สยดสยองกับ AI
เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2024 John Hopfield และ Geoffrey Hinton เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นพบ ซึ่งช่วยให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้มากขึ้นในลักษณะเดียวกันกับสมองมนุษย์ อันเป็นการวางรากฐานสำคัญสำหรับการเกิด AI (Artificial Intelligence)
เมื่อรู้ข่าวเรื่องรางวัล Hinton บอกว่าดีใจเพราะจะทำให้ผู้คนรับฟังเขาอย่างจริงจังมากขึ้นในเรื่องที่เขาพูดมาตลอดถึงความเป็นไปได้ที่ AI จะก่อให้เกิดภัยร้ายแรง เมื่อไม่สามารถควบคุมมันได้ AI กำลังจะแซงหน้ามนุษย์ในด้านความสามารถด้านสมองและมนุษย์เราไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อนที่มีบางสิ่งเก่งกว่าเรา นี่คือความรู้สึกของผู้ได้รับรางวัลโนเบลจากการวางรากฐานในการสร้าง AI ขึ้นมาจึงสมควรรับฟังอย่างยิ่ง
คนทั่วไปส่วนหนึ่งเข้าใจว่า อันตรายมาจากการที่ AI ซึ่งหมายถึงหุ่นยนต์ หรือเครื่องมือเครื่องจักรที่มีร่างกายคล้ายมนุษย์ลุกขึ้นทำลายล้างมนุษย์และสิ่งของ ดังเช่นการอาละวาดของสัตว์ใหญ่เพราะมี AI ฝังอยู่ในสมอง ถ้าเป็นภัยเช่นนี้ก็ไม่น่ากลัวเพราะเอาอาวุธมาทำลายมันได้ แต่ที่ AI สยดสยองกว่ามากก็เป็นเพราะมันอาจทำให้เกิดสิ่งที่จะกล่าวถึงดังต่อไปนี้
1.การว่างงานและความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจที่เลวร้าย AI ช่วยสร้างการทำงานแทนแรงงานในโรงงานเเละออฟฟิศ เมื่อระบบที่ AI สนับสนุนสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเเละถูกกว่าแล้ว คนจำนวนมหาศาลจะว่างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การขายปลีก การคมนาคม การให้บริการ ฯลฯ
งานของผู้ใช้แรงงานส่วนหนึ่งจะหายไป เหลือแต่งานที่ใช้ความรู้และทักษะสูงที่ควบคุมการทำงานของระบบ AI ช่องว่างรวย-จนของมนุษย์ก็จะถ่างยิ่งขึ้น เพราะจะมีงานให้ทำเฉพาะคนมีการศึกษาดีที่มาจากคนมีฐานะเท่านั้น สังคมที่เต็มไปด้วยการว่างงาน การขาดรายได้เเละการไร้ความหวังสามารถสร้างความปั่นป่วนในการบริหารจัดการของสังคมได้อย่างเกินพรรณนา
2.การติดตามเฝ้าดูและการสูญเสียความเป็นส่วนตัว รัฐบาลและองค์กรสามารถใช้ระบบเฝ้าดูที่มี AI เป็นหัวใจติดตามความเคลื่อนไหวของผู้คนได้ตลอดเวลา AI สร้างเทคโนโลยีจำหน้าได้ของมนุษย์ในสถานที่สาธารณะ ในโรงเรียน เเละในสถานที่ทำงานเพื่อเฝ้าสังเกตพฤติกรรม AI สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของบุคคล รู้นิสัยใจคอความเชื่อเเละความชอบของผู้คนเพื่อวิเคราะห์และพยากรณ์การกระทำของเขาได้ออนไลน์
ระบบที่ AI ช่วยเช่นนี้จะนำไปสู่ระบบติดตามเฝ้าดูบุคคล ละเมิดความเป็นส่วนตัว และสูญเสียเสรีภาพ สังคมที่มีผู้นำเผด็จการสามารถใช้ AI เป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้เห็นขัดแย้ง และควบคุมพลเมืองให้อยู่ในกำมือได้
3.ความเอนเอียงในการเลือกปฏิบัติ ในการทำงานของ AI ข้อมูลจำนวนมหาศาลจะถูกป้อนให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้และวิเคราะห์ตามกรอบที่ถูกกำหนดไว้ ซึ่งกรอบนี้เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา หากกรอบนี้มีความเอนเอียงปนอยู่อย่างตั้งใจ เช่น ให้เลือกจ้างงานชายมากกว่าหญิง กีดกันชนกลุ่มน้อย เลือกคนอายุน้อย ฯลฯ ความเอนเอียงในการเลือกปฏิบัติก็จะเกิดขึ้นภายใต้การทำงานที่ AI เป็นตัวช่วยสำคัญในการทำงานโดยเป็นผู้ตัดสินใจเลือก ทั้งหมดนี้ทำให้ความไม่เป็นธรรมอันเกิดจากการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นอย่างแนบเนียน
