เปิดเหตุผล “กองทุนน้ำมัน” ทบทวนแผนวิกฤติด้านพลังงาน

เปิดเหตุผล “กองทุนน้ำมัน” ทบทวนแผนวิกฤติด้านพลังงาน

"กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง" เร่งทบทวนแผนวิกฤติด้านพลังงานเหตุให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง จ่อคลอดแผนเสนอกบง.อนุมัติlภายในปีนี้ ก่อนมีผลบังคับใช้จริงปี 66

ด้วยสถานการณ์โลกที่ปรับเปลี่ยนไปตามปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบ โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาพลังงานมีความผันผวนอย่างต่อเนื่องคือ “โควิด-19” และปัญหาทางการเมืองต่างประเทศของ “รัสเซียบุกยุเครน”

ทั้งนี้ ทั้ง 2 ปัจจัย ได้กลายเป็นปัจจัยหลักที่เหนือการควบคุม ซึ่งยังไม่รวมปัจจัยการค้าระหว่างประเทศ หรือการเกร็งกำไรของประเทศที่มีอำนาจต่อรอง เป็นต้น

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2562 โดยกองทุนมีภารกิจหลักคือ

- รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง

- บริหารจัดการด้านการเงินของกองทุน การรับเงิน เรียกเก็บเงิน การจ่ายชดเชยเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

- บริหารจัดการสภาพคล่องของกองทุนฯ

- จัดหาเงินกู้ให้กองทุนฯ กรณีที่กองทุนฯ ขาดสภาพคล่อง

ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังอยู่ระหว่างทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2563-2567 โดยได้หารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูลรอบด้านทั้งปัจจัยบวก ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อราคาน้ำมันโดยใช้ฐานราคาดีเซลลิตรละไม่เกิน 30 บาท สถิติปริมาณการใช้น้ำมันทั้งภาคขนส่ง รถสาธารณะ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังรวมถึงข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ภาระทางการคลัง และแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก เพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนแผนดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปมีความชัดเจนภายในเดือนก.ค.-ส.ค.นี้ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณา 

“กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีการพิจารณาปรับมาตรการลดการจ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2563–2565 ใหม่ เนื่องจากมาตรการนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 24 กันยายน 2565 ซึ่งการปรับมาตรการใหม่นั้นจะต้องพิจารณาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองด้วย”

สำหรับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ จะมีการพิจารณาปรับมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซลใหม่ จากเดิมที่มีมาตรการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรมายาวนานกว่า 10 ปี โดยจะมีการปรับระดับการตรึงราคาน้ำมัน และระยะเวลาในการตรึงราคาใหม่ ซึ่งจะเป็นเท่าใดนั้นก็ต้องพิจารณาในหลายปัจจัย

อย่างไรก็ตาม แผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการใช้ปี 2566 เบื้องต้นอาจจะปรับระยะเวลาของมาตรการให้เหลือ 3 ปี จากแผนเดิม 5 ปี เนื่องจากสถานการณ์พลังงานโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว

“กองทุนได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการศึกษาทิศทางราคาน้ำมันเป็นไปได้ทั้งขึ้นและลงไม่สามารถคาดเดาได้ แต่หากราคาตลาดโลกปรับขึ้นต่อเนื่อง ก็มีความเป็นไปได้ที่กองทุนจะลดการอุดหนุนราคาขายปลีกดีเซล รวมทั้งจะศึกษาการกำหนดระดับการตรึงราคาว่าควรจะอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตรต่อไปหรือควรจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับเท่าไหร่ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันตลาดโลก