ทัพ 'นักลงทุนเกาหลีใต้' บุกไทย จ่อทุ่มนิคมฯ 1.7 หมื่นล้านบาท

ทัพ 'นักลงทุนเกาหลีใต้' บุกไทย จ่อทุ่มนิคมฯ 1.7 หมื่นล้านบาท

นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ยกทัพนักธุรกิจจากเกาหลีใต้เยือนไทย วันที่ 15-19 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสำรวจโอกาสการค้าการลงทุนในไทยและส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจ ด้าน Enerth ประกาศลงทุนใน Smart Park Industrial Estate ที่จังหวัดระยอง 1.71 หมื่นล้านบาท

เกาหลีใต้” ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 4 ของเอเชีย กำลังสนใจกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในจีนมายังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ขณะที่ “ไทย” ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของอาเซียน มีสิ่งที่อยากส่งเสริมการลงทุนมากมาย นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล จึงยกทัพนักธุรกิจและนักลงทุนจากเกาหลีใต้เยือนไทย ระหว่างวันที่ 15-19 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสำรวจโอกาสการค้าการลงทุนในไทย ส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจและสนับสนุนเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสด้านการลงทุนระหว่างเกาหลีใต้-ไทยครั้งแรกในรอบหลายปี

ทัพ \'นักลงทุนเกาหลีใต้\' บุกไทย จ่อทุ่มนิคมฯ 1.7 หมื่นล้านบาท

ทูตฯธานีกล่าวว่า ไทยและเกาหลีใต้ยังมีศักยภาพในการพัฒนาด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันอีกมาก ขณะที่รัฐบาลไทย ก็มีความมุ่งมั่นส่งเสริมการลงทุนอย่างเต็มที่ใน 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมกลุ่มเพื่อความยั่งยืน (BCG) ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัลและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าว นายธานีจึงส่งคำเชิญไปยังเครือข่ายธุรกิจที่สนใจลงทุนในไทย และในที่สุดก็ได้บริษัทและนักลงทุนจากเกาหลีใต้เข้าร่วมสัมมนาในไทยมากถึง 18 ราย

บริษัทเกาหลีใต้ที่เข้าร่วมมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลาง อาทิ Samsung C&T Corporation บริษัทก่อสร้างและวิศวกรรมของเกาหลีใต้, POSCO INTERNATIONAL บริษัทการค้าการลงทุนและพัฒนาด้านพลังงาน และ Hanwha Aerospace บริษัทผลิตอาวุธที่กำลังมีความร่วมมือกับไทยในด้านการพัฒนายานยนต์หุ้มเกราะ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทพัฒนาพลังงานหมุนเวียน บริษัทด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซัพพลายเออร์ขนาดกลางและขนาดเล็ก บริษัทพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านการเล่นเกม และบริษัทสตาร์ตอัปเพื่อส่งเสริมการขายสินค้ามือสอง เป็นต้น

การเยือนไทยครั้งนี้คณะนักธุรกิจได้พบปะผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐไทยหลายราย ได้แก่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายชุตินทร คงศักดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และได้รับฟังการบรรยายจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย รวมถึงสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

บรรดานักธุรกิจและนักลงทุนเกาหลีใต้ยังได้เยี่ยมสำรวจสวนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ ศรีราชา อมตะซิตี้ ชลบุรี และท่าเรือแหลมฉบัง ที่แสดงให้เห็นศักยภาพของไทยในฐานะศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค นอกจากนี้ยังได้พบปะกับธุรกิจไทยและทำกิจกรรมจับคู่ธุรกิจเพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น

ทัพ \'นักลงทุนเกาหลีใต้\' บุกไทย จ่อทุ่มนิคมฯ 1.7 หมื่นล้านบาท

การสัมมนาครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมากเนื่องจากบริษัท Enerth หนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมสัมมนาในไทย ได้ประกาศลงทุนในไทยมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.71 หมื่นล้านบาท) ใน Smart Park Industrial Estate ที่จังหวัดระยอง โดยบริษัทมีแผนที่จะลงทุนก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

นายธานีเผยว่า บริษัท Enerth ศึกษาข้อมูลการลงทุนในไทยมาระยะหนึ่งแล้ว และเคยเข้าร่วมงานสัมมนาด้านการลงทุนในกรุงโซลถึง 2 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกจัดโดยสถานทูตไทย ณ กรุงโซลกับสำนักงานบีโอไอ และครั้งที่ 2 จัดโดยสถานทูตไทยและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงงานสัมมนาธุรกิจในไทยครั้งนี้ด้วย

