น้ำพุแห่งความเยาว์วัย (2) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงงานวิจัยของศาสตราจารย์ Yamanaka ที่ได้รับรางวัลโนเบลในปี 2012 ซึ่งใช้โปรตีนประเภท transcription factor ที่ควบคุมการทำงานของยีน 4 ตัว (ชื่อย่อคือ OSKM) มากระตุ้นให้เซลล์ผิวหนัง “กลับชาติ” ไปเป็นสเต็มเซลล์
ต่อมาก็มีการปรับปรุงเทคโนโลยีดังกล่าวให้ “หมุนเวลากลับ” แต่ไม่ต้องหมุนกลับไปจนกลายเป็นสเต็มเซลล์ พบว่าเป็นการทำให้เซลล์ที่แก่ชรา กลับไปเป็นเซลล์ที่หนุ่ม-สาวได้สำเร็จในหนูทดลอง
และมีบริษัทสตาร์ตอัปชื่อ Turn Biotechnologies กำลังจะเปิดตัวการนำเอา Epigenetic Reprogramming of Aging เทคโนโลยีมาใช้ในการรักษาให้ผิวหนังกลับมาอายุเยาว์วัยอีกครั้งหนึ่ง โดยอ้างว่าจะเป็น “game changer” ในวงการเสริมสวยและรักษาผิวหนัง
ในครั้งนี้ผมจะนำเสนอผลงานวิจัยล่าสุดตีพิมพ์ในวารสาร Cell เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยทีมของ Dr.David Sinclair ที่สามารถควบคุมกระบวนการ epigenetics ของหนูทดลอง ทำให้หนูทดลองแก่ตัวเร็วขึ้นได้ 50%
และที่สำคัญคือ สามารถหมุนเวลากลับมาให้เป็นหนูที่อ่อนวัยก็ได้ โดยควบคุมกระบวนการ epigenetics ซึ่งก่อนที่จะขยายความตรงนี้ คงต้องขอมาเริ่มต้นโดยการกลับไปทบทวนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเซลล์และการทำงานของเซลล์
มนุษย์เรามีเซลล์ 32 ล้านล้านเซลล์ ศูนย์กลางของเซลล์คือ nucleus หรือโครงสร้างส่วนกลางของเซลล์ที่บรรจุดีเอ็นเอ ทั้งนี้ดีเอ็นเอคือรหัสพันธุกรรม (genetic code)
เปรียบเทียบได้ว่าเป็นข้อมูล master file ที่บรรจุยีนทั้งหมดของตัวมนุษย์เรา (มนุษย์เราที่มียีนประมาณ 20,000 ยีน) ซึ่งรหัสพันธุกรรม (genetic code) หรือข้อมูล master file ที่ว่านี้ บรรจุอยู่ในทุกเซลล์
มนุษย์มีเซลล์ประมาณ 200 ชนิด แต่ทุกเซลล์มียีนครบถ้วนเพื่อให้เป็นเซลล์ชนิดใดก็ได้ ซึ่งผมขอเปรียบเทียบดีเอ็นเอในเซลล์ว่าเป็นเสมือนตำราทำอาหารทุกชนิด 200 ชนิด โดยตำรานี้มีความคงทนค่อนข้างมากเพราะเหมือนกับเป็นข้อมูลแบบดิจิทัล
จึงสามารถสร้างภาพยนตร์ประเภท Jurassic Park ออกมาได้หลายภาค โดยเนื้อเรื่องคือการนำเอาดีเอ็นเอของไดโนเสาร์ที่มีอายุหลายล้านปีมาใช้กำเนิดไดโนเสาร์ได้ในยุคนี้
ประเด็นสำคัญคือ แต่ละเซลล์นั้นเป็นเสมือนกับพ่อครัวที่มีหน้าที่ปรุงอาหารเฉพาะอย่าง เช่น เป็นพ่อครัวทำขนมปัง พ่อครัวทำข้าวผัด พ่อครัวทำไข่เจียว เป็นต้น แต่พ่อครัวทุกคนจะมีตำราครบชุด (คือมีตำราปรุงอาหารของพ่อครัวคนอื่นด้วย)
การมีสุขภาพที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยและมีความเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการที่พ่อครัวทุกคนต้องปรุงอาหารที่ตนเองได้รับมอบหมายมาอย่างคงเส้นคงวาและขยันขันแข็งอย่างต่อเนื่อง
แต่ปัญหาคือเมื่อเราแก่ตัวลง พ่อครัวเริ่มไม่อ่านตำราให้ครบหรือไปอ่านตำราของพ่อครัวคนอื่น ดังนั้น ขนมปังที่ปรุงออกมาจึงมีส่วนผสมของข้าวผัดหรือมีเครื่องปรุงไม่ครบ ทำให้ขนมปังไม่ได้คุณภาพ
กล่าวคือทฤษฎี epigenetics as the main cause of aging มองว่า การ "อ่าน” ข้อมูลที่ผิดพลาด และการ “อ่าน” ยีนผิดพลาด เป็นสาเหตุหลักของการแก่ตัวและความเสี่ยงของการเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไม่ใช่การ “กลายพันธุ์” (mutation) ของยีนที่ทำให้ยีนผิดเพี้ยนไป
ทีมที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของ Dr.David Sinclair (ผู้ที่ค้นพบว่า Resveratrol ในผิวขององุ่นแดงทำให้อายุยืนและหนุ่ม-สาวขึ้น เป็นผลให้ความนิยมในการดื่มไวน์แดงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2012)
จึงนำเอาหนูทดลองมาพิสูจน์ว่าการเปลี่ยนแปลงของ epigenetics หรือการ “อ่าน” ยีนผิดพลาดเป็นสาเหตุหลักของการแก่ตัว
ทีมงานเริ่มต้นโดยการทำให้หนูทดลองแก่ตัวอย่างรวดเร็ว (accelerate aging) โดยการตัดดีเอ็นเอให้ขาดครึ่งบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นการสะท้อนการใช้ชีวิตประจำวันที่ดีเอ็นเอจะถูกกระทบกระเทือน
(เช่น จากการสูบบุหรี่หรือโดนแสงแดดที่มีอัลตราไวโอเล็ต แต่ไม่ให้การขาดครึ่งดังกล่าวทำให้ยีนกลายพันธุ์ การตัดแล้วต้องซ่อมแซมทำให้ดีเอ็นเอ “เป็นแผล” และเมื่อต้องซ่อมแซมบ่อยครั้ง หนูทดลองก็แก่ตัวเร็วกว่าหนูกลุ่มเปรียบเทียบประมาณ 50%
กล่าวคือเวลาผ่านไป 1 ปี ซึ่งเทียบเท่ากับเวลามนุษย์ 30 ปี ทำให้หนูทดลองแก่ตัวไปประมาณ 1.5 ปี (หากเป็นมนุษย์อายุเพิ่มขึ้น 45 ปี)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ที่สำคัญกว่าคือเมื่อเร่งการแก่ตัวแล้วก็หันมาใช้ Yamanaka factor 3 ใน 4 ตัว คือ OSK “ลบ” ความแก่ตัวดังกล่าวจนหมดได้สำเร็จ โดยมีข้อสรุปว่า หมุนเวลากลับได้ประมาณ 57% และสามารถประเมินได้จริงว่าเซลล์สำคัญ
เช่น เซลล์ผิวหนังและเซลล์ไตอายุลดลงกว่าครึ่ง กล่าวคือการใช้ OSK สามารถหมุนเวลากลับได้จริงและควบคุมไม่ให้กลับไปเป็นสเต็มเซลล์ (เพราะในอดีตพบว่าหากหมุนเวลากลับมากไป เซลล์จะกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้)
งานวิจัยชิ้นนี้ใช้เวลานานถึง 13 ปีกว่าจะได้ถูกตีพิมพ์ (ใน Cell 12 January 2023) แต่ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ทีมวิจัยจึงกำลังเร่งทำการทดลองแบบเดียวกันกับลิง (non-human primates)
Dr.Sinclair อธิบายว่าเมื่อยีนถูกตัดขาดก็จะต้องระดม “ฝ่ายต่างๆ” มาเร่งรีบช่วยกันซ่อมแซมความเสียหาย “ฝ่ายต่างๆก็ต้องทิ้งงาน” ที่ทำอยู่มาช่วยซ่อมแซมแล้วจึงกลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม
แต่เมื่อถูกตัดขาดบ่อยครั้งและต้องระดมกำลังบ่อยครั้ง “พนักงาน” เริ่ม “หลงลืม” ไม่กลับไปทำงานแบบเดิมในที่เดิม ตรงนี้ Dr.Sinclair เรียกว่า loss of epigenetics information หรือการสูญเสียข้อมูลซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการแก่ตัวและเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บประเภทต่างๆ
กล่าวคือ แม้ว่ายีนจะเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่การทำงานของยีนเริ่มผิดพลาดมากขึ้น บางยีนที่ควรทำงานก็ไม่ทำงาน และยีนที่ไม่ควรทำงานก็มาทำงาน
ที่สำคัญที่สุดคือการใช้ OSK ในระดับที่เหมาะสมนั้นเป็นเสมือนกับการไป “ลบแผลเป็น” ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เสมือนกับการรีเซตระบบ
เช่น เมื่อเราพบว่าโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ของเรา “ค้าง” เราก็จะกดปุ่มปิด และเปิดใหม่ เพื่อรีเซตเครื่องใหม่ให้กลับมาทำงานได้โดยปกติ
Dr.Sinclair ยอมรับว่ายังไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมดว่ากลไกการรีเซตเซลล์โดยอาศัย OSK เกิดขึ้นได้อย่างไร (รู้ว่าทำได้แต่ทำไมจึงทำได้?) และไม่รู้ว่าจะสามารถรีเซตเซลล์ได้กี่ครั้ง
ในอนาคตนั้นทีมของ Dr.Sinclair และทีมวิจัยอื่นๆ คงจะเร่งทำวิจัยเพื่อหาคำตอบให้ได้ทั้งหมด นอกจากนั้นทีมวิจัยก็กำลังพัฒนากลไกในการควบคุมการใช้ OSK โดยจะบรรจุ OSK ในร่างกายเอาไว้ แต่จะมีสวิตช์เปิด-ปิดการทำงานของ OSK
โดยการอาศัยการจ่ายยาปฏิชีวนะคือ doxycycline เป็นกลไกที่จะเปิดการทำงานของ OSK ตัวอย่างเช่น เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปีก็มารับ doxycycline 10 เม็ดไปกินภายใน 5 วันเพื่อหมุนเวลากลับไป 10 ปี เป็นต้นและทำเช่นนี้ทุก 10 ปี
อ่านแล้วคงจะคิดว่าเป็นเรื่องนิยาย แต่ก็มีกลุ่มนักวิจัยของ Dr.Sinclair ที่มหาวิทยาลัย Harvard ที่ประสบความสำเร็จในขั้นแรกและอาจทำให้นิยายเป็นความจริงได้ในที่สุดครับ
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร