"พลายพล" หนุนขยับขึ้นดีเซลขั้นบันได หวั่นก่อหนี้สาธารณะประเทศเพิ่ม
“พลายพล” หนุน “พลังงาน” ขยับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเป็นขั้นบันได ห่วงสถานการเงินกองทุนน้ำมันติดลบกว่า 5 หมื่นล้าน อาจสร้างหนี้สาธารณะประเทศในระดับแสนล้าน หากยังอุ้ม 30 บาทต่อลิตร
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการที่กระทรวงพลังงานนำเสนอตามข่าวโดยใช้วิธีขยับราคาน้ำมันดีเซลเป็นขั้นบันไดภายหลังจากที่นโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทสิ้นเดือนเม.ย. 2565 นี้ โดยหากวันที่ 1 พ.ค. 2565 หากรัฐบาลปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลลอยตัวหรือยกเลิกการอุดหนุนไปเลย จะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) อุดหนุนอยู่ที่ระดับลิตรละ 11 บาท ถ้าหากยกเลิกและปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลลอยตัวราคาขายหน้าปั๊มจะขึ้นไปถึงที่ราคาลิตรละราว 40-41 บาท ประชาชนคงรับไม่ไหว เศรษฐกิจประเทศอาจจะแย่ตามไปด้วย ดังนั้น การปล่อยให้ลอยตัวจะทำได้ยาก เพราะกระทรวงพลังงานอุดหนุนมานานพอสมควร
“ต้องเข้าใจว่า ขณะนี้ บัญชีของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบแล้วกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งเลยกรอบเพดานการติดลบตามกฎหมายเดิมจะอยู่ที่ 20,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่ด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ยกเลิกเพดานหนี้ไปแล้ว ดังนั้น ถ้าเรายังอุดหนุนในระดับลิตรละกว่า 10 บาท ในช่วงที่ราคาตลาดโลกที่ยังสูงอยู่อย่างปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯ จะต้องใช้เงินอุดหนุนเดือนละประมาณ 20,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย หากบวกไปอีก 2-3 เดือนก็จะติดลบหลัก 100,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงอาจจะต้องลดการอุดหนุนลงบ้าง” นายพลายพล กล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสถานะทางการเงินของรัฐบาลมีน้อย จึงต้องลดภาระหนี้ตามลงมาด้วย โดยก่อนหน้านี้ ช่วงแรกของการเกิดสงครามทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครน หลายคนได้คาดการณ์ว่าสงครามที่เกิดขึ้นจะไม่ยืดยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถยุติลงได้ง่าย และรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น จึงมองว่าราคาน้ำมันดีเซลก็อาจจะยังคงสูงขึ้นอีก หากยังอุ้มราคามากเกินไปจะเกิดหนี้สาธารณะภาครัฐสูงเกินเกณฑ์ จึงควรค่อยๆ ลดภาระการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลลงมา
“การลดอุดหนุนน้ำมันดีเซล เมื่อมีความจำเป็นลดดีเซลจริงๆ ก็ควรค่อยเป็นค่อยไป โดยวิธีลดการอุดหนุนที่ผ่านการใช้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะดีที่สุด อาจจะลดการอุดหนุนลงสัปดาห์ละ 1-2 บาท หรือ 2 สัปดาห์ลดอุดหนุน 1-2 บาท เป็นต้น แต่ก็ต้องดูราคาน้ำมันตลาดโลกมาประกอบ ถือเป็นการช่วยลดอัตราการติดลบของกองทุนน้ำมันฯ ให้น้อยลงไปด้วย” นายพรายพล กล่าว