"กองทุนน้ำมัน" ยันแบงค์หนุนกู้ 2 หมื่นล้าน เร่งปรับแผนวิกฤตพลังงาน
"กองทุนน้ำมัน" ระบุ 1 พ.ค. เลิกอุ้มดีเซล 30บาท ยืนยันสิ้นเดือนเม.ย.นี้มีแบงค์ยื่นข้อเสนอเงินกู้ก้อนแรก 2 หมื่นล้าน ระบุกระแสเงินสดกว่า 1.5 ล้าน เติมเงินกู้เข้าระบบมิ.ย.ยังทัน เร่งปรับแผนวิกฤตพลังงานเพื่อให้ทันสถานการณ์โลก
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวว่า หลังจากที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง หรือแม้แต่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้ช่วยยืนยันกับสถาบันการเงินเพื่อทำความเข้าใจถึงบทบาทและสถาะกองทุนน้ำมันฯ ว่ากองทุนน้ำมันฯ อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องการปล่อยกู้เงินก้อนแรก 20,000 ล้านบาท มากยิ่งขึ้น โดยยืนยันว่าวันที่ 30 เม.ย. 2565 จะมีสถาบันการเงินยื่นข้อเสนอปล่อยกู้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้การสนับสนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงานของประเทศ โดยพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อสร้างความมั่นใจแก่สถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปตามพ.ร.บ.กองทุนมาตรา 6 (2) กรณีที่เงินหนุดหนุนจากรัฐบาลที่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน
“ตอนนี้กรมธุรกิจพลังงาน อยู่ระหว่างทำตัวเลขส่งให้กับกระทรวงการคลัง ว่ากองทุนฯ ควรจะขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นตัวเลขเท่าไหร่ แต่ในขณะนี้ กองทุนฯ ยังมีกระแสเงินสด หรือ Cash flow อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท แม้สถานะกองทุนฯ จะติดลบแล้วกว่า 4.2 หมื่นล้าบาท ยืนยันว่ายังมีเวลาเพราะดูจากสถานการณ์จะต้องเติมเงินเข้าบัญชีกองทุนฯ ก้อนแรก 20,000 ล้านบาทในเดือนมิ.ย. 2565 ส่วนก้อนที่ 2 จะกู้อีก 1 หมื่นล้านบาท และก้อนที่ 3 อีก 2 หมื่นล้านบาท รวม 4 หมื่นล้านบาท โดยตอนนี้ยืนยันว่าจะกู้ก้อนแรกก่อน”
อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายเดือนเม.ย. 2565 กองทุนฯ จะพิจารณาปรับขึ้นราคาดีเซลเกินกว่า 30 บาทต่อลิตรในวันที่ 1 พ.ค. 2565 แต่จะเป็นเท่าไหร่นั้นต้องขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันดิบตลาดโลก เช่น ปัจจุบันอุดหนุนราว 8 บาทต่อลิตร กองทุนฯ อาจจะอุดหนุน 4 บาทหรือเท่าไหร่ต้องพิจารณาอีกครั้ง แม้ว่าตอนนี้ราคาจะเริ่มลดลงก็ตาม แต่กองทุนจะต้องเก็บเงินอุดหนุนเข้ากระเป๋าของกองทุน จึงอยากทำความเข้าใจกับประชาชนว่า หากคิดในแง่ดี สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยุติลง ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลงแต่ราคาน้ำมันในช่วงแรกจะไม่ลงทันที อีกทั้งวันที่ 20 พ.ค. 2565 จะครบกำหนดมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาท ภาระค่าใช้จ่ายเงินในกองทุนก็จะกลับมาสูงอยู่ดี
“ซึ่งหากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลงมาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อยากทำความเข้าใจกับประชาชนว่าราคาน้ำมันดีเซลในช่วงแรกอาจจะไม่ลดลงมาจาก 30 บาทต่อลิตรมากนัก หรือจะให้ลงมาที่ 25 บาทต่อลิตรทันทีคงเป็นไปยาก เพราะจะต้องนำเงินมาเติมเข้ากองทุนไว้ใช้จ่ายในยามวิกฤต เพราะปัจจุบันเรามีเงินเข้าระบบเดือนละ 2 พันล้านบาท แต่ต้องจ่ายเดือนละ 2 หมื่นล้านบาท จึงต้องกู้เงินเข้ามาเสริม”
นายวิศักดิ์ กล่าวว่า กองทุนยังอยู่ระหว่างทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2563-2567 โดยได้หารือกับกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูลรอบด้านทั้งปัจจัยบวก ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อราคาน้ำมันโดยใช้ฐานราคาดีเซลลิตรละไม่เกิน 30 บาท สถิติปริมาณการใช้น้ำมันทั้งภาคขนส่ง รถสาธารณะ รวมถึงข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ภาระทางการคลัง และแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก เพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนแผนดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปมีความชัดเจนภายในเดือนก.ค.-ส.ค.นี้
พร้อมกับศึกษาแนวทางลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยอาจปล่อยให้ราคาขายปลีกเบนซินทุกชนิดปรับขึ้น/ลงสะท้อนต้นทุนจริง ยกเว้นน้ำมัน E20 และ E85 ที่ใช้สำหรับรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโค คาร์) รวมทั้งกองทุนจะบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลที่มีความถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และมีรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด