ระบบคิด 2 โหมดของ ‘แดเนียล คาห์เนมาน’
แดเนียล คาห์เนมาน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาชื่อดัง เจ้าของรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ ผู้บุกเบิกสาขาใหม่ “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” ได้จากไปในวัย 90 ปีเมื่อเดือนที่ผ่านมา
คาห์เนมาน เป็นนักวิชาการผู้บทบาทสำคัญในการทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ ร่วมกับ เอมอส ทเวอร์สกี (Amos Tversky) ที่รู้จักกันสำหรับคนทั่วไปคือความแตกต่างระหว่างระบบการคิด 2 ระบบของคนเรา คือ “การคิดเร็ว” และ “การคิดช้า”
แก่นแท้ของงานของคาห์เนมาน คือการสำรวจ “อคติทางการรับรู้” และ “พฤติกรรมที่ควบคุมการตัดสินใจของมนุษย์” ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมมีสมมติฐานสำคัญว่า บุคคลจะตัดสินใจเลือกโดยอาศัยการคำนวณอรรถประโยชน์ของตนเองอย่างมีเหตุผล อย่างไรก็ตาม การวิจัยของคาห์เนมานได้เปิดเผยความเป็นมนุษย์ที่ใกล้โลกความเป็นจริงยิ่งขึ้น
นั่นคือ ผู้คนมักพึ่งพาทางลัดในการคิด ไม่ได้คำนวณอรรถประโยชน์อย่างครบถ้วนและได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางอารมณ์และจิตวิทยาด้วย ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจที่เบี่ยงเบนไปจากการคาดการณ์ของแบบจำลองทางเศรษฐกิจมาตรฐาน
งานสำคัญของคาห์เนมานที่รู้จักของคนทั่วไป ระบบของการคิด 2 โหมด “การคิดเร็วและช้า” ซึ่งเป็นชื่อหนังสือชื่อดังของเขาคือ “Thinking, Fast and Slow” หนังสือเล่มหนาที่รวบรวมผลงานวิจัยจำนวนมากที่แนะนำแนวคิดของการคิดระบบ 1 และระบบ 2
การคิดระบบที่ 1 (System 1) แสดงถึงการคิดที่รวดเร็วและเป็นธรรมชาติ เป็นไปโดยอัตโนมัติและมักได้รับอิทธิพลจากสัญชาตญาณและอารมณ์ เป็นกระบวนการคิดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมักจะรู้สึกไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ
เช่น การขับรถยนต์และจำทางกลับบ้านได้อัตโนมัติ การจดจำใบหน้าเพื่อนได้ท่ามกลางฝูงชน อ่านอารมณ์คู่สนทนาจากสีหน้าและน้ำเสียง หรือคิดเลขที่ง่ายๆ ระบบที่ 1 รับผิดชอบในการตัดสินอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมาก แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอคติและข้อผิดพลาดได้เช่นกัน
ในทางตรงกันข้าม การคิดระบบที่ 2 (System 2) ครอบคลุมการคิดที่ช้า รอบคอบ มีการวิเคราะห์และมีตรรกะเหตุผล โดยมีลักษณะเฉพาะคือการตัดสินใจโดยตั้งใจและมีสติ ระบบนี้ต้องใช้ความพยายาม อาจต้องคำนวณซับซ้อนและคิดอย่างมีวิจารณญาณ
เช่น การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ การตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิต การวิเคราะห์ความเชื่อถือของแหล่งข้อมูลต่างๆ เป็นต้น
การคิดระบบ 2 มีความน่าเชื่อถือมากกว่า แต่ช้ากว่าและคนเรามักจะขี้เกียจใช้ระบบนี้ ซึ่งหมายความว่าระบบ 1 ที่เร็วกว่าจะเอาชนะได้ง่าย แม้ไม่เหมาะกับการใช้ในบางเรื่องและทำให้อาจตัดสินใจผิดพลาด
การค้นพบของคาห์เนมานท้าทายเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมที่สมมติว่าบุคคลเป็นคนที่มีเหตุผล (Rational Agent) โดยเขาเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญที่สัญชาตญาณและอคติส่งผลต่อการเลือกของเราด้วย คาห์เนมานจึงเน้นถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจการคิดทั้งสองระบบเพื่อปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจของเรา
เขาตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าระบบ 1 จะให้คำแนะนำที่ดูใช้ได้ แต่การรับรองข้อเสนอแนะเหล่านี้โดยการคิดระบบ 2 จะสร้างความเชื่อถือในการตัดสินใจและการกระทำของเราได้ เขายังเตือนด้วยว่าพฤติกรรมตามสัญชาตญาณของเราแม้จะมีประโยชน์ แต่บางครั้งก็อาจนำไปสู่ข้อผิดพลาดหรืออคติอย่างเป็นระบบได้
งานของคาห์เนมานแสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจของเรามักได้รับอิทธิพลจากทางลัดและอคติทางจิตมากมาย เช่น อคติแบบ Anchoring คือการที่เราอาศัยข้อมูลชิ้นแรกที่พบเป็นจุดยึดมากเกินไปในการตัดสินใจ
อคติแบบ Availability Heuristic คือ การที่เราประเมินค่าความสำคัญของข้อมูลที่มีอยู่พร้อมใช้งานสูงเกินไป อคติ Substitution บางครั้งเรามักตอบคำถามที่ง่ายกว่าแทนที่จะตอบคำถามที่เป็นคำถามจริงๆ โดยบ่อยครั้งที่เราไม่รู้ตัว เป็นต้น
งานวิจัยของคาห์เนมานขยายไปไกลกว่าวงวิชาการ โดยในวงนโยบายสาธารณะ ข้อค้นพบของเขาได้ก่อให้เกิดการพัฒนา “ทฤษฎีสะกิด” (Nudge Theory) ซึ่งสนับสนุนการออกแบบนโยบายที่ชี้นำบุคคลไปสู่การตัดสินใจที่ดีขึ้น โดยไม่จำกัดเสรีภาพในการเลือกของพวกเขา ซึ่งสามารถนำไปใช้ในโลกธุรกิจได้ด้วย
เพราะการทำความเข้าใจอคติและพฤติกรรมมนุษย์สามารถนำไปสู่กลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น และการตัดสินใจขององค์กรที่ดีขึ้น
ในโลกที่ปัญญาประดิษฐ์และอัลกอริทึมเก่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้งานของคาห์เนมานจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเอไอโดยตรง แต่ความเข้าใจระบบคิด 2 โหมด อคติและความผิดพลาดของการคิดของมนุษย์ ตลอดจนการตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ก็มีส่วนช่วยให้เราแยกแยะความเป็นมนุษย์ออกจากเอไอได้ และสามารถนำจุดแข็งและจุดอ่อนที่มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่เป็นอยู่มาใช้ประโยชน์ได้
แนวทางสหวิทยาการของคาห์เนมาน ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์ ได้ปูทางไปสู่ความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยการตระหนักถึงความซับซ้อนของการตัดสินใจและอิทธิพลของอคติด้านความรู้ความเข้าใจ
นักเศรษฐศาสตร์สามารถพัฒนาแบบจำลองและการทำนายที่แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งนำไปสู่นโยบายและผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น