ขณะที่บริษัทอื่น ๆ เผยว่าจะกลับไปพิจารณาการลงทุนและทำแผนธุรกิจในไทยอย่างจริงจังต่อไป

ไทยมีศักยภาพ พร้อมรับการลงทุน

การนำคณะนักลงทุนนักธุรกิจเกาหลีมาไทยในครั้งนี้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาประเทศให้เป็นมิตรต่อการลงทุน และแสดงให้เห็นถึงก้าวสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

"การมาเยือนไทยเป็นการส่งสัญญาณสำคัญไปยังนักลงทุนและนักธุรกิจเกาหลีใต้ให้หันมาสนใจอุตสาหกรรมในไทยมากยิ่งขึ้น" ทูตธานีกล่าว

เมื่อถามถึงศักยภาพของไทยที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนเกาหลีใต้ได้ ทูตฯธานีเผยว่า ประเทศไทยมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของอาเซียน เป็นฐานผลิตอุปกณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ และเป็นฐานผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในภูมิภาค มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการลงทุน มีแหล่งพลังงานที่มีเสถียรภาพ และมีนโยบายที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่ความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ

“นี่คือสิ่งที่เราอยากให้นักลงทุนเกาหลีใต้ได้มองเห็นมากขึ้น” นายธานีย้ำ

ขณะที่นักธุรกิจเกาหลีใต้ได้แสดงความสนใจ และถามข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมของประเทศไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านทรัพยากรบุคคล อาทิ วิศวกร นายช่างสาขาต่างๆ ดังนั้น หน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมพร้อมพัฒนาแรงงานให้มีทักษะตรงตามที่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ต้องการ

จากความสำเร็จในครั้งนี้ สถานทูตไทย ณ กรุงโซลคาดว่าจะจัดงาน Thailand-Korea Investment Week ในช่วงไตรมาสสองหรือสามในปีหน้าต่อไป โดยจะส่งหน่วยงานหลักด้านการส่งเสริมการลงทุนของไทยไปให้ความรู้ ให้ข้อมูล และเชิญชวนนักลงทุนเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในไทย โดยในวันแรกจะจัดงานเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง วันที่สองเกี่ยวกับตลาดทุน และวันที่สามเกี่ยวกับโลจิสติกส์ อุตสาหกรรม และอสังหาริมทรัพย์

ปัจจุบัน ไทยกับเกาหลีใต้อยู่ระหว่างเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ภายใต้ชื่อ Thailand-Korea Economic Partnership Agreement (EPA) โดยได้เจรจารอบที่ 2 ไปเมื่อเดือน ก.ย. และเจรจารอบที่ 3 เมื่อวันที่ 17-19 ธ.ค. ซึ่งทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าเจรจาเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2568 และลงนามในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่เกาหลีใต้ในเดือน ต.ค. ปีหน้า

ทั้งนี้ การลงทุนไทย-เกาหลีใต้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562-2566) รัฐบาลไทยได้รับคำขออนุมัติการลงทุนบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้กว่า 130 โครงการ รวมมูลค่าประมาณ 6.18 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ในปี 2566 เกาหลีใต้จึงเป็นแหล่งการลงทุนจากต่างประเทศอันดับที่ 6 ของไทย และเฉพาะในปีนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง ก.ย. บีโอไอได้อนุมัติโครงการการลงทุนจากเกาหลีใต้จำนวน 27 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 6.3 พันล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม เอกอัครราชทูตธานีเชื่อว่าทั้งสองประเทศยังมีศักยภาพที่จะขยายการลงทุนได้มากกว่านี้

สำหรับสถานการณ์การเมืองเกาหลีใต้ที่ดูเหมือนไม่มีความมั่นคง เนื่องจากประธานาธิบดียุน ซ็อกยอล อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งจากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อต้นเดือน ธ.ค. หรือให้ดำรงตำแหน่งต่อไปนั้น ทูตฯธานีคาดว่าไม่กระทบต่อระดับการปฏิบัติการของภาครัฐ ขณะที่การชุมนุมของประชาชนมีขึ้นเฉพาะบริเวณรัฐสภาและพระราชวังคยองบก ดังนั้น การท่องเที่ยวหรือการเดินทางทำธุรกิจในกรุงโซลยังคงมีความปลอดภัย