ไทม์ไลน์ นับถอยหลัง ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ชี้ชะตา ‘ยุน ซอกยอล’ อยู่ต่อ VS พ้นตำแหน่ง

ไทม์ไลน์ นับถอยหลัง ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ชี้ชะตา ‘ยุน ซอกยอล’ อยู่ต่อ VS พ้นตำแหน่ง

ผลถอดถอนประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยุน ซอกยอล เมื่อวันเสาร์ ส่งผลให้เข้าสู่โหมดพักหน้าที่อย่างเป็นทางการ ถือเป็นวิกฤติทางการเมือง 11 วัน สร้างความวุ่นวายให้เกาหลีใต้ จากที่ยุนตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกแบบกระทันหัน

สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รวบรวมเหตุการณ์สำคัญๆ การเมืองเกาหลีใต้ ตั้งแต่มีการประกาศกฎอัยการศึก ไปจนถึงสมาชิกรัฐสภาโหวตถอดถอนประธานาธิบดีหรืออิมพีชเมนท์ ยุน ซอกยอล ต่อเนื่องไปถึงช่วงเวลานับถอยหลังสู่ขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาชี้ชะตาอนาคตยุนว่า จะได้อยู่ในหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ 

ไทม์ไลน์ ถอดถอนประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยุน ซอกยอล อยู่ต่อ VS พ้นตำแหน่ง

3 ธันวาคม 2567

ไม่นานก่อนเวลา 22.30 น. ยุน ซอกยอล ประกาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติว่า ในฐานะประธานาธิบดีเกาหลีใต้จะประกาศกฎอัยการศึกเพื่อจัดการ “ กลุ่มต่อต้านประเทศ” และ "เอาชนะทางตันทางการเมือง"

หนึ่งชั่วโมงต่อมา กองทัพเกาหลีใต้ ออกคำสั่งห้ามพรรคการเมืองและสมาชิกรัฐสภาเคลื่อนไหวกิจกรรมต่างๆ จากนั้นทหารและตำรวจบุกเข้าไปยังรัฐสภา ปิดล้อมอาคาร 2 หลังคือ อาคารรัฐสภาและห้องประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มีสมาชิกพรรคฝ่ายค้านอยู่ข้างใน ได้พยายามสร้างเครื่องกีดขวาง และใช้ถังดับเพลิงปัดป้องทหารหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่โรยตัวจากเฮลิคอปเตอร์ พยายามฝ่าตัวเข้ามาในอาคารรัฐสภา ด้วยการทุบกระจก พังประตู

สมาชิกรัฐสภากระโดดหนีข้ามสิ่งกีดกั้น เพื่อเลี่ยงแนวป้องกันความปลอดภัย ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านนอกรัฐสภา

4 ธันวาคม 2567

สมาชิกรัฐสภา 190 คน ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งกองทัพ โดยในช่วงเช้าได้ลงมติเป็นเอกฉันท์คัดค้านคำประกาศกฎอัยการศึกของยุน ขณะที่ทหารก็เริ่มทยอยออกจากพื้นที่

ประมาณ 3 ชั่วโมงต่อมา ยุนแถลงทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติอีกครั้ง โดยประกาศว่าจะยกเลิกกฎอัยการศึก ตามที่กฎหมายให้มีผลบังคับใช้ประมาณ 6 ชั่วโมง

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านทำการเคลื่อนไหววางแผนยื่นญัตติถอดถอนยุน

"ยุน ซอกยอล ตัดสินใจผิดพลาดอย่างร้ายแรง ต่อการประกาศกฎหมายอัยการศึก ซึ่งจะสร้างปัญหารุนแรง และก่อความไม่ชอบธรรม" เคิร์ต แคมป์เบลล์ ของสหรัฐ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งดูแลรับผิดชอบนโยบายด้านอินโด-แปซิฟิก แสดงความเห็น

5 ธันวาคม 2567

แม้พรรคพลังประชาชน (พีพีพี) ของยุน จะเสียงแตกกัน แต่ยุนก็ตัดสินใจไม่ยอมยุติบทบาทของเขา

อี ซังมิน รัฐมนตรีมหาไทย และคิม ยอง-ฮยอน รัฐมนตรีกลาโหมได้ยื่นหนังสือลาออก และได้รับการอนุมัติจากยุน

