เวลาสู่ความสำเร็จ

เวลาสู่ความสำเร็จ

เทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ แต่ในเวลาเดียวกันความผันผวนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเหล่านั้นก็ก่อให้เกิดความสับสนตามมามากมาย

เพราะหลายครั้งภาคธุรกิจก็หลงไปตามกระแสโดยไม่ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีประโยชน์กับองค์กรอย่างแท้จริงหรือไม่

การมีแผนในการดำเนินงานอย่างเป็นระบบจึงช่วยให้ผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจได้มองเห็นว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีราคาแพงแต่ละอย่างนั้นสอดคล้องกับแผนงานของตัวเองหรือไม่ แต่การมีแผนงานที่ดีก็ต้องมีองค์ประกอบที่ชัดเจนอย่างน้อย 3 ข้อด้วยกัน

ข้อแรกต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นในทุกวันนี้ที่เทคโนโลยีเอไอเข้ามาเป็นกระแสหลักของการเปลี่ยนแปลงในบ้านเราทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แต่ละองค์กรจึงหันมาเน้นเรื่องเอไอเหมือน ๆ กัน

แต่มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่มีแผนการดำเนินงานด้านเอไออย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่องค์กรโดยทั่วไปมักจะเริ่มต้นเรื่องเอไออย่างฉาบฉวยเพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร หรือจะทำเอไอมาใช้สร้างสรรค์อะไรที่สอดคล้องกับแนวทางขององค์กร

การกำหนดเป้าหมายที่เป็นผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการอย่างแท้จริง จะทำให้เราสามารถสร้างแนวทาง

ในการไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เช่นขั้นตอนที่ 1, 2, 3 ซึ่งแต่ละขั้นตอนก็มีแผนงานรองรับเป็นแผน A ซึ่งหากทำไม่ได้ก็ยังมีแผน B และ C สำรองให้ใช้ การไปถึงเป้าหมายจึงเป็นไปได้หลายทาง และมีความยืดหยุ่นมากพอ

ข้อที่สองต้องเป็นแผนงานที่ยังใช้งานได้ดีแม้มีข้อจำกัด เพราะบางครั้งไอเดียทางธุรกิจชั้นเลิศแต่หากต้องใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาทก็คงไม่ต่างอะไรกับฝันกลางวัน ก็ต้องลองดูที่ข้อจำกัดว่าหากหมื่นล้านบาทนั้นเป็นไปไม่ได้ แล้วเท่าไรที่จะพอเป็นไปได้ เช่นหลักพันล้านบาท หรือหลักร้อยล้านบาทจะพอเป็นไปได้ไหม

หากมีแผนงานที่ดี มีเป้าหมายชัดเจนก็ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นภายใต้ข้อจำกัดเช่นเงินลงทุน เช่นช่วงเริ่มต้นกิจการที่อาจมีเงินลงทุนเพียงแค่ 50 ล้านบาท แต่ด้วยเป้าหมายและแผนงานที่ชัดเจนทำให้รู้ว่าจะหาแหล่งเงินทุนจากที่ไหน และเรียงลำดับการใช้เงินก่อน-หลังให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ข้อที่สาม ต้องรู้จังหวะเวลาที่เหมาะสม แม้แผนงานจะครอบคลุมระยะเวลา 3-5 ปีแต่ก็ต้องมีเป้าหมายระยะสั้นเช่น 3 เดือน - 6 เดือน ซึ่งมีรายละเอียดมากมายให้ได้บริหารจัดการ อย่าคิดอะไรตื้น ๆ เช่นสินค้าไม่พอขายจึงลงทุนขยายโรงงานและซื้อเครื่องจักรเพิ่ม ซึ่งมันไม่ได้มีรายละเอียดเพียงแค่นั้น

เพราะโรงงานอาจจะเสร็จใน 2-3 ปีข้างหน้า แต่แผนงานด้านวัตถุดิบ การขนส่ง การประสานงานกับลูกค้า ฯลฯ ล้วนต้องดำเนินการเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่ตอนนี้ กระบวนการบริหารจึงต้องประสานงานให้ทุกส่วนรองรับการเติบโตด้วยกันทั้งหมด

รวมถึงการวางแผนรองรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น เช่นโรงงานไม่อาจสร้างได้ตามแผนที่วางไว้ เราจะมีแนวทางอย่างไร นั่นคือแผนสำรองในข้อที่ 1 ต้องพร้อมใช้งานได้เสมอ การบริหารงานจึงต้องรู้จักจังหวะเวลาที่เหมาะสม รู้จักใช้ความเร็วในเวลาที่ต้องเร็ว และรู้จักช้าในเวลาที่ต้องช้า

ที่สำคัญแผนงานทั้งหมดนี้ต้องบันทึกไว้และให้คนรอบข้างรับรู้เพื่อสร้างเป็นเป้าหมายร่วมกันของคนทั้งทีม เพราะผู้บริหารไม่ว่าจะทำงานอยู่ในภาครัฐหรือเอกชนต่างก็มีทีมงานที่ต้องขับเคลื่อนด้วยกันทั้งนั้นการสื่อสารกับทีมงานจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย

การมีแผนงานที่ดีและมีการสื่อสารกันอย่างยอดเยี่ยมจึงเหมือนทีมวิ่งผลัด 4x100 ที่มีคนรับไม้ต่อกันโดยไม่ผิดพลาดและเข้าถึงเส้นชัยได้เร็วกว่าใครจนคว้าเหรียญทองไปครองได้สำเร็จ