'ชิมชาอัสสัม กาแฟนาคาแลนด์ ข้าวแกงเมฆาลัย' อลังการอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ

'ชิมชาอัสสัม กาแฟนาคาแลนด์ ข้าวแกงเมฆาลัย'   อลังการอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ

“อินเดีย” ประเทศกว้างใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่า “อนุทวีป” แม้ประวัติศาสตร์ยุคใหม่เริ่มต้นเมื่อกลางเดือน ส.ค. 75 ปีก่อนทำให้พื้นที่ของอินเดียต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่วันนี้ความมหัศจรรย์ทางภูมิศาสตร์ของประเทศยังคงอยู่ โดยเฉพาะอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือที่เชื่อมต่อและมีความคล้ายคลึงกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ข้อมูลจากเอกสาร “มหัศจรรย์อินเดีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ประตูสู่ดินแดนตะวันออก สวรรค์ที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ” ระบุว่า อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือประกอบด้วย รัฐอรุณาจัลประเทศ รัฐอัสสัม รัฐมณีปุระ รัฐเมฆาลัย รัฐมิโซรัม รัฐนาคาแลนด์ รัฐสิกขิม และรัฐตรีปุระ พื้นที่รวม 265,000 ตารางกิโลเมตร ระบบนิเวศและวิถีชีวิตผู้คนขึ้นอยู่กับแม่น้ำสายหลักได้แก่ แม่น้ำพรหมบุตรและแม่น้ำบาราค ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ทว่าดินแดนแห่งนี้ไม่ได้ห่างไกลความเจริญมากนัก

งานเทศกาลอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ (North-East India Festival) ครั้งที่ 2 เมื่อวันก่อนเรียกได้ว่า เป็นการยกภูมิภาคที่น่าตื่นตาตื่นใจมาตั้งอยู่ ณ ห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพฯ มีการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรม อาหาร งานฝีมือ แฟชั่นโชว์ที่คนรักอินเดียพลาดไม่ได้ World Pulse ก็ไม่พลาดเช่นกัน การชมงานเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ (31 ส.ค.) เริ่มต้นที่บูธ Bodoland Territorial Council เจอคุณบิปุล บัสมาตารี กรรมการผู้จัดการ  เอ็มบีเน็ตเวิร์ก เมืองโบโดแลนด์ รัฐอัสสัม กำลังง่วนชงชาทั้งชาแดงชาเขียว World Pulse จึงเข้าไปทักทายได้ความว่า โบโดแลนด์ปลูกชามาหลายปีแล้ว พื้นที่ 70% ปลูกชาและมีชื่อเสียงระดับโลก 

“ความโดดเด่นของชาโบโดแลนด์คือ ใช้มือทั้งกระบวนการ ชาที่อื่นทำในโรงงานใช้เครื่องจักร แต่ชาที่นี่ใช้มือทั้งหมด รสชาติจึงแตกต่างจากชาที่ผลิตในโรงงาน เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ได้ชิม” บิปุลเล่าอย่างภาคภูมิใจพร้อมเสริมว่า นอกจากชาแล้วยังมีผ้าไหมที่หาไม่ได้ในประเทศอื่น มีเฉพาะที่โบโดแลนด์และอัสสัม และมีแก้วมังกรลูกใหญ่ตามสภาพภูมิศาสตร์ 

ระหว่างที่คุยกันนั้นสายตาเหลือบไปเห็นลูกอะไรเขียวๆ ยาวๆ ขนาดเกือบเท่ามะม่วง

“ที่เห็นใหญ่ๆ อย่างนั้นคือเลมอนนะครับ ไม่ใช่มะม่วง ลูกใหญ่มาก มีเฉพาะในโบโดแลนด์เท่านั้น เป็นเลมอนที่เปรี้ยวที่สุดในโลก” บิปุลคลายข้อสงสัยพร้อมย้ำว่า แม้เลมอนโบโดแลนด์รสชาติเปรี้ยวมากแต่ก็มีกลิ่นหอม ลองดมดูกลิ่นหอมจริงๆ แต่เมื่อลองชิมที่ว่าเปรี้ยวมากนั้นก็ไม่ค่อยเท่าไหร่ เรียกได้ว่า “เปรี้ยวพอทน” เหมือนกับมะนาวทั่วๆ ไป แต่ใจก็อยากซื้อไปลองทำเลมอนน้ำผึ้งโซดา  สอบถามราคาได้ความว่า ที่นั่นขายกันลูกละ 10 รูปีตีง่ายๆ ว่า 5 บาท ลองซื้อมาชิมหนึ่งลูก บิปุลหยิบมาให้สองลูก “ซื้อหนึ่งแถมหนึ่งครับ” 

\'ชิมชาอัสสัม กาแฟนาคาแลนด์ ข้าวแกงเมฆาลัย\'   อลังการอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ

เนื่องจากวันนั้นเป็นวันที่สองหรือวันสุดท้ายของงาน จึงสอบถามถึงความชื่นชอบของคนไทยที่มาเยี่ยมชม บิปุลบอกว่า คนไทยน่าอัศจรรย์มาก มาสอบถามเรื่องสินค้าและการท่องเที่ยวอย่างน่าสนใจ 

แล้วอย่างนี้ถ้าจบงานแล้วคนไทยอยากไปเที่ยวโบโดแลนด์จะทำอย่างไร 

"นั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปโกลกาตา  แล้วนั่งเครื่องต่อไปกูวาฮาติ จากนั้นนั่งรถไปโบโดแลนด์ 50 กิโลเมตรราวหนึ่งชั่วโมง 20 นาที ถนนไม่ค่อยดีอาจต้องใช้เวลาหน่อยนะครับ" เจ้าของพื้นที่ออกตัว แต่สภาพแบบนี้คงถูกใจนักท่องเที่ยวสายธรรมชาติที่ต้องการไปแหล่งท่องเที่ยวงดงามบริสุทธิ์ 

 World Pulse ร่ำลาบิปุลด้วยคำสัญญาว่าจะเจอกันใหม่ที่โบโดแลนด์ 

เดินข้ามมายังบูธอีกฝั่งเจอคุณพิษณุ เมธี (Er. Bhishnu P Medhi) ผู้บริหารคณะกรรมการวิจัยและที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยดอนบอสโก อัสสัม นำผลิตภัณฑ์ชามาสาธิตทั้งชาดำ ชาเขียวออร์แกนิก และชาธรรมดา  (orthodox tea)

"เราพัฒนาคลัสเตอร์ชาด้วยความสนับสนุนของกระทรวงวิสาหกิจขนาดเล็ก ย่อม และกลาง (MSME) รัฐบาลอินเดีย ที่เลือกและแต่งตั้งหน่วยงานปฏิบัติ พัฒนาคลัสเตอร์ที่คนกว่า 500 คนได้ประโยชน์โดยตรงจากการปลูกชาอินเดีย แล้วขายชาให้โรงงาน นำเงินมาพัฒนาผลิตภัณฑ์" พิษณุกล่าวและว่าชาของกลุ่มเป็น สินค้าออร์แกนิกผู้บริโภคดื่มแล้วได้ประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ

“อย่างที่ทราบกันว่าชาอัสสัมมีชื่อเสียงทั่วโลก ผู้คนหลงใหลกันมาก พวกเราจึงเกิดแนวคิดทำชาออร์แกนิก ไม่มีสารเคมี ไม่มียาฆ่าแมลง ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากสินค้าที่เราพัฒนาขึ้น”

การมาเมืองไทยของตัวแทนธุรกิจอัสสัมครั้งนี้ พิษณุเล่าว่า คนไทยตอบรับเป็นอย่างดี

" เรามานี่เหมือนอยู่ที่บ้าน หวังว่าจะได้สร้างสัมความสัมพันธ์ยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต วันนี้อย่างน้อยๆ ก็ได้นำสินค้ามาแสดงให้คนไทยได้รู้จักครับ”