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนยุน คิม และอี ซังมิน ในข้อหากบฏ และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องจากการประกาศกฎอัยการศึก หลังจากพรรคฝ่ายค้าน และกลุ่มนักเคลื่อนไหวได้ยื่นคำร้อง

6 ธันวาคม 2567

ฮัน ดงฮุน หัวหน้าพรรคพีพีพี กล่าวว่า ยุนต้องออกจากตำแหน่ง เนื่องจากพยายามประกาศกฎอัยการศึก ขณะที่สมาชิกพรรคบางคนเรียกร้องให้ยุนลาออก

7 ธันวาคม 2567

ยุนแถลงขอโทษประชาชนทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ โดยเขากล่าวฝากชะตากรรมไว้ในมือของพรรคพีพีพี แต่ไม่กล่าวคำลาออก

ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน สมาชิกรัฐสภาเปิดโหวตอิมพีชเมนท์ แต่สุดท้ายการลงมติถอดถอนยุนล่ม เนื่องจากพรรคพีพีพีคว่ำบาตร ส่งผลให้องค์ประชุมไม่ครบ

8 ธันวาคม 2567

อัยการระบุ ยุนจะถูกดำเนินการสอบสวนทางอาญา ในข้อหาพยายามใช้กฎอัยการศึก ขณะที่ รัฐมนตรีกลาโหม คิม ยอง-ฮยอน อดีตรัฐมนตรีกลาโหมถูกจับ เหตุเกี่ยวข้องกับการประกาศกฎอัยการศึก

9 ธันวาคม 2567

กระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งห้ามยุน เดินทางออกนอกเกาหลีใต้

10 ธันวาคม 2567

กวง จอง กึน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสงครามพิเศษแถลงรายงานต่อคณะกรรมการรัฐสภาว่า ยุน ได้ออกคำสั่งให้ผลักดันสมาชิกรัฐสภาออกจากรัฐสภา หลังจากประกาศกฎอัยการศึก

มีรายงานว่า อดีตรัฐมนตรีกลาโหมพยายามฆ่าตัวตาย

11 ธันวาคม 2567

เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้าค้นสำนักงานของยุน แต่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าในอาคาร

12 ธันวาคม 2567

ยุนแถลงทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติอีกครั้งว่า “ จะต่อสู้จนถึงที่สุด” ทั้งยังกล่าวหาเกาหลีเหนือแฮ็กข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งของเกาหลีใต้ ซึ่งสงสัยผลพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างถล่มทลายของพรรคเขาเมื่อเดือนเมษายน ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

สมาชิกพีพีพี 7 คน ประกาศเจตนาให้การสนับสนุนการถอดถอนยุน แต่ยังคงขาดไป 1 เสียง ซึ่งจำเป็นเพื่อให้ญัตติการถอดถอนดังกล่าวผ่าน

กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีเกาหลีใต้ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เสียงสมาชิกสภานิติบัญญัติถึง 2 ใน 3 หรือ 200 เสียงจากทั้งหมด 300 ซึ่งปัจจุบันพรรค DPK และพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ มีเสียงรวมกันอยู่ที่ 192 เสียง หรือยังขาดไปอีก 8 เสียง ที่ต้องดึงมาจากพรรคร่วมรัฐบาลให้ได้

13 ธันวาคม 2567

ลี แจ-มยอง ผู้นำฝ่ายค้านเรียกร้องให้สมาชิกพรรคพีพีพี เข้าร่วมและออกคะแนนเสียงถอดถอนยุน

14 ธันวาคม 2567

รัฐสภาลงมติถอดถอนยุน ด้วยเสียงสนับสนุนของสมาชิกรัฐสภา 204 เสียง จากทั้งหมด 300 เสียง โดยจำนวนเสียงสนับสนุนนี้ มีสมาชิกพรรคพีพีพี อย่างน้อย 12 คนลงมติถอดถอนยุน

ตอนนี้ ยุนถูกพักใช้อำนาจประธานาธิบดี โดยระหว่างนี้ นายกรัฐมนตรีฮัน ด็อกซู จะรักษาการแทนประธานาธิบดี

ศาลรัฐธรรมนูญได้รับผลคำประกาศถอดถอนจากรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว โดยศาลรัฐธรรมนูญมีเวลา 6 เดือนในการพิจารณาและมีคำตัดสินว่า จะถอดถอนยุน หรือแต่งตั้งเขากลับเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้อีกครั้ง

 

 

อ้างอิง : Reuters