พลังงานยัน 1 พ.ค. ลด ‘อุ้ม’ ดีเซล - ชง 3 แนวทางลดผลกระทบ
ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ภาครัฐจะอุดหนุนราคาดีเซล 50% ในส่วนที่เกิน 30 บาท โดยสั่งการให้กระทรวงพลังงานหารือกับคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ถึงแนวทางในการดูแลประชาชน
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ระบุ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ภาครัฐจะอุดหนุนราคาดีเซล 50% ในส่วนที่เกิน 30 บาท โดยสั่งการให้กระทรวงพลังงานหารือกับคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ถึงแนวทางในการดูแลประชาชน เพราะหากลดการอุดหนุนลงเหลือ 50% ของราคาส่วนที่เกิน 30 บาท จะกระทบพอสมควร โดยดูหลายแนวทางเพื่อลดผลกระทบประชาชน
สำหรับการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภายในเดือน เมษายนนี้ จะได้ข้อสรุปและทุกอย่างน่าจะเรียบร้อย เพราะได้ประสานกับกระทรวงการคลังแล้วให้มาช่วยให้ความมั่นใจกับสถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้ให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วว่าเงินกู้ในส่วนนี้รัฐบาลจะช่วยดูแล
ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดทำแผนรองรับมาตรการพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้กระทบภายหลังวันที่ 30 เมษายนนี้ ที่รัฐบาลจะปล่อยราคาดีเซลเกินลิตรละ 30 บาท และจะพยุงราคา 50% ในส่วนที่เกิน 30 บาท แต่หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังสูงขึ้นต่อเนื่องจะทำให้การช่วยเหลือในสัดส่วน 50% ดังกล่าวอาจจะยังไม่เพียงพอ
โดย สนพ.รายงานว่าราคาจริงของน้ำมันดีเซลปัจจุบันต้องขายลิตรละ 41.15 บาท แต่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนที่ลิตรละ 11.21 บาท เพื่อให้ราคาขายหน้าสถานีบริการน้ำมันภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล ประกอบด้วย สถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น กับ สถานีน้ำมันบางจาก มีราคาอยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ตาม ในการช่วยเหลือดีเซลคนละครึ่งด้วยการนำราคาดีเซลลิตรละ 30 บาท เป็นตัวตั้งนั้นจะต้องดูว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนับจากนี้จะเคลื่อนไหวระดับใด
เตรียม 3 แนวทางลดผลกระทบราคาดีเซล
อย่างไรก็ตาม สื้นเดือนเมษายนนี้จะครบกำหนดการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาทต่อลิตร หลังจากนั้นรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งนึงในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหน้าสถานีบริการน้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 35.50 บาท ซึ่งผู้บริหารและคณะทำงานประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง จึงยังกังวลว่าราคายังสูงเกินไปจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ยังคงสูงขึ้นในขณะนี้
ในกรณีที่ขึ้นราคาทันทีเป็นลิตรละ 35 บาท ต้องดูว่าประชาชนจะกังวลหรือไม่ อัตราเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไรเพราะค่าขนส่งจะขึ้นทันที ทุกคนเป็นห่วงจึงให้ สกนช.เร่งทำแผนช่วยเหลือหลายรูปแบบ เช่น
1.การทยอยขึ้นราคา โดยปรับราคาเป็น 32 บาทต่อลิตรก่อน และดูสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประกอบ เพราะขณะนี้ติดลบแล้ว 50,000 ล้านบาท กระแสเงินสดเหลือ 14,000 ล้านบาท มีเงินเข้าเดือนละ 3,000 ล้านบาท
2.กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังต้องหารือการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล ซึ่งวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ จะครบกำหนดที่กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังครบกำหนดลดการภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตรด้วย
หากราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องประเมินว่าราคาน้ำมันดีเซลที่คาดว่าจะขึ้นในช่วงแรกที่ลิตรละ 32 บาท จะพยุงราคาได้นานแค่ไหน และจะมีการขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซลต่ออีกหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังต้องหารืออีกครั้ง โดยการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลในช่วง ก.พ.-พ.ค.2565 ทำให้รัฐเสียรายได้ 17,000 ล้านบาท
3.การกำหนดราคาดีเซลในประเทศ โดยอ้างอิงจากราคาของอาเซียน เช่น เวียดนาม เพื่อให้ราคามีความใกล้เคียงกัน โดยปัจจุบันเวียดนามราคาขายดีเซลลิตรละ 35-36 บาท
“กองทุนน้ำมันจะต้องเร่งทำข้อมูลต่างๆ และกระทรวงพลังงานได้เร่งหาแนวทางที่จะช่วยเหลืออยู่ เพราะที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ให้ข้อมูลตัวเลขอุดหนุนน้ำมันดีเซลในช่วงราคาที่สูงอยู่ถึง 14 บาทต่อลิตร ซึ่งตอนนั้นยังมีกระแสเงินสดเยอะ แต่ตอนนี้ก็ได้พยายามเร่งกู้เงินมาเติมน่าจะได้เข้ามาช่วยเสริมตรงนี้ได้บ้าง”
ในกรณีที่ต้องอุดหนุนราคาดีเซลลิตรละกว่า 10 บาทต่อไปอีกจะต้องใช้เงินอีกจำนวนมาก ดังนั้น การทยอยปรับขึ้นราคาเป็นขั้นบันไดและเทียบราคากับประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นอีกแนวทางที่ดี ซึ่งกระทรวงพลังงานหวังว่าประชาชนจะเข้าใจในกรณีหากราคาพลังงานในตลาดโลกยังสูงขึ้นต่อเนื่อง