เปิดสูตรความสำเร็จ อาร์ต จาการ์ตา 2022
หากให้นึกภาพอินโดนีเซียเมื่อเร็วๆ นี้ หลายคนต้องนึกถึงความระเนระนาดตอนโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาระบาด เมื่อกลางปี2564 อินโดนีเซีย และอินเดียได้ชื่อว่าหนักสุดของเอเชีย จริงๆ แล้วโควิดส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนมาตั้งแต่หนึ่งปีก่อนหน้านั้น รวมไปถึงวงการศิลปะที่ต้องซบเซา
ปีนี้อินโดนีเซียกลับมาผงาดอีกครั้งด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดงานอาร์ตแฟร์ระดับนานาชาติครั้งใหญ่ อาร์ต จาการ์ตา 2022 (Art Jakarta 2022) ระหว่างวันที่ 26-28 ส.ค.หลังจากหยุดจัดไปสองปี การกลับมาใหม่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ยืนยันได้จากปากคำของ ทอม แทนดิโอ (Tom Tandio) ผู้อำนวยการเทศกาล
"อาร์ต จาการ์ตา 2022 ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12 มีผู้เข้าร่วมงานรวมทั้งหมด 32,000 คน ซึ่งเหนือความคาดหมายไปมาก" แทนดิโอเปิดฉากเล่าถึงตัวเลขผู้ชมจากเดิมคาดไว้ที่กว่า 25,000 คน และว่า งานแฟร์ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการกลับมานำเสนอฉากงานศิลปะที่คึกคักอีกครั้งต่อสาธารณชนท่ามกลางความท้าทายหลังโรคระบาดจากเอดิชั่นที่แล้วในปี 2019
อาร์ต จาการ์ตา 2022 มีงานศิลปะนำมาจัดแสดงกว่า 1,600 ชิ้นงาน โดยศิลปิน 500 คนจาก 10 ประเทศในเอเชีย
“ผู้คนที่มากันเนืองแน่นเป็นสัญญาณของการฟื้นตัวของโลกศิลปะจากโรคระบาด” แทนดิโอย้ำ
ทอม แทนดิโอ นำรัฐมนตรีเอริก โทฮีร์ ชมงาน
อย่างที่กล่าวแล้วว่าโควิดทำให้ทั้งโลกปั่นป่วนรวมถึงวงการศิลปะ แทนดิโอในฐานะผู้อำนวยการอาร์ตแฟร์ เล่าถึงผลกระทบดังกล่าวว่า เมื่อโลกต้องเจอกับโควิดแพร่ระบาดในเดือนมกราคม 2020
“ไม่มีใครคาดคิดหรือทำนายได้ถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อมาเป็นวงกว้างและยาวนานในสังคมของเรา รวมถึงเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตประจำวัน ในช่วงเวลานี้ เราต้องจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของการแพร่กระจายของไวรัส อาร์ต จาการ์ตา 2022 เป็นสิ่งยืนยันถึงความมุ่งมั่น และความอดทนของแวดวงศิลปะของชาวอินโดนีเซีย และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เรายืนหยัดมาด้วยกันในการเผชิญสถานการณ์ใหม่ๆ และสำหรับงานในปีนี้ เราก็ได้มาร่วมฉลองกันอีกครั้ง กับความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถ พรสวรรค์ของเหล่าศิลปิน อาร์ต จาการ์ตามุ่งมั่นที่จะเสริมความแข็งแกร่ง และสนับสนุนระบบนิเวศน์ศิลปะของชาวอินโดนีเซีย โดยเราจะไม่หยุดทำสิ่งเหล่านี้ เราหวังว่ามันคือ สัญญาณของการเริ่มต้นใหม่ เป็นการเริ่มต้นสำหรับอนาคตที่ดียิ่งขึ้น”
การส่งเสริมจากรัฐบาล
ได้ยินคำมั่นเช่นนี้ศิลปินทั้งหลายน่าจะเบาใจได้ แต่บทบาทของรัฐบาลก็น่าสนใจเช่นกัน แทนดิโอเล่าต่อว่า รัฐบาลอินโดนีเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (โจโกวี) ได้ริเริ่มหน่วยงานเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของชาวอินโดนีเซียที่เรียกว่า Bekraf ช่วยส่งเสริมศิลปะอินโดนีเซียทั้งใน และต่างประเทศ รวมถึงสร้างสรรค์ Indonesian Pavillion ที่งาน Venice Biennale ในปี 2019
“เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียถือว่ามีบทบาทมากขึ้นในการสนับสนุนแวดวงศิลปะอินโดนีเซียและให้ความสำคัญกับศิลปะ แต่แน่นอนว่ามันยังถือเป็นเรื่องที่ใหม่มาก การให้ความสนับสนุนหน่วยงานเชิงพาณิชย์อย่างงานอาร์ตแฟร์ หรือแกลเลอรี่ จึงอาจจะยังไม่ได้ช่วยมากนัก”
แทนดิโอ กล่าวว่า การสนับสนุนจากรัฐบาลจะอยู่ในรูปแบบของทุนให้กับศิลปิน และผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะมากกว่า เพื่อให้เกิดประสบการณ์ และความเข้าใจในศิลปะมากขึ้น
บทบาทภาคเอกชน
ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มีความสำคัญมากในการพัฒนาฉากศิลปะอินโดนีเซีย คอลเลกเตอร์ชาวอินโดนีเซียสนับสนุนการเปิดไพรเวทมิวเซียม เช่น Museum MACAN จาการ์ตา การสนับสนุนพื้นที่แสดงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย และโครงการสาธารณะต่างๆ ให้ชาวอินโดนีเซียได้สัมผัสประสบการณ์พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยระดับโลก ขณะที่กลุ่มไพรเวทแกลเลอรี่ในอินโดนีเซียมีส่วนสำคัญเช่นกันในการสร้างบรรยากาศของแวดวงศิลปะที่มีชีวิตชีวา สนับสนุนศิลปินทั้งนิทรรศการเดี่ยว และนิทรรศการกลุ่ม รวมถึงสนับสนุนให้พวกเขาได้แสดงงานในต่างประเทศ
"แกลเลอรี่อินโดนีเซียถือว่ามีส่วนอย่างมากกับระบบการตลาดศิลปะ ให้ศิลปินสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำศิลปะเป็นอาชีพ บริษัทเอกชนอย่างธนาคารยูโอบี อินโดนีเซีย สปอนเซอร์หลักของงานอาร์ต จาการ์ตา ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของเราเป็นครั้งที่ห้า สถาบันการธนาคารแห่งนี้เป็นผู้สนับสนุนงานศิลปะที่มีความมุ่งมั่นอย่างยาวนานในการพัฒนาศิลปะ โดยเฉพาะงานจิตรกรรมในอินโดนีเซีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาร์ต จาการ์ตา ได้ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์กับยูโอบี อินโดนีเซีย เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ศิลปะร่วมสมัยอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนศิลปะของเรา"
ความมุ่งมั่นในอนาคตของอาร์ต จาการ์ตา
สำหรับแผนการในอนาคต แทนดิโอ กล่าวว่า อาร์ต จาการ์ตา ตั้งใจโฟกัสไปที่อินโดนีเซีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“มันคือภารกิจของเราในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับตลาดท้องถิ่น และแวดวงศิลปะให้เติบโตยิ่งขึ้นไป สิ่งนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมงานแฟร์ได้เห็น และค้นพบสิ่งที่เกิดขึ้นในฉากศิลปะของอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้งานอาร์ต จาการ์ตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว”
สำหรับอาร์ต จาการ์ตาในฐานะตลาดงานแฟร์ระดับเอเชียที่กำลังเติบโต มีความสำคัญในฐานะตัวช่วยให้แวดวงศิลปะในอินโดนีเซียพัฒนาต่อไป และยังช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการแลกเปลี่ยนได้ง่ายขึ้น
“ในการวางแผนสำหรับอนาคตของ Art Jakarta เราจะยังคงให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราทำและหวังต่อไปว่าอินโดนีเซีย และวงการศิลปะของเราจะมีความโดดเด่นในระดับสากลเพื่อความก้าวหน้าต่อไป รวมทั้งเชื่อมโยงกับระดับภูมิภาคและแม้กระทั่งระดับโลกด้วย” ผู้อำนวยการเทศกาลกล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์