบริหารจัดการ การใช้หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่โดยตรงเป็นกลไกขับเคลื่อนก็ถูกต้องแล้ว ส่วนหน่วยงานอื่นทำหน้าที่เพียงสนับสนุนตามการร้องขอเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าช่วยเหลือชีวิตประชาชนที่ติดค้างภายในตึกถล่ม และการขับเคลื่อน กทม.ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ มีเส้นบางๆ ขวางกั้นอยู่ จึงต้องรักษาน้ำหนักให้อยู่ในจุดสมดุล

เช่นเดียวกับ การบริหารจัดการพื้นที่ จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น มีการคาดหมายว่า การรื้อถอนซากตึก เพื่อช่วยคนติดภายในออกมาทั้งหมดอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน

หากเปิดใจยอมรับการช่วยเหลือหน่วยงานอื่น โดยปราศจากอคติ หรือเรื่องการเมือง คำนึงประชาชนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด “ผู้ว่าฯชัชชาติ” อาจไม่ต้องเผชิญประเด็นดราม่าของคนมองต่างมุม