4.AI กับการใช้อาวุธอัตโนมัติ ในยามที่เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้นนั้น ในปัจจุบันมีอาวุธที่ใช้ AI เป็นพลังขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ เช่น โดรน หรือขีปนาวุธ ในการรบนั้นการยืนยันยานยนต์หรืออาวุธของฝ่ายตรงข้ามอย่างผิดพลาดอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงขึ้นได้
เนื่องจาก AI มิได้มีสมองในการคิดไตร่ตรองพร้อมกับอารมณ์เหมือนมนุษย์ ดังนั้น ความผิดพลาดที่น่ากลัวอย่างมากนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นได้ อันอาจนำไปสู่การสูญเสียอย่างมหาศาลของทั้งสองฝ่ายอย่างมิได้มีฝ่ายใดตั้ง
5.Deepfake และ Misinformation ปัจจุบันการสร้างวิดีโอปลอมหรือเสียงปลอมจากเทป เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก สิ่งนี้สามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง และสร้างความเข้าใจผิดจนนำไปสู่ปัญหาไม่รู้จบ ที่เลวร้ายก็คือมันทำให้สังคมขาดความไว้วางใจในสิ่งที่เห็นและได้ยิน AI เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิด fake news และข้อมูลผิดๆ ที่มีคนตั้งใจใส่เข้าไปในระบบจนความไว้วางใจ (trust) ซึ่งเป็นฐานสำคัญยิ่งของความเป็นสังคมถูกบ่อนเซาะ
6.ยานยนต์เคลื่อนไหวอัตโนมัติและความเสี่ยง ขณะนี้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองกำลังออกมาเป็นระลอกอย่างกว้างขวาง แต่ถ้าหากซอฟต์แวร์ที่เขียนไว้มีปัญหา บางครั้ง AI ของรถอาจสั่งให้วิ่งผ่านทางเดินข้ามถนนอย่างเร็วได้อย่างน่าหวาดหวั่น สถานการณ์ของการเคลื่อนไหวบนถนนที่ซับซ้อนมากนั้นอาจทำให้ AI ล้มเหลวและก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงได้เสมอ
7.ผลที่เกิดขึ้นอย่างมิได้ตั้งใจจากใช้ AI ไม่มีใครตั้งใจให้ AI เป็นผู้ร้ายเลยแม้แต่น้อย ทุกคนต้องการให้ AI รับใช้ในเรื่องการแปลภาษา ในการวิเคราะห์ ในการตัดสินใจ ในการรวบรวมจัดระบบข้อมูล ในการเสนอความคิดริเริ่ม ฯลฯ อย่างไรก็ดี มีคนเลวจำนวนหนึ่งที่มุ่งปรุงแต่ง AI เพื่อรับใช้ในทางเลวร้าย เช่น ประกอบอาชญากรรมทางไซเบอร์ หลอกต้มตุ๋นออนไลน์ (ปลอมเสียง ปลอมภาพ หรือ แต่งเรื่องที่น่าเชื่อถือมาหลอก) ปล่อยข่าวลวง ฯลฯ
ดังนั้น AI จึงสามารถก่อให้เกิดภัยร้ายแรงที่คาดไม่ถึงได้เสมอ การกำกับดูแล AI ให้อยู่ในกรอบตั้งแต่ปัจจุบันมิให้หลุดไปจากการควบคุมจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อ “ตัดไฟแต่ต้นลม” EU และหลายประเทศกำลังออกกฎหมายในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ภัยเงียบที่น่ากลัวอย่างยิ่งของ AI ก็คือการที่ชาวโลกขี้เกียจใช้สมองคิดอะไรที่ยากและลึกซึ้ง ซึ่งเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์อยู่แล้วมากขึ้น เพราะมี AI มาช่วย คล้ายกับกรณีที่เด็กจำนวนมากในปัจจุบันคูณและหารเลขไม่ได้หากปราศจากเครื่องคิดเลข
เมื่อใดที่ชาวโลกปล่อยให้ AI ทดแทนมนุษย์ทั้งในการคิดวิเคราะห์ และการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมากมายแล้ว เมื่อนั้นแหละภัยเเห่งการง่อยเปลี้ยเสียขาทางสติปัญญาอันน่าหวาดหวั่นที่สุดจาก AI ได้มาถึงแล้ว