กระแส ลิซ่า Rockstar ปังเกินต้าน ติดเทรนด์ TOP30 บน Weibo ยอดชมทะลุ 30 ล้านครั้ง

กระแส ลิซ่า Rockstar ปังเกินต้าน ติดเทรนด์ TOP30 บน Weibo ยอดชมทะลุ 30 ล้านครั้ง

วิเคราะห์กระแส ลิซ่า Rockstar ในจีน ปังเกินต้าน ติดเทรนด์ TOP30 บน Weibo ยอดชมทะลุ 30 ล้านครั้ง หลัง MV เปิดตัวไม่กี่ชั่วโมง

ลิซ่า ลลิษา มโนบาล ศิลปินสาวไทยที่โด่งดังระดับโลก หลังจากหมดสัญญากับทางค่ายเพลงเกาหลีใต้ ออกมาทำค่ายของตัวเองและเป็นศิลปินเดี่ยว ก็ยังคงมีแฟนคลับอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะชาวไทยที่พร้อมซัพพอร์ตและให้กำลังใจสาวไทยมากความสามารถคนนี้ ซึ่งลิซ่าเองก็สนับสนุนประเทศไทยอยู่ตลอดเช่นกัน ไม่ว่าจะทุกครั้งที่กลับมาประเทศไทย จะโพสต์และนำเสนออาหารการกิน ร้านรวงต่างๆ และวิถีความเป็นไทย จนกลายเป็นกระแสสังคมออนไลน์และเป็นดั่ง Soft Power ที่ทำให้คนทั่วโลก รู้จักกับประเทศไทย และเดินทางมาไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในวงการท่องเที่ยวได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ 

ล่าสุด ชื่อเสียงของ "ลิซ่า" นำพาให้ทั่วโลกได้พูดถึงประเทศไทยอีกหนึ่งคำรบ ตั้งแต่ปล่อยทีเซอร์ MV เพลงใหม่ Rockstar ที่ซุ่มถ่ายทำที่ย่านเยาวราช แหล่งกินแหล่งเที่ยวชื่อดังในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เป็นเวลากว่า 3 วัน (ถ่ายทำในช่วงตอนกลางคืน โดยมีการร่วมมือกับร้านค้า ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ในย่านเยาวราช) เมื่อไปส่องความคิดเห็นของต่างชาติ ต่างอยากตามรอยไปเยือน เยาวราช ทั้งเคยไปและไม่เคยไปมาก่อน อย่างเช่นชาวจีน ฐานแฟนคลับสำคัญของลิซ่า ที่แม้ว่าจะมีประเด็นดราม่าไปเมื่อช่วงพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการไปร่วมแสดงโชว์คาบาเรต์ Crazy Horse Paris โดยคนจีนจำนวนไม่น้อยมองว่า "ไม่เหมาะสม" เนื่องจากแต่งตัวเซ็กซี่เกินไป 

ในแง่ของกฎระเบียบของทางการจีนเอง ก็มีระบุถึงข้อห้ามศิลปินนักแสดงทำในสิ่งที่มองว่า ยั่วยุทางเพศ ดังนั้น บัญชีทางการของ "ลิซ่า บน Weibo" จึงไม่สามารถเข้าได้ตั้งแต่ตอนนั้น ที่ประเทศจีนสื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งแพลตฟอร์มต่างๆ จะมีกฎระเบียบของทางภาครัฐควบคุมอย่างเข้มงวด ดังที่เราได้เห็นมาตรการ "ชิงหล่าง" มาตรการจัดระเบียบโลกออนไลน์ถูกทางจีนนำมาใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 โดยพุ่งเป้าไปที่คนดัง ศิลปินดารา ผู้มีอิทธิพลทางความคิดแก่คนจีน ที่ไม่ใช่แค่จัดระเบียบเมื่อคนเหล่านั้นทำผิดกฎหมาย แต่ถ้าเกิดประเด็นทางสังคม ที่อาจก่อความวุ่นวายตามมา ก็ดำเนินการในทันที

หลังจาก MV ถูกปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการ เมื่อเวลา 7.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ของวันที่ 28 มิถุนายน 2567 (8.00 น. ตามเวลาจีน) ยอดเข้าชมทะลุ 1 ล้าน ในเวลาไม่ถึง 30 นาที และแตะ 14 ล้าน เมื่อผ่านไปเพียง 8 ชั่วโมง 

กระแส ลิซ่า Rockstar ปังเกินต้าน ติดเทรนด์ TOP30 บน Weibo ยอดชมทะลุ 30 ล้านครั้ง

ข้ามไปที่ประเทศจีน กระแสมาแรงขึ้นเทรนด์โซเชียลจีนทั้ง Weibo และ Douyin (TikTok จีน) ตั้งแต่ตัวทีเซอร์ แม้ว่าจะไม่ได้ขึ้นเป็นเทรนด์แบบทั้งหมด คือขึ้นเทรนด์เฉพาะหมวด (ตรงนี้อ้ายจงตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีการควบคุมจากทางแพลตฟอร์มด้วยเหมือนกัน ตามเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะที่ผ่านมา ก่อนจะมีดราม่าของลิซ่าในจีน กระแสต่างๆ ของลิซ่ามักจะขึ้นเป็นเทรนด์แบบ nationwide ตลอด ไม่ใช่แค่เฉพาะหมวด แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตของอ้ายจงเท่านั้น) 

ช่วงครึ่งเช้าของวันที่ 28 มิถุนายน 2567 แฮชแท็ก Lisa回归单曲MV (แปลไทย: MV การกลับมาของลิซ่า) ขึ้นเทรนด์ TOP30 บน Weibo (ขึ้นไปอยู่อันดับที่ดีที่สุด อันดับ 9) ด้วยยอดดูเกิน 20 ล้านครั้ง พร้อมกับจำนวนความคิดเห็นเกิน 10,000 และหลังจากผ่านช่วงเที่ยงไปแล้ว ยอดดูก็ทะลุ 30 ล้านไปเรียบร้อยแล้ว เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลัง MV เปิดตัว

เมื่อวิเคราะห์ความคิดเห็นของคนจีน ต้องบอกว่า เหรียญมีสองด้านเสมอ มีทั้งคนที่ยังคงมองมุมลบตั้งแต่ดราม่าเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ก็จะเปรียบเทียบว่า อยู่ค่ายที่เกาหลีดีกว่า ลุกตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่แบบแนวหวานๆ เหมือนตอนนั้น ว่ากันตามตรงแล้ว คนจีนหลายคนที่ร่วมวงดราม่าแสดงในคาบาเรต์ มองว่า ลิซ่าดูแรงขึ้น แรงในที่นี้คือการแต่งตัวและลุกภาพรวม แล้วใน MV ยังมีการนำเสนอแบบชัดเจนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งไม่ใช่ว่าคนจีนทุกคนจะเปลี่ยนมุมมองไปในมุมบวกสำหรับเรื่องนี้ ยังมีไม่น้อยที่ยังรับไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้มีความคิดเห็นว่าผลงานชิ้นนี้ของลิซ่าไม่โอเคในมุมของเขา  

กระแส ลิซ่า Rockstar ปังเกินต้าน ติดเทรนด์ TOP30 บน Weibo ยอดชมทะลุ 30 ล้านครั้ง

และเมื่อพิจารณาจากการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยแพลตฟอร์ม Weibo ที่แสดงออกมาด้วยลักษณะของ Word cloud แสดงคำที่ถูกพูดถึงเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ โดยขนาดของตัวอักษร สื่อถึงความถี่ในการถูกพูดถึงและความเกี่ยวข้อง คำว่า 难听 (ฟังยาก/ไม่เพราะ) ปรากฏค่อนข้างชัด แต่มีขนาดเล็กกว่า คำว่า 好听 (เพลงเพราะ/น่าฟัง) จึงอนุมานได้ว่า คนจีนแสดงความคิดเห็นว่าเพลง Rockstar เพราะ มากกว่าฝ่ายที่มองว่า ไม่เพราะ

