จีนแซงฝรั่งด้วย Digestion, Absorption and Re-innovation
ทุกการเปลี่ยนวาระประธานาธิบดีของสหรัฐ จะมีรายงานชี้นำนโยบายที่กลุ่มอนุรักษนิยมต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง Mandate for Leadership หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า Her-itage Foundation's Project 2025
เพราะเป็นรายงานที่จัดทำขึ้นโดยมูลนิธิ Heritage ที่รวบรวมกลุ่มนักคิดแนวอนุรักษนิยมกว่า 400 คนมาร่วมกันจัดทำรายงานนี้ ที่ครอบคลุมเรื่องสำคัญเกี่ยวกับสหรัฐหลายเรื่องรวมแล้วเกือบหนึ่งพันหน้า
แน่นอนว่าต้องมีเรื่องเกี่ยวกับเมืองจีน โดยเฉพาะเรื่องการแข่งขันด้านเทคโนโลยี รายงานนี้ได้เปิดเผยแนวทางที่จีนใช้ในการเร่งแซงสหรัฐในด้านเทคโนโลยี พร้อมทั้งนำเสนอวิธีการที่สหรัฐควรใช้ตอบโต้ในเรื่องนี้
รายงานบอกว่า กระบวนการที่จีนใช้การ Digestion เทคโนโลยีใหม่ ๆ ของสหรัฐ เริ่มต้นจากการมีนักศึกษาจากจีนกว่า 3 แสนคนมาศึกษาในมหาวิทยาลัยของสหรัฐ
และหนึ่งในสี่คนที่เรียนระดับบัณฑิตศึกษาจะเล่าเรียนในด้านที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านนี้ ทำให้สามารถรับรู้ถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นขั้นพื้นฐาน
นักศึกษาเหล่านี้กลายเป็นกำลังสำคัญของบริษัทไฮเทคจีนในการทำวิศวกรรมย้อนรอย เพื่อให้สามารถทำซ้ำ หรือไกลไปกว่านั้นคือปรับปรุงเทคโนโลยีนั้นให้ดีขึ้นได้ เล่าเรียนมากับคนเริ่มคิด
การย้อนรอยย่อมไม่ยาก ถ้าย้อนรอยแล้วพบว่ายังขาดเหลือตรงไหนอยู่บ้างที่ยังไม่รู้ หรือยังทำไม่ได้ ก็บอกหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะไปช่วยหาเทคโนโลยีที่ขาดไปนั้นมาเติมเต็มให้
รายงานกล่าวหาว่าหน่วยงานของจีนได้เข้ามาลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัปด้าน AI และ AR กว่า 600 แห่ง มูลค่าลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ รายงานเลยแนะนำว่าต้องทบทวนการออกวีซ่าให้มาเล่าเรียน และการอนุญาตให้มีการลงทุนจากต่างประเทศในเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของสหรัฐ
เมื่อได้รับรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจากคนที่คิดค้นขึ้นมาแล้ว ถ้ายังขาดอะไร ยังไม่รู้อะไรก็เข้าไปร่วมลงทุนกับคนที่มีความรู้ มี Know How ในเรื่องนั้น แล้วถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนั้นไปสู่ผู้ประกอบการในเมืองจีนอีกต่อหนึ่ง ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้ย่อมต้องมีกำลังพลที่มีจำนวนพอเพียงและเก่งพอ
หน้าที่ผลิตกำลังคนถูกกำหนดเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ทำให้มีการปรับทั้งหลักสูตร ห้องปฏิบัติการ และศูนย์วิจัยให้พร้อมสำหรับการสร้างคนที่เพียงพอ ทั้งจำนวนและขีดความสามารถ
เราจึงได้เห็นมหาวิทยาลัยจีนพัฒนาจนติดอันดับสูงๆ ของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกเพิ่มขึ้นแทบทุกปี นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยยังมีบทบาทในการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ จากผู้ที่คิดขึ้นมา ไปสู่นักศึกษา โดยผ่านกลไกความร่วมมือในการวิจัยและการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษา
เมื่อรับรู้เทคโนโลยีใหม่ แล้วก็มี Absorption นำมาใช้งานจริง ซึ่งถ้ามีคนไม่พอ หรือมีคนพอหรือแล้วก็จริง แต่ยังไม่เก่งพอ หรือคนพอคนเก่งแต่ไม่มีแพลตฟอร์มสำหรับรองรับการนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้งาน Absorption ก็ไม่เกิด คือรู้แบบเซลส์ขายของแต่ใช้งานกันจริงจังไม่ได้
เมื่อนำเทคโนโลยีไฮเทคที่คิดค้นโดยคนอื่นมาใช้แล้ว รัฐบาลจีนบอกว่าใช้ได้แล้วยังไม่พอ ต้องมีการทำ Independent Innovation คือต่างคนต่างคิดหาทางปรับปรุง หรือ Re-Innovation ให้ดีกว่าของเดิมที่รับมาจากต้นคิดในเรื่องนั้น
กลไกสำคัญคือใช้วิศวกรรมย้อนรอยควบคู่ไปกับการค้นคว้าวิจัยบนพื้นฐานความรู้เดิมที่มีอยู่
แกะของต้นคิดมาดู ให้ทำตามได้ ทำตามได้แล้วยังพยายามดัดแปลงให้ดีกว่าเดิม รถไฟฟ้าความเร็วสูงของจีนเริ่มต้นจากการแกะรถไฟชาติอื่นมาดูแล้วทำตาม ทำไปดัดแปลงไปให้ดีขึ้น จนกลายเป็นประเทศแนวหน้าในด้านรถไฟความเร็วสูงของโลก
ถ้าคิดปรับปรุงเองไม่ได้ รัฐก็จะช่วยหาคนจีนโพ้นทะเลที่เก่งเรื่องนั้นมาช่วยคิดดัดแปลง ให้เงินตอบแทนสูง ให้สวัสดิการดี ให้การยกย่อง
ที่สำคัญคือถือว่าการช่วยกันสร้างนวัตกรรมต่อยอดจากของเดิม เป็นภารกิจของการร่วมกันสร้างชาติ อาจารย์มหาวิทยาลัยสอนหนังสือเสร็จก็มาช่วยสร้างชาติ โดยมาช่วยสร้างนวัตกรรมให้กับบริษัทจีน
รายงานบอกว่าคิดกันแบบนี้เลยช่วยให้ตั้งอกตั้งใจทุ่มเททำงานเต็มที่ เกินกว่าที่ระบบทุนนิยมแบบอเมริกันจะทำได้
ในด้านเทคโนโลยีแล้ว จีนไม่ใช่ทำงานแค่เพื่อเงินทอง แต่ทำงานเพื่อการช่วยกันสร้างชาติแข่งกับฝรั่ง