'สุพัฒนพงษ์' โรดโชว์ญี่ปุ่นครั้งแรก หวังดึง 'S-Curve' ค่ายรถ EV ลงทุุนเพิ่ม
“สุพัฒนพงษ์”โรดโชว์ญี่ปุ่นครั้งแรก ตั้งแต่เกิดโควิดเล็งดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายลงทุนหารือกับบริษัทชั้นนำในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงทุนในไทย รัฐบาลมั่นใจค่ายรถญี่ปุ่นเตรียมลงทุนEVในไทย หลังค่ายใหญ่ทยอยเปิดตัว
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่าในวันที่ 19 - 23 เม.ย.2565 จะเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับคณะได้แก่ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย และสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมและชักจูงการลงทุนที่กรุงโตเกียว และจังหวัดคานากาวะ โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะชักชวนนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)ในประเทศไทย โดยการเดินทางครั้งนี้ถือว่าเป็นการโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การระบาดของโควิิด-19 ในปี 2563
“การเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งนี้เพื่อดึงดูดการลงทุนเป้าหมาย ไปขอบคุณที่ให้ความไว้วางใจไทย และไทยเตรียมความพร้อมพัฒนาประเทศ และอุตสาหกรรมใหม่ๆ ก็เป็นโอกาสที่ดี่ที่จะมีนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม ไม่เพียงเฉพาะเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เท่านั้น แต่รวมถึงอุตสาหกรรม S- Curve ทั้งหมดด้วย”
มาตรการ LTR ดึงลงทุนระยะยาว
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่าจะใช้โอกาสในการเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งนี้่จะได้ไปชี้แจงเกี่ยวกับการออกวีซ่าประเภทพิเศษคือวีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว หรือ Long - Term Resident Visa:LTR ที่มีมีอายุถึง 10 ปี สำหรับ 4 กลุ่ม คือ ผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุ ผู้ที่ต้องการทำงานจากไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ที่กำลังเร่งออกประกาศของกระทรวงมหาดไทยในเร็วๆนี้ด้วย ก็จะใช้นโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการชักจูงการลงทุนด้วย
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การไปญี่ปุ่นของคณะรองนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นการเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 เมื่อสถานการณ์การระบาดโควิด - 19 ของโลกเริ่มคลี่คลาย ทำให้หลายประเทศรวมทั้งไทยเริ่มเปิดประเทศ และสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้
ในช่วงเวลานี้การลงทุนถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ บีโอไอจึงต้องเร่งจัดกิจกรรมชักจูงลงทุน ประชาสัมพันธ์มาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
สานต่อการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น
สำหรับวัตถุประสงค์ของการเดินทางเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้ เพื่อสานต่อข้อริเริ่มการเป็นหุ้นส่วนการร่วมสร้างสรรค์ (co - creation) ระหว่างไทย - ญี่ปุ่น และนำไปสู่การลงทุนในอนาคต ภายใต้ข้อริเริ่ม“Asia - Japan Investing for the Future Initiative” หรือ AJIF ที่ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะของรองนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าพบนายฮิโรคาสึ มัตสึโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น รวมทั้งหารือกับนายฮากิอูดะ โคอิจิ รมว.กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น สมาพันธ์สมาคมธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น (KEIDANREN)
รวมถึงบริษัทเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่น ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่ไทยให้ความสำคัญ ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อัจฉริยะ การแพทย์ อุตสาหกรรมกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขยว (BCG) การท่องเที่ยวและบริการ
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการหลายประการเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกนักลงทุนหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า มาตรการด้านภาษี และการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวข้องกับ ยานพาหนะไฟฟ้า เช่น สถานีชาร์จยานพาหนะไฟฟ้า และการส่งเสริมโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เป็นต้น
ดึงญี่ปุ่นลงทุนอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในไทย
โดยมาตรการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับยานพาหนะไฟฟ้า รวมถึงการส่งเสริมโรงงานผลิตแบตเตอรี่ จะส่งผลให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะด้วย ถือเป็นโอกาสดีที่บริษัทญี่ปุ่นทั้งในกลุ่มยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการเชิญชวนให้นักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาพำนักในประเทศไทย โดยกำหนดวีซ่าประเภทพิเศษคือวีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว หรือวีซ่าแอลทีอาร์ ซึ่งมีอายุ 10 ปี และญี่ปุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับวีซ่าประเภทใหม่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มบุคลากรทักษะสูง
หารือค่ายรถยนต์ EV ญี่ปุ่นดึงลงทุน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าในการไปหารือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นครั้งนีิ้เป้าหมายอย่างหนึ่งของคณะของรองนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้คือการไปหารือกับผู้บริหารค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นเพื่อชักชวนให้มาลงทุนรถยนต์อีวีในประเทศไทยหลังจากที่ไทยมีนโยบายที่ชัดเจนแล้วในการส่งเสริมแต่ในระยะแรกมีเพียงค่ายรถจากจีนที่มาเซนต์สัญญาความร่วมมือกับรัฐบาลในโครงการนี้
ทั้งนี้มีแนวโน้มที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นจะมีการทบทวนนโยบายที่จะเข้ามาลงทุนรถยนต์ EV ในไทยมากขึ้น หลังจากที่ค่ายรถขนาดใหญ่ที่มีฐานการผลิตและจำหน่ายในไทยได้มีการเปิดตัวรถยนต์ EV แล้ว เช่น ฮอนด้ามีการเปิดตัวรถ EV ถึง20 รุ่น และก่อนหน้านี้โตโยต้าได้มีการนำเอารถ EV รุ่น bZ4X รถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่นแรกเข้ามาโชว์ตัวในไทยแล้ว
“มั่นใจว่าค่ายรถญี่ปุ่นจะเข้ามาทำตลาดรถ EV ในไทยแน่นอน แต่อาจจะช้ากว่าค่ายจีนที่มีรถที่ผลิตไว้พร้อมแล้ว สามารถนำเข้ามาทำตลาดได้ ส่วนค่ายรถญี่ปุ่น หรือจากยุโรปนั้นเมื่อมีการออกนโยบายมาแล้ว เอานโยบายไปศึกษาดูความเป็นไปได้ก็มีโอกาสมากที่เขาจะเข้ามาลงทุนเพื่อขายในไทยและในภูมิภาค รวมทั้งในเรื่องของการผลิตแบตเตอรี่รถ หรือชิ้่นส่วนสำคัญของรถ EV ที่ต้องทำการผลิตในประเทศตามเงื่อนไขด้วย เพื่อทำให้เกิดอุตสาหกรรมรถ EV ในประเทศในระยะต่อไป”