นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด-19 ปี 2563 และล็อกดาวน์เมษายน 2563 ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกลดลง ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประเทศที่ผลิตน้ำมันประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันลง จาก 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันเหลือ 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการในการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นแต่กลุ่มประเทศผู้ผลิตยังคงกำลังผลิตเพิ่มแค่ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้ จากความต้องการในการใช้น้ำมันจึงมากขึ้นตั้งแต่สิงหาคม 2564 ราคาน้ำมันดิบขยับจาก 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจนถึง 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และสิ้นปี 2564 กระทรวงพลังงาน ได้กำหนดมาตรการจากราคาน้ำมันดิบจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงปรับสูตร B7 ลงมาเหลือ B5 จนปัจจุบันปัญหารัสเซีย-ยูเครน ได้เริ่มโจมตีวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจนถึง110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และผันผวนมาเรื่อยๆ ลดลงมา 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและขยับมาที่ 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับน้ำมันดีเซล เพราะเป็นน้ำมันที่มีปริมาณการใช้มากที่สุดประมาณ 100 ล้านลิตรต่อวัน แบ่งเป็นดีเซล 65 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลส่วนใหญ่ ประกอบด้วย รถบรรทุกขนส่ง รถกระบะขนส่ง รถโดยสารสาธารณะ ถือเป็นต้นทุนหลัก ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องตรึงราคาไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทต่อลิตร เพื่อลดต้นทุนภาคการผลิตและบริการ
“เพื่อให้ราคาดีเซลอยู่ที่ 29.94 จากราคาจริงที่ขึ้นไปเยอะมาก บางวันถึงกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชย 14.1 บาท และปัจจุบันกว่า 8 บาท จากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลสูงน้ำมันดิบอยู่ที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ราคาน้ำมันดีเซลโลกอยู่ที่ 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้กระทรวงการคลังลดภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากน้ำมันดีเซล 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือนร่วมกับเงินกองทุน”
ทั้งนี้ หากเทียบราคาน้ำมันกับประเทศเพื่อนบ้านช่วงสัปดาห์นี้เพื่อนบ้านได้ทยอยปรับราคา อาทิ เมียนมาอยู่ที่ลิตรละ 35 บาท เวียดนาม 36 บาท กัมพูชา 43 บาท เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยยังคงตรึงราคาไว้ที่ 29.94 บาทต่อลิตร จนถึงปัจจุบันใช้เงินกองทุนสนับสนุนกว่า 30,000 ล้านบาท ดังนั้น จากกองทุนติดลบ และยังไม่สามารถจะกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง จึงต้องปล่อยให้ขึ้นราคา แต่จะช่วยในรูปแบบคนละครึ่ง อาทิ หากน้ำมันราคาดีเซลระดับ 115-135 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาจริงอยู่ที่ 38 บาทต่อลิตร แต่กองทุนจะช่วยครึ่งหนึ่งเป็น 34 บาท เป็นต้น
หวังว่าสถานการณ์จะกลับมาต่ำกว่า 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพื่อพยุงให้อยู่ในราคาที่ 30-32 บาทต่อลิตรอีกทั้งกองทุนอยู่ระหว่างการหารือกับสถาบันการเงินเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง อีกทั้ง กระทรวงฯ จะยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียมที่มีผู้ใช้ราว 1.4 ล้านลิตรต่อวัน เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันและเอาเงินไปช่วยกลุ่มจำเป็นอื่นต่อไป
ในขณะที่ การช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน 35 ล้านลิตรต่อวัน จะกำหนดมาตรการในการสนับสนุนที่ช่วยราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์สำหรับผู้ขับขี่จักรยานยนต์สาธารณะ ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม ใช้งบกลาง 120 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปรับขึ้น 1 เมษายน 2565 จากการที่รัฐบาลกำหนดมาตรการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางโดยกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้ส่วนลดสำหรับก๊าซ LPG เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีบัตรอยู่ 3.6 ล้านราย ได้รับสิทธิ 45 บาทต่อถังต่อ 3 เดือน จะเพิ่มให้อีก 55 บาทอีก 3 เดือนเป็น 100 บาท โดยใช้งบกลางในการสนับสนุน 200 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการให้ส่วนลดสำหรับซื้อก๊าซ LPG กับปตท.ไม่เกิน 100 บาทต่อรายต่อเดือน ราว 5,500 กว่าคน ที่มีการลงทะเบียนไว้กับเป็นกลุ่มผู้พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ต่อไปอีก 3 เดือน ใช้เงินราว 1.65 ล้านบาท
ส่วนผู้ใช้ก๊าซ LPG ทั่วไปแม้วันที่ 1 เมษายน 2565 นี้ จะมีการปรับราคาก๊าซเดือนละ 15 บาทต่อถังจากปัจจุบันสนับสนุนที่ราคา 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม จากราคาจริงปัจจุบันอยู่ที่ 463 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยราว 28,800 ล้านบาท ดังนั้น เดือนเมษายน จะปรับเป็น 333 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ใช้เงินอุดหนุน 2,400 ล้านบาท เดือนพฤษภาคม ปรับเป็น 348 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ใช้เงินอุดหนุน 2,130 ล้านบาท และเดือนมิถุนายน ปรับราคาเป็น 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมใช้เงินอุดหนุน 1,850 ล้านบาท
นอกจากนี้ ปตท.ยังขยายเวลาคงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม จำนวน 318,000 คน และสนับสนุนผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน 17,460 คน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม โดยใช้งบประมาณ 3 เดือนที่ 1,761 ล้านบาท
นายกุลิศ กล่าวว่า ในการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2565 ที่ควรปรับขึ้นจากราคาค่าไฟจริง ที่ 5.07 บาทต่อหน่วย หรือค่าไฟใช้จริง 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับภาระพยุงค่า Ft อีก 40,000 ล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลจะใช้งบกลางช่วยราคาไว้ต่ออีก 4 เดือน สำหรับประชาชนที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนประมาณ 20 ล้านรายทั่วประเทศ โดยใช้เงินราว 2-3.5 พันล้านบาท
ทั้งนี้ จากมาตรการการช่วยเหลือช่วง 3 เดือน แบ่งเป็นเงินช่วยเหลือด้านพลังงานราว 43,602-45,102 ล้านบาท และตั้งแต่เกิดโควิด-19 จนถึงปัจจุบันรัฐใช้งบประมาณช่วยเหลือด้านพลังงาน รวมกว่า 164,228 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์