เมื่อพิจารณาไปอีก เราพบคำว่า 日语 (แปลไทย: ภาษาญี่ปุ่น) ปรากฏขนาดพอๆ กับคำว่า ไม่เพราะ เมื่อเข้าไปดูความคิดเห็นบนโซเชียลจีน ทำให้เข้าใจว่า คนจีนบางส่วนตั้งข้อสังเกต ทำไมต้องมีภาษาญี่ปุ่นและพูดถึงญี่ปุ่นในเพลงด้วย ในท่อนที่แปลออกมาได้ว่า "ลิซ่า สอนภาษาญี่ปุ่นได้ไหม, ฉัน (ลิซ่า) พูดว่า ไฮ ไฮ" โดยมีคนจีนไม่น้อยเช่นกัน เข้าไปตอบชี้แจงว่า เพราะต้องการสื่อถึงตัวลิซ่าเอง ในฐานะคนเอเชียมักโดนต่างชาติ เหมารวมว่า ไม่จีน ก็ญี่ปุ่น ดังนั้นเป็นการแสดงออกให้เห็นว่า อย่าเหมารวมคนเอเชีย และในท่อนที่มีสื่อถึงญี่ปุ่น ลิซ่าก็ทำท่าสวัสดี พร้อมกับปรากฏแดนเซอร์ที่เป็นคนไทยร่วมด้วย สื่อถึงความเป็นไทย

ความคิดเห็นในมุมบวกไม่น้อย ระบุ "สมที่รอคอยในการกลับมา" และพวกเขาเองชื่นชอบที่มีการถ่ายทำที่ เยาวราช ที่เป็น China Town หรือภาษาจีนเรียก ถังเหรินเจีย (唐人街) ซึ่งคำว่า 唐人街 ปรากฏใน Word Cloud วิเคราะห์ความเกี่ยวข้องของคำกับประเด็น MV การกลับมาของลิซ่าบน Weibo ด้วย โดยอยู่ในระดับเดียวกันกับ 中国城ไชน่าทาวน์ ที่สื่อถึงเยาวราชเช่นกัน โดยส่วนนี้พอวิเคราะห์ลงลึกไป คนจีนชื่นชอบเพราะสื่อถึงความเป็นจีนเข้าไปด้วย และมีความคิดเห็นว่า "ต้องการไปเยาวราช" เหมือนกับที่แสดงความคิดเห็นตอนปล่อยทีเซอร์ ดังนั้น ทางหน่วยงานท่องเที่ยวของไทย วางแคมเปญโปรโมทเพื่อใช้กระแสตรงนี้ได้เลย นี่คือ Soft Power จริงๆ 

ทั้งนี้ กรณีการเป็นกระแสของลิซ่า บนโลกโซเชียล (จริงๆ ทั้งโลกโซเชียลและโลกออฟไลน์นะ) เชื่อมโยงสู่โอกาสของ การท่องเที่ยวไทย และผู้ประกอบการไทย เนื่องจากการปรากฏของเยาวราชใน MV เป็นตัวอย่างของการตลาดที่เรียกว่า Influencer marketing ซึ่งไม่ใช่การใช้อิทธิพลในแนวทางของเจ้าพ่อหรือผู้ใช้อำนาจมืด แต่เป็นการใช้อิทธิพลทางความคิดของผู้ที่มีความเชื่อถือและสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ อิทธิพลนี้ถูกส่งต่อจาก Influencer ไปยังกลุ่มที่เชื่อถือและรับรู้เชิงบวกในตัวผู้นั้น ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเชื่อมั่นในสิ่งที่ Influencer นำเสนอ

ในการเลือก Influencer ควรพิจารณาถึงกลุ่มคนติดตามที่รับรู้ในเชิงบวก เนื่องจากต้องการให้กลุ่มเป้าหมายรับทราบคุณค่าของสิ่งที่นำเสนอในเชิงบวก ร่วมด้วยการพิจารณาบริบทที่เกี่ยวข้อง เช่น ลิซ่าเป็นศิลปินไทยในระดับโลก กลุ่มเป้าหมาย (ในที่นี้คือคนจีน) รับรู้ชัดเจนว่าเธอเป็นคนไทย ซึ่งสามารถดูได้จาก Word Cloud ที่ปรากฏคำว่า 泰国人 (คนไทย) ดังนั้น เมื่อคนไทยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับไทย จะดูเป็นธรรมชาติและไม่เกินจริง

ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่