สานต่อเพื่ออนาคต

สานต่อเพื่ออนาคต

ความสำเร็จไม่ว่าเรื่องใด จำเป็นต้องมีการสานต่อ

หากมีโอกาสได้กลับไปเยือนประเทศสเปน สถานที่แห่งหนึ่งที่ผมและนักท่องเที่ยวทั่วโลกจะไม่ยอมพลาดเลยคือ มหาวิหารซากราดาฟามีเลีย (Temple De La Sagrada Familia) ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองบาร์เซโลน่ามายาวนานกว่า140 ปี

สำหรับผู้อ่านที่ยังไม่เคยไปอาจแปลกใจที่ต้องบอกว่ามหาวิหารแห่งนี้เริ่มก่อสร้างในปี 1882 โดยสถาปนิกชื่อก้อง “อันโตนี เกาดี” ซึ่งเสียชีวิตหลังจากก่อสร้างไปในปี 1926 โดยดำเนินการไปได้ราว ๆ 10% เท่านั้น

โดยมีกลุ่มอาคารด้านหน้าและหลังสูงกว่า 100 เมตรเสร็จทันตามกำหนดโดยตกแต่งภายใน ได้สวยงาม เราจะสัมผัสความละเอียดอ่อนทั้งหมดได้จากงานตกแต่งภายในที่สวยงามอย่างไม่น่าเชื่อว่าเป็นผลงานของสถาปนิกและวิศวกรเมื่อ 140 ปีที่แล้ว

ตัวอย่างเช่นบันไดวนลายหอยที่วนไปสู่ชั้นบนสุด และลวดลายแกะสลักทั้งหลายที่ประณีตงดงามมากๆ  แต่ส่วนที่เหลือและยังก่อสร้างไม่สำเร็จนั้น แม้จะมีความพยายามก่อสร้างต่อแต่ก็ต้องเจออุปสรรคหลายครั้งหลายคราเช่นภาวะสงครามและภาวะเศรษฐกิจเพราะความสลับซับซ้อนโดยเฉพาะหอคอยหลัก ที่แทนพระเยซูคริสต์นั้นออกแบบให้สูงตระหง่านถึง 172.5 เมตร ซึ่งหากสร้างได้สำเร็จก็จะกลายเป็นโบสถ์ ที่สูงที่สุดในโลก

อย่าลืมว่า อันโตนี เกาดี ออกแบบโบสถ์หลังนี้ไว้เมื่อ 140 ปีที่แล้ว ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีใครจินตนาการ ถึงความสูงที่เทียบเท่าตึก 50 ชั้นในปัจจุบันได้ ทั้งผู้ออกแบบและผู้ก่อสร้างจึงรู้ดีว่าโครงการนี้มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีคนรุ่นหลังมารับช่วงต่อ

ซึ่งมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกคือโอลิมปิกที่จัดขึ้นในบาร์เซโลน่าเมื่อปี 1992 นั้นก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มหาวิหารซากราดาฟามีเลียได้สะท้อนบุคลิกของเมืองบาร์เซโลน่าให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเพราะโบสถ์แห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและกลายเป็นมรดกโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 1984

ด้วยความต้องการสืบสานผลงานของสถาปนิกและความเล็งเห็นความสำคัญของโบสถ์แห่งนี้ทำให้ประชาชนชาวสเปนเรียกร้องให้ดำเนินการสร้างต่อจนเป็นผลสำเร็จ การเดินทางไปเยือนบาร์เซโลน่าครั้งล่าสุดของผมจึงทำให้ได้เห็นความคืบหน้าครั้งสำคัญ และได้เห็นว่ามหาวิหารที่ดำเนินการก่อสร้างนับร้อยปีนั้นกำลังจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2026 นี่เอง

ความสวยงามอลังการณ์ของมหาวิหารแห่งนี้ไม่ได้มีเพียงความใหญ่โตโอฬาร แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นการใช้กระจกเพื่อตกแต่งภายในอย่างพิถีพิถันทำให้แสงที่สะท้อนลงมานั้นสวยงามประหนึ่งเดินอยู่ในสรวงสวรรค์

และแม้หลังคาจะอยู่สูงเสียดฟ้ากว่า 100 เมตรแต่ด้วยวิธีการออกแบบที่ใช้กระจกเป็นตัวช่วยสะท้อนภาพไปมาให้ผู้ชมได้สัมผัสความอลังการของมันได้อย่างไม่น่าเชื่อ นับเป็นความอัจฉริยะของนักออกแบบ นักก่อสร้าง ที่ประสานวิทยาการทั้งปวงเข้าไว้ด้วยกัน

แต่ความสำเร็จที่สร้างผลงานระดับโลกได้ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น เพราะการสนับสนุนงบประมาณ และการเรียกร้องให้ภาครัฐเดินหน้าก่อสร้างต่อให้กลายเป็นมหาวิหารที่สูงที่สุดในโลกตามเจตนารมณ์ของผู้ออกแบบนั้นต้องใช้เสียงสะท้อนจากชาวเมืองบาร์เซโลน่า จนสามารถดำเนินการได้สำเร็จด้วยดี

ความสำเร็จไม่ว่าเรื่องใด จึงจำเป็นต้องมีการ “สานต่อ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นความคิดของคนอื่นด้วย หากสิ่งนั้นมีประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมต้องอย่าปล่อยให้ความแตกต่างทางความคิดมาเป็นอุปสรรคแต่จงนึกถึงเป้าหมายที่ทุกคนสำเร็จร่วมกันในอนาคต