เมื่ออัสสัมมีดีที่ชา นาคาแลนด์ก็มีกาแฟ บูธการท่องเที่ยวนาคาแลนด์มีกาแฟมาจำหน่ายทั้งแบบถุงคั่วบดและชงสดหน้างาน คุณรวี ชาวไทยเชื้อสายอินเดียที่มาชมงาน ชิมกาแฟนาคาแลนด์แล้วกล่าวว่า กลิ่นดีไม่เปรี้ยว แตกต่างจากกาแฟจากพื้นที่ใหม่ๆ ที่มักจะเปรี้ยว 

“เปิดนาคาบัคส์ได้เลยนะเนี่ย” ลูกค้าชาวไทยเอ่ยปากชมและว่า ตนและครอบครัวสนใจอินเดียตะวันออกเฉียงเหนืออย่างอัสสัม นาคาแลนด์ เมฆาลัยอยู่แล้ว ถ้าเปิดเที่ยวบินตรงเมื่อใดจะไปแน่นอน 

นอกจากชา กาแฟแล้ว อาหารเป็นอีกบูธหนึ่งที่ต้องไปสังเกตการณ์ โมเทน คอนยาค ตัวแทนจากนาคาแลนด์ เคยกล่าวเมื่อวันแถลงข่าวที่สถานทูตอินเดียว่า อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือมีอาหารที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ภายในงานจะมีซุ้มอาหารของแต่ละรัฐที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง รัฐหนึ่งมีไม่น้อยกว่าหกเมนูมาให้คนไทยได้ลองชิม เมื่อไปชมงานจริงๆ พบว่า ไม่ผิดไปจากที่เขาพูดไว้ อาหารหลายชนิดหน้าตาเหมือนอาหารไทยมาก เช่น บูธ Exotic Mamipura Cuisines มีข้าวสวยกับแกงหมู แกงไก่ แม่ครัวบอกว่า แม้ดูคล้ายอาหารไทย “แต่แตกต่างตรงที่ไม่ใส่น้ำตาล พริกเผ็ดกว่า และออร์แกนิกตรงที่ไม่มีซอส ใช้ส่วนประกอบธรรมชาติกลิ่นจึงดีมาก” 

\'ชิมชาอัสสัม กาแฟนาคาแลนด์ ข้าวแกงเมฆาลัย\'   อลังการอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่วนที่บูธรัฐเมฆาลัย มีข้าวเหลืองๆ คล้ายข้าวหมก เรียกว่า Jadoh (Ja แปลว่า ข้าว doh แปลว่า เนื้อ) หุงด้วยขมิ้นชัน ขิง พริกไทย เกลือ “กินแล้วไม่เป็นอัลไซเมอร์” แม่ครัวบอก ใกล้ๆ กันเป็นหม้อแกงสองหม้อ ที่ดูยังไงก็คือแกงเผ็ดไก่กับแกงเผ็ดปลาดุกชัดๆ   สมแล้วกับคำพูดของเจ้าของพื้นที่ “อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือคล้ายกับไทยมาก” 

 ชา กาแฟ และอาหารที่เล่ามารวมถึงงานศิลปะ แฟชั่นโชว์และการแสดงทางวัฒนธรรมบนเวที เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือที่นำมาให้คนไทยได้รู้จักพอเป็นน้ำจิ้ม ที่ยกมาไม่ได้คือธรรมชาติอันแสนงดงาม ใครอยากสัมผัสก็ต้องไปด้วยตนเอง เชื่อแน่ว่าจบเทศกาลแล้ว อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่คนรักการท่องเที่ยวแนวผจญภัย หรือหนุ่มสาวที่ชอบวัฒนธรรมร่วมสมัยต้องใส่ไว้ในลิสต์การเดินทางชนิดพลาดไม่ได้ 

\'ชิมชาอัสสัม กาแฟนาคาแลนด์ ข้าวแกงเมฆาลัย\'   อลังการอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