โอกาสจากความไม่รู้ (จบ)

โอกาสจากความไม่รู้ (จบ)

การยอมรับ “ความไม่รู้” ของตัวเองเป็นก้าวแรกของการเปิดรับความรู้ใหม่เสมอ เพราะเมื่อเราตระหนักในความรู้และความไม่รู้ของตัวเองก็ย่อมทำให้เราเห็นว่ามีจุดอ่อนและจุดแข็งอยู่ตรงไหน ซึ่งจะทำให้เราเห็นว่าจะพัฒนาตัวเองไปในทางใด

แต่อุปสรรคใหญ่หลวงที่ทำให้เรามองไม่ออกว่า “เราไม่รู้อะไร” จนทำให้กลายเป็นน้ำเต็มแก้วที่ไม่อาจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมได้ เราจึงต้องหมั่นทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่าเป็นคนแบบนี้อยู่หรือไม่ซึ่งมีจุดสังเกตสำคัญอยู่ไม่กี่ประการ

ประการแรกคือพึงพอใจกับตัวเองมากเกินควร ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน การเติบโตก้าวหน้าชีวิตการเรียน ฯลฯ เพราะคิดว่าตัวเองอยู่ในจุดที่สมบูรณ์แบบมากแล้ว เช่นเรียนจบปริญญาตรีแล้วหรือจบปริญญาเอกจนมีความรู้ระดับสูงสุดแล้ว

แม้จะมีความรู้จริง แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดในโลกความเป็นจริง เพราะยังมีสิ่งที่เราไม่รู้อีกเยอะมากการมั่นใจตัวเองจนเกินไปจะทำให้เรามองข้ามความรู้ใหม่ ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย ยิ่งมีความภูมิใจในตัวเองมากเกินไปเท่าไร ก็ยิ่งปิดรับความรู้ใหม่มากขึ้นเท่านั้น

ประการที่สองคือ ไม่รู้จักการคิดนอกกรอบ อาจเป็นเพราะร่ำเรียนอย่างเดียวจนเติบโตและก้าวหน้ามาโดยอยู่ในระบบระเบียบแบบแผนมาโดยตลอด ซึ่งความไม่รู้นั้นไม่ใช่เรื่องผิด เช่นคนที่สะสมประสบการณ์

จนได้รับการโปรโมทเป็นผู้จัดการแล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อาจจะผิดที่เขาขึ้นมาเป็นผู้จัดการแล้วแต่ยังใช้มุมมองในการบริหารจัดการแบบเดิมตอนที่เป็นพนักงานธรรมดาอยู่

การคิดนอกกรอบจะเกิดขึ้นได้หากเราเข้าใจขอบเขตความไม่รู้ของตัวเอง และมองทะลุไปยังแก่นแท้ของปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้ก้าวออกจากกรอบแบบเดิมเพื่อจัดการปัญหาให้ดีที่สุด ซึ่งจะนำมาซึ่งการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อบรรลุปัญหาดังกล่าว

ประการที่สามต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานโดยเฉพาะทีมงานที่แต่ละคนมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกัน ทำให้เราได้เรียนรู้จากคนอื่นและมีวิธีให้คนอื่นยอมรับความคิดของเรา

แต่การทำงานเป็นทีมก็ต้องรู้จักเคารพความคิดเห็นของคนอื่น และรู้จักสงวนความคิดของตัวเองไว้บ้างหากไม่ตรงกับความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่และต้องไม่ดูถูกความเห็นที่แตกต่างจากตัวเรา ซึ่งทั้งหมดนั้นจะทำให้ทีมงานมีความเข้าอกเข้าใจและมีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน

ประการสุดท้ายต้องรู้จักรับคำแนะนำจากคนรอบข้าง เพราะความคิดที่ตรงกันข้ามคือตัวเองทำดีที่สุดแล้วหรืองานที่เราทำนั้นสมบูรณ์แบบแล้ว ย่อมทำให้เราปิดใจรับคำแนะนำหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ที่อาจช่วยชี้แนวทางให้เราปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นได้

ความสมบูรณ์แบบที่เราเคยมีอาจเหมาะสมกับบางช่วงเวลาในอดีตเท่านั้น หากเราเอาแนวทางที่เคยใช้ได้ผลในอดีตมาใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันก็อาจทำให้เราล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกทุกวันนี้ผันผวนรุนแรงกว่าเดิมหลายเท่า

หากเราไม่รู้จักรับฟังความเห็นผู้อื่นก็เท่ากับการปิดโอกาสให้เราพัฒนาตัวเองให้ทันสมัย หรือมีความร่วมสมัยเพียงพอที่จะแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ ได้

ที่สำคัญคือเราไม่มีโอกาสที่จะสร้างความสำเร็จครั้งใหญ่ได้ในครั้งเดียว แต่เป็นการค่อยๆ เรียนรู้และค่อยๆ ปรับปรุงจนเราเก่งขึ้นทีละนิดๆ จนกลายเป็นความสำเร็จในท้ายที่สุด